19 วันปี 2567 ต่างชายเทขายหุ้นไทย 1.7 หมื่นล้าน พร้อมโผ10 ท็อปถูกเทกระจาด

20 ม.ค. 2567 | 18:57 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ม.ค. 2567 | 20:16 น.
2.5 k

เจาะฟันด์โฟลว์ต่างชาติไหลออกต่อเนื่อง ผ่านไป 19 วันแรกของปี 2567 มูลค่ารวมกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท กดดันหุ้น Big Cap กางโผ 10 อันดับหุ้นที่โดนต่างชาติเทกระจาดขายออกสูงสุด โบรกมองเหตุตามปัจจัยในแต่ละกลุ่ม แนะนักลงทุนไทยอย่างตื่นตูม

จากการเฝ้าสังเกตดัชนีหุ้นไทยนับตั้งแต่ต้นปีมาถึงปัจจุบัน จับสัญญาณได้ว่านักลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) ยังคงมีการเทขายสุทธิหุ้นไทยมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 19 มกราคม 2567 มูลค่ารวมกว่า -17,264.00 ล้านบาท ส่งผลกระทบกดดันหุ้น Big Cap

หุ้นไทย 10 อันดับแรกที่ติดท็อปโดนเทกระจาด 

  • CPALL -2,178.8 ล้านบาท

  • CPN -1,502.1 ล้านบาท

  • SCC -604.7 ล้านบาท

  • LH -353.4 ล้านบาท

  • OR -347.4 ล้านบาท

  • TISCO -295.4 ล้านบาท

  • HANA -286.2 ล้านบาท

  • JMART -188.5 ล้านบาท

  • SAWAD -183.0 ล้านบาท

  • BEC -145.0 ล้านบาท

19 วันปี 2567 ต่างชายเทขายหุ้นไทย 1.7 หมื่นล้าน พร้อมโผ10 ท็อปถูกเทกระจาด

19 วันปี 2567 ต่างชายเทขายหุ้นไทย 1.7 หมื่นล้าน พร้อมโผ10 ท็อปถูกเทกระจาด
(อ้างอิงข้อมูลบทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) วันที่ 19 มกราคม 2567)

นายวิกิจ ถิรวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า มองว่าแรงการเทขายของต่างชาติที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (19 ม.ค.67) ยังหาสาเหตุที่แน่ชัดไม่ได้ แต่เชื่อว่าส่วนมากจะมาจากปัจจัยเฉพาะตัว เช่น กลุ่มแบงก์ ที่มีการปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง หลักๆ เป็นผลมาจากความคาดหวังต่อผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 4/2566 จะออกมาดี ประกอบกับกลุ่มแบงก์จะเป็นกลุ่มแรกที่มีการประกาศงบการเงิน ทำให้เมื่อผลที่ออกมาไม่ดีตามคาดการณ์จึงเกิดการเทขาย และเมื่อเห็นต่างชาติขายออกนักลงทุนในประเทศก็มีการขายออกตาม

ส่งผลให้ไปกดดันต่อราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา แต่โดยส่วนตัวมองว่าผลประกอบการของแบงก์ที่ออกมาไม่ได้ต่างจากที่ทางฝ่ายคาดการณ์ไว้เท่าไหร่นักว่าไตรมาส 4/2566 จะออกมาไม่ดี ด้วยในช่วงที่ผ่านมาหนี้สงสัยจะสูญได้ขยายตัวเพิ่มขึ้น หลายธุรกิจที่มาขอเงินกู้ไม่สามารถกลับมาชำระคืนหนี้ได้ รวมถึงความกังวลในเรื่องของหุ้นกู้ที่ขอเลื่อนชำระหนี้ออกไป ทำให้สถาบันการเงินที่ออกสินเชื่อมีความจำเป็นที่ต้องตั้งสำรองหนี้สูญเพิ่มมากขึ้น

ขณะที่กลุ่มพลังงานก็มีแรงกดดันมาจากประเด็นที่ทาง PTT ได้มีการประกาศเรื่องผลกระทบการดำเนินงานของมาตรการนโยบายลดต้นทุนค่าไฟฟ้า มีผลตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน 2567 โดยทั้ง 2 มาตรการ ได้แก่ การปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ (Single Gas Pool) และ เงินสมทบจากการขาดแคลนก๊าซ ในส่วนของเงินสมทบจากการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติเพื่อช่วยลดราคาก๊าซธรรมชาติ ตามที่คณะกรรมการ PTT เห็นชอบที่จะปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

"จำได้ว่าเชฟรอน ผู้ดำเนินการแหล่งก๊าซเอราวัณจนถึงสิ้นปี 2565 ได้ชดเชยให้ PTT ด้วยมูลค่ารวม 4.3 พันล้านบาท สำหรับการผลิต/อุปทานก๊าซที่ต่ำกว่าข้อตกลงระหว่างเดือนตุลาคม 2563 ถึงธันวาคม 2565 โดยการชดเชยนี้คาดว่าจะส่งผลให้ต้นทุนก๊าซในการผลิตไฟฟ้าลดลงในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2567"

ส่วนกลุ่มค้าปลีกมองว่าการปรับตัวลดลงของราคาหุ้น CPN CRC มีมาอย่างต่อเนื่องจากความกังวลกรณีบริษัท Cambridge Properties Holding Limited เจ้าของห้างสรรพสินค้า Selfridges ขอการสนับสนุนทางการเงินกับกลุ่มเซ็นทรัลซึ่งเป็นบริษัทแม่ หลังจาก Signa Prime Selection AG หุ้นส่วนอีกรายยื่นล้มละลายไปเมื่อ 28 ธันวาคม 2566 กดดันทำให้ราคาหุ้นของทั้ง บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ซึ่งมองว่ากรณีนี้เป็นการตื่นตูมและมโนไปเองของหลายฝ่าย แต่อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่ายอดขายของ CRC ในยุโรปและเวียดนามมีการปรับตัวลดลงในปี 2566 และต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้

ทั้งนี้ หากว่าจะถามเฉพาะเจาะจงว่าทำไมถึงเกิดแรงขายออกของต่างชาติในหุ้นตัวนั้นๆ คงจะอธิบายกันลำบาก เพราะมันไม่มีเหตุผลเลย แต่ก็มองว่าอาจเป็นไปได้ที่มาจากเหตุผลเฉพาะรายกลุ่มที่กล่าวไปข้างต้น อย่างไรก็ดี ไม่อยากให้นักลงทุนเกิดการตื่นตระหนกมากจนเกิดไป