บล.พาย ชี้ปี 67 บริษัทขนาดกลางและเล็ก เสี่ยงล้ม ตามรอย JKN

09 พ.ย. 2566 | 17:19 น.
อัปเดตล่าสุด :09 พ.ย. 2566 | 23:09 น.
1.5 k

บล.พาย ชี้ปี 67 บริษัทขนาดกลางและเล็ก เสี่ยงล้มละลาย ตามรอย JKN หลังหุ้นกู้ครบดีล มูลค่ารวมกว่า 1 ล้านล้านบาท อาจแย่งสภาพคล่องในตลาด แนะนักลงทุนดูผลประกอบการก่อนตัดสินใจซื้อ

นายกวี ชูกิจเกษม Head of Research and Content บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) กล่าวในงาน Health & Wealth Expro 2023 ว่า ยุคจากนี้ไปเราจะไม่ใช่ยุคที่เปิดโอกาสให้ธุรกิจขนาดกลาง และธุรกิจขนาดเล็กเติบโตได้ดีเหมือนสมัยก่อน เพราะการเติบโตของธุรกิจดังกล่าวต้องเริ่มจากการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ

แต่ปัญหาวันนี้เราจะเข้าสู่สังคมสูงวัย ธุรกิจที่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค จะทำให้คนบริโภคได้น้อยลง ฉะนั้น ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็กจะมีโอกาสน้อยลง ฉะนั้น ต้องทำตัวเองให้มีเสน่ห์ บริษัทใหญ่จะเข้ามาซื้อกิจการเอง แต่ถ้าไม่ได้ การดำเนินธุรกิจจะยากมาก

นายกวี ชูกิจเกษม Head of Research and Content บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน)

“ปี 2567 บริษัทขนาดกลาง และขนาดเล็ก จะหาสินเชื่อไม่ได้ เช่น การรีไฟแนนซ์ การออกหุ้นก็ยาก เพราะ 3 ปีที่แล้วโควิดดอกเบี้ยต่ำ มีการออกตราสารหนี้ โดยที่ไม่รู้ว่าการออกตราสารหนี้ ระยะเวลา 3-5 ปี ซึ่งปีหน้ามีตราสารหนี้บริษัทขนาดกลาง และขนาดเล็ก ครบกำหนดมูลค่ารวมกว่า 1 ล้านล้านบาท ยังไม่รวมรัฐบาล หากรัฐบาลออกดิจิทัลวอลเล็ทอีก 5.6 แสนล้านบาท ก็จะเป็นการแย่งเงินในตลาดจากบริษัทที่จะขอสินเชื่อใหม่”

ทั้งนี้ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) หรือ JKN เป็นหนึ่งในตัวอย่าง และก่อนหน้านี้มีหลายบริษัทที่ขอยื่นเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ โดย JKN ออกหุ้นกู้มา และไม่สามารถรีไฟแนนซ์ได้ ซึ่งหากออกหุ้นกู้ แล้วมีคนซื้อหุ้นกู้ต่อ ก็จะไม่มีปัญหาอะไรเลย เพราะบริษัทยังทำกำไร และมีกระแสเงินสด แต่ไม่เพียงพอชำระ 300 ล้านบาทที่จะครบกำหนด จึงเป็นสิ่งที่อันตราย

“ปีหน้าจะมีบริษัทขนาดกลาง และขนาดเล็กที่จะครบกำหนดจากการออกหุ้นกู้จำนวนมาก ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะล้มละลาย บริษัทก็จะมีความน่ากลัวในกลุ่มบริษัทที่มี D/E Ratio สูง หรือ อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสูง การลงทุนปีหน้าจึงควรดูการดำเนินการของธุรกิจ ว่าบริษัทไหนที่มีหนี้เยอะ สภาพคล่องกระแสเงินสดจากการดำเนินงานไม่เป็นบวก จะต้องรีบขายหุ้นทันที และการควบรวมกิจการจะเกิดขึ้นในปีหน้า ซึ่งบริษัทใหญ่จะเป็นผู้อยู่รอด”

ส่วนการลงทุนระยะยาว ในมุมมองของบริษัทหลักทรัพย์ พาย มองว่าควรลงทุน เช่น ตราสารเงิน พันธบัตรรัฐบาล ทองคำ และการซื้อเงินดอลลาร์ เพราะช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ค่าเงินที่แข็งที่สุด คือ ดอลลาร์ โดยจะรักษาพอร์ตไปเรื่อยๆ เพราะตลาดตราสารหนี้จะขึ้น รวมทั้งทองคำ และเชื่อค่าเงินดอลลาร์แข็ง แต่ปี 67 หากตลาดหุ้นปรับตัวลดลง จะนำเงินที่ลงทุนส่วนนั้น เข้ามาลงทุนและทยอยเก็บซื้อหุ้น

ทั้งนี้ หุ้นกลุ่มที่น่าสนใจในประเทศไทย ยังมองว่าเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบริการสุขภาพ มองว่าเป็นธุรกิจหนึ่งที่มีแนวโน้มขาขึ้นในประเทศไทย เช่น หุ้นกลุ่มโรงพยาบาล อาทิ Bumrungrad Hospital PCL ธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ศูนย์กลางสุขภาพ การท่องเที่ยว และโลจิสติกส์ เป็นต้น