‘เอกนิติ’ เคลียร์ปมสรรพากร‘ไล่บี้ภาษีประชาชน’

03 พ.ค. 2562 | 09:20 น.
อัปเดตล่าสุด :03 พ.ค. 2562 | 16:22 น.
2.4 k

ดูเหมือนว่าปีนี้ กรมสรรพากร จะตกเป็นจำเลยสังคมในหลายๆเรื่อง หลายๆกรณี เพราะภายใต้ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (National e-Payment) ที่รัฐบาลกำลังผลักดันอยู่นั้น ระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ถูกบรรจุในโครงการด้วย เพื่อพัฒนาการจัดทำและนำส่งข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็ก ทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) เพื่ออำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนในการจัดทำใบกำกับภาษี จึงเป็นที่มาของพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562 หรือที่เรียกว่า กฎหมายภาษีอี-เพย์เมนต์ ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562
    แต่ทันทีที่กฎหมายมีผลบังคับใช้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และตอบโต้กลับด้วยการปลดป้าย QR code หันกลับมาซื้อขายสินค้ากันด้วยเงินสด สวนทางกับนโยบายรัฐบาลที่กำลัังพัฒนาระบบการชำระเงินให้เป็นระบบออนไลน์ทั้งหมด หรือที่เรียกว่า สังคมไร้เงินสด ( Cashless Society) เพราะสาระสำคัญของกฎหมาย นอกจากเรื่อง e-Tax Invoice และ e-Receipt แล้วยังพ่วงเรื่องการนำส่งข้อมูลกรณีที่มีการรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกัน ตั้งแต่ 3,000 ครั้ง/ปี/ธนาคาร หรือรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้ง/ปี/ธนาคาร หากยอดรวมตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป
    ฝุ่นยังไม่จางหายก็มาเจอกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ลงวันที่ 4 เมษายน 2562 (ฉบับที่ 344) เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษี หัก ณ ที่จ่าย จากรายได้ดอกเบี้ยในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ในส่วนที่ไม่เกิน 20,000 บาท เกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม จนกรมสรรพากรต้องเปลี่ยนเกณฑ์รายงานข้อมูลใหม่

‘เอกนิติ’ เคลียร์ปมสรรพากร‘ไล่บี้ภาษีประชาชน’
    นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากรเปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ยอมรับว่าเป็นเรื่องของการสื่อสารที่ไม่ชัดเจน ทำให้เกิดการเข้าใจผิดในหลายๆเรื่อง ทั้งที่จริงเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงวิธีการรายงานข้อมูลเท่านั้น สิทธิภาษียังเหมือนเดิม อย่างเรื่องการจัดเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝากนั้น ทุกวันนี้ธนาคารก็นำส่งให้กับกรมสรรพากรอยู่แล้ว แต่พอกฎหมายอี-เพย์เมนต์ออกมา แทนที่จะเป็นการนำส่งข้อมูลทางกระดาษ ก็เป็นการให้ธนาคารส่งข้อมูลมาที่กรมสรรพากรเลยทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งการนำส่งข้อมูล มันก็มีเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลที่จะต้องได้รับการยินยอม(Concent) จากเจ้าของบัญชีก่อน
    “เราก็บอกว่าเพียงว่า การ นำส่งข้อมูลต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าของก่อน ซึ่งก็แล้วแต่วิธีไหนที่ธนาคารจะไปอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า ซึ่งการ Concent ก็มี 2 วิธีคือ แสดงการยินยอมและอีกวิธีคือ Concent ตรงข้าม เหมือนกรณีที่ธนาคารประกาศอายัดทรัพย์ ก็จะบอกว่าถ้าเจ้าหนี้รายอื่นไม่มาแสดงความจำนงก็จะขายทอดตลาดไป วิธีนี้ก็เหมือนกัน เราไม่ได้บอกว่าต้องให้ทุกคนมาแสดงตัวตนกับธนาคาร ขึ้นกับวิธีการบริหาร จัดการที่ธนาคารจะไปอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าเอง”
    ส่วนเรื่องกฎหมายอี-เพย์เมนต์ รูปแบบที่เสนอไปถูกแก้ไขระหว่างทาง เพราะฉบับที่สรรพากรเสนอไปใช้รูปแบบ e-payment คือ 1.ให้ทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทางภาษีได้ เดิมเราใช้อิงพ.ร.บ. อิเลคทรอนิกส์ แต่ต่อไปเราจะใช้ประมวลกฎหมายของเราเอง 2.ให้ธนาคารทำหน้าที่หัก ภาษี ณ ที่จ่ายแทนผู้จ่ายเงิน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เสียภาษี จากเดิมที่บริษัทผู้จ่ายเงิน จะทำหน้าที่หัก ภาษี ณ ที่จ่าย แล้วโอนเงินจ่ายผ่านธนาคาร ซึ่่งทั้งบริษัท ผู้จ่ายเงิน และผู้รับเงิน ต้องนำส่งเอกสารต่อกรมสรรพากร ต่อไปเราก็เพียงแต่ให้ธนาคาร ซึ่่งเป็นคนจ่ายเงินทำหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งสรรพากรทางอิเล็กทรอนิกส์แทน ก็จะสะดวกทั้ง 2 ฝ่าย และ 3. สรรพากรมีอำนาจในการขอข้อมูลจากบุคคลที่ 3 เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีได้
    “เมื่อเข้าไปในชั้นพิจารณาของกฤษฎีกาเห็นว่า ถ้าให้สรรพากรมีอำนาจในการเรียกข้อมูลจากบุคคลที่ 3 จะมีอำนาจมากเกินไป จึงปรับให้เป็นการรายงานรับโอนจำนวนครั้งแทน ทั้งที่รูปแบบการเรียกข้อมูลจากบุคคลที่ 3 อย่างโซเชียลมีเดีย หากเราต้องการที่จะประเมินภาษี ซึ่งเป็นรูปแบบที่สรรพากรหลายๆประเทศมีอำนาจใช้อย่างสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซียและอินเดีย แต่ในไทยเราไม่มีอำนาจที่จะเรียกข้อมูลจาก บริษัทต่างประเทศได้เลย แต่เมื่อออกมาก็ต้องบังคับใช้ต่อไป” 

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,466 วันที่ 2-4 พฤษภาคม 2562

‘เอกนิติ’ เคลียร์ปมสรรพากร‘ไล่บี้ภาษีประชาชน’