5 ปัจจัยติดตาม-จับทิศทางความเคลื่อนไหวสินทรัพย์ลงทุนปี 2567

31 ธ.ค. 2566 | 13:37 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ธ.ค. 2566 | 13:38 น.

5 ปัจจัยติดตาม-จับทิศทางความเคลื่อนไหวสินทรัพย์ลงทุนปี 2567 : คอลัมน์มันนี่ ดีไอวาย โดย นันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด

ปี 2566 ตลาดหุ้นโลกเริ่มกลับมาฟื้นตัว นำโดยตลาดหุ้นสหรัฐและญี่ปุ่น หลังจากที่ปีก่อนหน้าตลาดหุ้นมีความผันผวนค่อนข้างมาก ซึ่งปัจจัยสนับสนุนสำคัญของการฟื้นตัวเกิดจากภาพรวมเศรษฐกิจที่สามารถขยายตัวได้ดีกว่าคาด โอกาสเกิดภาวะถดถอยทยอยปรับตัวลดลง

อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นเอเชียยังค่อนข้างผันผวน โดยเฉพาะตลาดหุ้นจีนที่ภาวะเศรษฐกิจไม่ได้สวยงามเหมือนที่หลายคนคาดการณ์ เช่นเดียวกับตลาดตราสารหนี้ที่มีความผันผวนสูงจากแรงกดดันเงินเฟ้อยังอยู่ระดับสูง ทำให้ธนาคารกลางของประเทศหลักปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าปัจจัยเหล่านี้  จะมีผลต่อการเคลื่อนไหวของสินทรัพย์ต่าง ๆ ในช่วงนี้ไปจนถึงปี 2567 ซึ่ง SCBAM จะสรุปถึง 5 ปัจจัยหลักที่แนะนำให้นักลงทุนติดตามกัน

  • ปัจจัยแรก การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2567  มีแนวโน้มที่จะเติบโตช้าลงหากเทียบกับปี 2566 จากความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อระดับที่ยังสูงกว่าเป้าหมาย ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยต่อในระยะข้างหน้า ซึ่งการที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงก็จะกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น การลงทุนของภาคธุรกิจและภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่เงินออมส่วนเกิน (Excess Savings) จะเริ่มหมดลง และ Student Loans จะต้องมีการกลับมาจ่ายคืนตั้งแต่เดือนตุลาคม

ขณะที่ภาระดอกเบี้ยจากบัตรเครดิตปรับตัวขึ้นมาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคในระยะถัดไป  นอกจากนี้ เศรษฐกิจฝั่งยูโรโซนยังคงอยู่ในภาวะหดตัวและมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

5 ปัจจัยติดตาม-จับทิศทางความเคลื่อนไหวสินทรัพย์ลงทุนปี 2567

  • ปัจจัยที่สอง ทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่มีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.25 – 5.50% แต่หากพิจารณาจากคำแถลงของ Fed จากการประชุมในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา Fed มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ แข็งแกร่ง แม้ว่าตลาดแรงงานยังมีความตึงตัวและอยู่ในช่วงการปรับตัวเข้าสู่ระดับปกติ

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ฮามาส ยังเป็นปัจจัยประกอบที่ต้องติดตาม เพราะอาจส่งผลกับการปรับตัวของราคาน้ำมันดิบและอาจทำให้เงินเฟ้อกลับมาเร่งตัวสูงขึ้นอีกครั้งได้ ซึ่งนับเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ

หาก Fed ยังต้องคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงยาวนาน และการปรับลดดอกเบี้ยจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววัน หรือที่เรียกกันว่า “Higher for Longer” (วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นดอกเบี้ยใกล้ถึงจุดสิ้นสุดและถูกคงไว้ระดับสูงต่อไปอีกระยะ) ซึ่งจะทำให้ต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจจะทรงตัวในระดับสูงต่อไป ขณะที่การส่งสัญญาณ Hawkish ของ Fed มีส่วนผลักดันให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (Dollar Index) มีความผันผวน เป็นลบต่อตลาดหุ้นเกิดใหม่ (Emerging Market) ที่มักจะเคลื่อนไหวสวนทางกับ Dollar Index

  • ปัจจัยที่สาม การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี (US 10-year Treasury Yield) ขึ้นแตะระดับสูงสุดกว่า 5.0% สูงสุดในรอบ 16 ปี ซึ่งเกิดจากแรงขับเคลื่อนหลายปัจจัย เช่น นโยบายการเงินของ Fed และภาวะดอกเบี้ยแบบ Higher for Longer ตามที่กล่าวข้างต้น

นอกจากนี้ ยังมีเหตุผลด้านอุปสงค์-อุปทานด้านความต้องการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลลดลง จากการที่ Fed ดึงสภาพคล่องออกจากระบบด้วยนโยบาย Quantitative Tightening (QT) ขณะที่ ฝั่งอุปทาน (Supply) เพิ่มขึ้น เพราะกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เร่งปริมาณการออกพันธบัตรมากขึ้น 

การปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลครั้งนี้ ส่งผลโดยตรงและทำให้ผลตอบแทนของตลาดหุ้นมีความน่าสนใจน้อยลง อย่างไรก็ตาม คาดว่าในระยะถัดไปจะเริ่มเห็นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ชะลอการปรับขึ้นหรือเริ่มปรับลง ตามทิศทางดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ซึ่งประเด็นนี้น่าจะช่วยลดแรงกดดันต่อตลาดหุ้นเช่นกัน

  • ปัจจัยที่สี่ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีน เป็นหนึ่งประเด็นที่น่าจะสร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุนสำหรับปีนี้ เพราะเศรษฐกิจจีนเป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก ที่ยังประสบปัญหาด้านโครงสร้างประชากร ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ ปัญหาหนี้ Local Government Financing Vehicle (LGFV) และการส่งออกที่หดตัวลงต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนถึงตัวเลขดัชนีชี้นำเศรษฐกิจทั้งภาคผลิตและภาคบริการที่ชะลอตัวลง

รวมถึงการลงทุนที่ต่ำกว่าคาด ซึ่งจากการที่เศรษฐกิจจีนยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่ จึงส่งผลกระทบทางอ้อมมาสู่ประเทศในแถบเอเชีย ซึ่งมีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจค่อนข้างมากกับจีน ทั้งในด้านของการเป็นคู่ค้าและการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี รัฐบาลจีนได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง จึงอาจทำให้มีโอกาสที่บรรยากาศการลงทุนจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้

  • ปัจจัยสุดท้าย การเมืองในต่างประเทศ อย่างเช่น การเลือกตั้งของประเทศไต้หวัน ที่จะเกิดขึ้นในเดือนมกราคม 2567 ที่อาจมีโอกาสนำไปสู่ความตึงเครียดในตลาดภูมิภาคได้ โดยเฉพาะท่าทีของรัฐบาลไต้หวันที่มีจุดยืนด้านระบบการปกครอง สังคม และวัฒนธรรมที่เป็นของตัวเอง สร้างความไม่พอใจแก่จีนมาโดยตลอด ซึ่งอาจสร้างผลกระทบถึงตลาดกลุ่มอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ได้

ไต้หวันถูกจัดเป็นประเทศห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของกลุ่มอุตสาหกรรมนี้  และเป็นตลาดหุ้นที่สำคัญในกลุ่มประเทศเอเชีย สำหรับอีกหนุ่งเหตุการณ์ที่นักลงทุนทั่วโลกต้องจับตามอง คือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนได้ในหลายๆ แง่มุม ตั้งแต่นโยบายการใช้จ่ายภาครัฐ นโยบายภาษี  และนโยบายต่างประเทศ โดยเฉพาะท่าทีของสหรัฐฯ ที่มองจีนเป็นภัยคุกคามทั้งทางเศรษฐกิจและการทหาร

จาก 5 ปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่าหากเรามองไปในระยะข้างหน้า จะเห็นความท้าทายยังคงมีอยู่ การลงทุนจึงต้องวางแผนการลงทุนด้วยความเข้าใจถึงความเสี่ยงที่ยอมรับได้ อย่างไรก็ดี การลงทุนระยะยาวจะช่วยลดผลกระทบที่เกิดจากความผันผวนในระยะสั้นได้ รวมถึงการจัดพอร์ตลงทุนในแบบกระจายความเสี่ยงจะช่วยให้นักลงทุนรับมือกับสถานการณ์การลงทุนที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาได้