"กอบศักดิ์" แนะเร่งปิดมุมมืดตลาดหุ้นไทย "หุ้นขนาดเล็ก" ขาดบทวิเคราะห์ !

07 ธ.ค. 2566 | 17:20 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ธ.ค. 2566 | 17:39 น.

ประธาน FETCO แนะเร่งปิดมุมมืด "หุ้นขนาดเล็ก" ขาดนักวิเคราะห์ทำข้อมูล หวั่นเป็นจุดทำลายความเชื่อมั่นตลาดหุ้นไทย กับดักรายย่อย ล่าสุดจับมือ IAA เร่งผลักดันโครงการวิเคราะห์หุ้นขนาดเล็ก ดีเดย์เริ่มไตรมาส1/ 67

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวในงานแถลงแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (2567–2569) ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) วันนี้ ( 7 ธ.ค.2566 ) ตอนหนึ่งในเรื่องการพัฒนาตลาดทุนไทยว่า นับจากนี้จะต้องเริ่มจากการสร้างความเชื่อมั่นกลับมา หลังจากที่ตลาดทุนไทยเผชิญกับปัญหาที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน เริ่มมาตั้งแต่กรณีของบมจ.มอร์ รีเทิร์น (MORE) ตามด้วย บมจ.สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น (STARK)

อย่างไรก็ดียังมีมุมมืด (Dark spot) ที่เป็นจุดทำลายความเชื่อมั่นได้เช่นกัน นั่นก็คือ "หุ้นขนาดเล็ก"(Small Cap) ที่ไม่มีนักวิเคราะห์ทำข้อมูลให้กับนักลงทุน อาจเป็นจุดเล็กๆ ที่สร้างปัญหาขึ้นมาให้กับตลาดทุนไทยได้เช่นกัน

 


 

"ปัจจุบันต้องยอมรับว่ามีความเสี่ยงจากหุ้นขนาดเล็กที่นักลงทุนรายย่อยเข้าไปลงทุน โดยที่ไม่มีการศึกษาข้อมูลมาก่อน ทำให้ติดกับดักที่เกิดจากหุ้นขนาดเล็ก ที่อยู่ดีๆ ราคาปรับขึ้นมาโดยไม่ทราบสาเหตุ และปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงสั้นๆ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นไทย และจากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า บจ.ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์มีราว 800 บริษัท แต่มีการทำบทวิเคราะห์เพียง 200-300 บริษัท ยังไม่ถึงครึ่งหนึ่ง และบทวิเคราะห์ส่วนใหญ่กระจุกตัวในหุ้นใหญ่ ใน SET100 "

ข้อดีของการที่มีบทวิเคราะห์หุ้นขนาดเล็ก ยังเป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้ขอสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์ในการนำเงินมาขยายธุรกิจ เนื่องจากมีข้อมูลที่นำมาใช้ประกอบและมีความน่าเชื่อถือ ประกอบกับมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา รวมถึงการทำดีลต่างๆที่จะเป็นประโยชน์ต่อพันธมิตรที่จะมาร่วมกับธุรกิจขนาดเล็กที่มีการทำข้อมูลบทวิเคราะห์ด้วย ทำให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และธุรกิจขนาดเล็กด้วย

 

FETCO จับมือ  IAA  ผลักดันโครงการวิเคราะห์หุ้นขนาดเล็ก

สำหรับ FETCO ได้สนับสนุนให้บริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ ทำการวิเคราะห์ข้อมูล รวมทั้งอยากเสนอให้ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ส่งเสริมการจัดทำข้อมูลและการวิเคราะห์หุ้นขนาดเล็ก เพื่อทำให้นักลงทุนได้เข้าถึงข้อมูลของหุ้นขนาดเล็กได้มากขึ้น เพื่อเป็นการลดปัญหาในการวิเคราะห์พิจารณาตัดสินใจลงทุน และลดปัญหาที่จะทำลายความเชื่อมั่นของตลาดทุนไทยด้วยเช่นกัน

โดยโครงการวิเคราะห์หุ้นขนาดเล็กที่ทาง FETCO กับสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ (IAA) ร่วมกันผลักดัน ปัจจุบันเตรียมตัวยื่นขอทุนสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) วงเงิน 20 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาระบบและจ้างนักวิเคราะห์มาร่วมกันในการทำบทวิเคราะห์หุ้นขนาดเล็กในตลาดหลักทรัพย์ฯ  คาดว่าจะเริ่มได้ในไตรมาส 1 ปี 67

ชี้ตลาดทุนไทยต้องปรับตัวให้ทันสมัย-ลดอุปสรรคกฏเกณฑ์

     
นายกอบศักดิ์ กล่าวอีกว่า ตลาดทุนไทยยังต้องมีการสร้างเสน่ห์เพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้ามาเพิ่มขึ้น ต้องมีการปรับตัวให้ Modernize เพราะว่าโลกของการลงทุนมีสินทรัพย์ไหม่ๆ เกิดขึ้นที่เป็นทางเลือกในการลงทุนอยู่ตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงที่ผ่านมามีคริปโตเคอรเรนซี่เกิดขึ้น และมีผู้ลงทุนเข้ามาลงทุนในคริปโตฯ เป็นจำนวนมาก มีจำนวนบัญชีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้สินทรัพย์เดิมที่มีอยู่มีความน่าสนใจลดลง ดังนั้น ก.ล.ต.และ ตลท.จะต้องมีแนวทางสร้างความน่าสนใจให้กับตลาดทุนไทยอย่างต่อเนื่อง 

นอกจากนั้น ก.ล.ต.ควรลดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่มากมาย ซึ่งบางกฎเกณฑ์ที่มีมาตั้งแต่ในอดีตอาจไม่มีสาระแล้ว ต้องปรับลดและปรับเปลี่ยนให้น้อยลง เพื่อช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการที่เข้ามาระดมทุน ทำให้ผู้เล่นต่างๆ ทำงานในตลาดทุนได้อย่างสะดวก ไม่มีอุปสรรคในการเข้าถึงตลาดทุน

ประกอบกับ ก.ล.ต. ตลท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนไทย ควรร่วมกันใช้ช่องทางการบริการเพียงช่องทางเดียว (Single portal) เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้บริการ การรายงานข้อมูล และการเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวกผ่านช่องทางเดียว เพื่อความสะดวกรวดเร็ว ลดขั้นตอนต่างๆ เป็นต้น

ดึงตปท.เข้ามา"ระดมทุน-ลงทุน"ในตลาดหุ้นไทย

ประธาน FETCO ยังให้มุมมองถึงการผลักดันตลาดทุนไทยให้มีความน่าสนใจมากขึ้นว่า อาจต้องมองไปถึงการนำคนจากภายนอกประเทศเข้ามา"ระดมทุนและลงทุน" ในตลาดทุนไทย โดยเฉพาะการสนับสนุนแพลตฟอร์มของสตาร์ทอัพที่กำลังเติบโตและแข็งแกร่งในต่างประเทศ สามารถสร้างระบบการ Duo listing ในตลาดหุ้นไทย เพื่อให้ทำให้ผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนไทยมีความหลากหลายและทันสมัย เพราะหากพึ่งพาแค่บริษัทภายในประเทศจะทำได้ช้า ที่ผ่านมาจะเห็นว่าบริษัทในประเทศปรับเปลี่ยนค่อนข้างช้า ทำให้ขาดการสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตลาดทุนไทยยังไม่มี เมื่อเทียบกับจำนวนนักวิจัยไทยที่เก่งและเชี่ยวชาญที่มีเป็นจำนวนมาก

ส่วนด้าน ESG ยังเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สร้างเสน่ห์ให้กับตลาดทุนไทยได้อยทางดี และเป็นเทรนด์ที่สำคัญที่จะขับเคลื่อนตลาดทุนทั่วโลก แต่ FETCO มองว่า ด้าน Social (S) ยังเป็นสิ่งที่ตลาดทุนไทยไม่ได้เน้นมากและให้ความสำคัญน้อย แตกต่างจากยุทธศาสตร์ของ ก.ล.ต.ที่ต้องการลดความเลื่อมล้ำในตลาดทุน ซึ่งมองว่าการมี Socail credit จะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สร้างเสน่ห์ให้กับตลาดทุนไทย นอกเหนือจากการมี Carbon credit