สรรพากรรุกคืบ ต้อนผู้ค้าออนไลน์เข้าระบบ

10 ม.ค. 2567 | 13:04 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ม.ค. 2567 | 13:05 น.

กรมสรรพากร ออกประกาศให้แพลตฟอร์มส่งข้อมูลรายได้ร้านค้า ดึงผู้ค้าออนไลน์เข้าระบบภาษี คาด รีดรายได้พุ่งเกิน 1 หมื่นล้านบาท ชี้คนรุ่นใหม่พร้อมเข้าระบบ

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า เป้าหมายการจัดเก็บรายได้ปีงบประมาณ 2567 ที่ 2.78 ล้านล้านบาท ถือว่ามีความท้าทายมาก โดยจะเป็นการวัดฝีมือของกรมจัดเก็บภาษีหลักทั้ง กรมสรรพากร กรมสรรสามิต และกรมศุลกากร ซึ่งในส่วนของกรมสรรพากรจะมีการนำเทคโนโลยีข้อมูลมาเก็บภาษีล่าสุด ที่ออกประกาศไปเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2566 และเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง

ประกาศดังกล่าว กำหนดให้อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มที่จดทะเบียนในไทยและมีรายได้ในรอบบัญชีเกิน 1,000 ล้านบาท ยื่นบัญชีพิเศษ ที่แสดงข้อมูลรายรับของอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มที่ได้รับจากผู้ประกอบการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่กรมสร้างขึ้นเพื่อรองรับไว้โดยเฉพาะ ดังนั้นจะทำให้ผู้เสียภาษีเข้ามาสู่ระบบมากขึ้น และส่งผลให้ร้านค้าขายของออนไลน์เข้ามาอยู่ในระบบเพิ่มขึ้น

 “เดิมแพลตฟอร์มที่มีรายได้ 1,000 ล้านบาท ต้องมาเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) 7% แต่ขณะนี้กรมสรรพากรลุกคืบไปอีกให้แพลตฟอร์มนำส่งข้อมูลด้วยว่า รายได้ 1,000 ล้านบาท มาจากใครบ้าง ฉะนั้น กรมจะเห็นข้อมูลร้านค้า และสามารถดึงร้านค้าเข้าระบบภาษีได้ คาดว่าการออกประกาศดังกล่าวจะสามารถจัดเก็บภาษีได้เกิน 1 หมื่นล้านบาท” นายลวรณกล่าว

ส่วนกรณีจะมีปัญหาเรื่องกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลหรือไม่ กฎหมายดังกล่าว ได้รับการยกเว้นในเรื่องภาษี มิฉะนั้น จะไม่สามารถดำเนินการได้ กรณีแลกข้อมูลการตรวจคนเข้าเมืองระหว่างประเทศ รวมทั้งการแลกข้อมูลรายได้ของผู้เสียภาษีทั้งโลก

สรรพากรรุกคืบ ต้อนผู้ค้าออนไลน์เข้าระบบ

สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบออนไลน์ แนะนำว่า ให้เข้ามาอยู่ในระบบภาษีดีที่สุด ซึ่งระบบ Vat ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว เพราะไม่ได้เก็บภาษี 7% จากรายได้ทั้งหมด แต่เป็นการเก็บภาษี 7% บนกำไร ฉะนั้นจึงขอให้ผู้ค้าออนไลน์เข้าระบบ เพราะการเสียภาษีให้ถูกต้อง ดีกว่าการมานั่งเจอทีหลัง และด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันทำให้โลกใบนี้แคบลงเรื่อยๆ ทุกอย่างเชื่อมโยงด้วยข้อมูล เมื่อก่อนอาจจะเป็นการตามไม่ได้ ไล่ไม่ทัน แต่จะช้าจะเร็วก็เจอแน่นอน

“ยังมีคนเข้าใจผิดเยอะ เช่น ขายสินค้า 100 บาท ต้องเสียภาษี 7 บาทเลยหรือไม่ ซึ่งบางทีกำไรอาจจะแค่ 5 บาท ซึ่งถ้าเสียภาษี 7% ร้านค้าจะอยู่ได้อย่างไร ความจริงแล้ว ของขายประมาณ 100 บาท มีต้นทุนมา 90 บาท และต้องเสียภาษี 7% ของกำไร 10 บาท ก็เท่ากับ 70 สตางค์ คุณยังมีกำไร 5 บาทเท่าเดิม” นาย ลวรณ กล่าว

อย่างไรก็ดี มองว่า แนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่ขายของออนไลน์ หรือสตาร์ทอัพในปัจจุบันนี้ ทุกคนก็อยากเสียภาษีให้ถูกต้อง ฉะนั้น กรมสรรพากรก็ต้องมีหน้าที่ทำระบบภาษีให้ง่าย มีระบบบริการที่ดี โดยทิศทางในการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร ก็จะเดินไปพร้อมกับระบบ e-Tax Service Provide ขณะเดียวกัน ในปี 2567 นี้ เรายังมี KPI วัดฐานภาษีของกรมสรรพากร เพื่อกระตุ้นให้ผู้เสียภาษีเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น โดยผู้ที่เข้ามาอยู่ในระบบภาษีต้องมีคุณภาพ เอาเข้ามาได้ต้องมีเม็ดเงินภาษีด้วย 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในปีงบประมาณ 2566 ที่ผ่านมา กรมสรรพากรเป็นกรมภาษีอันดับหนึ่งที่จัดเก็บรายได้ได้สูงที่สุด โดยสามารถจัดเก็บรายได้กว่า 2.21 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายกว่า 1.8 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 395,744 ล้านบาท, นิติบุคคล 767,320 ล้านบาท และภาษีมูลค่าเพิ่ม (vat) 913,581 ล้านบาท โดยมีผู้เสียภาษีบุคคลธรรมดาอยู่ในระบบภาษี 11 ล้านราย ส่วนนิติบุคคลประมาณ 6-7 แสนราย และผู้ประกอบการที่จดทะเบียน Vat จำนวน 8 แสนราย

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,955 วันที่ 7 - 10 มกราคม พ.ศ. 2567