"คลัง"ยันไร้สัญญาณ"เงินฝืด" ชี้มีแนวโน้มเศรษฐกิจฟื้นตัว

07 พ.ย. 2566 | 08:29 น.
อัปเดตล่าสุด :07 พ.ย. 2566 | 09:01 น.

"คลัง"ยันไร้สัญญาณ"เงินฝืด" ชี้มีแนวโน้มเศรษฐกิจฟื้นตัว ระบุความไม่แน่นอนของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกอาจทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้า ในอนาคตเพิ่มสูงขึ้นได้ โดยเฉพาะน้ำมัน แนะติดตามอย่างใกล้ชิด

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนต.ค.2566 เท่ากับ 107.72 เมื่อเทียบกับเดือนต.ค. 2565 ลดลง 0.31% (YoY) เป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 25 เดือน สาเหตุจากการลดลงของราคาสินค้ากลุ่มพลังงาน และสินค้าอุปโภคบริโภค เนื่องจากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ รวมทั้งเนื้อสุกร และผักสด ที่ราคาต่ำกว่าปีที่ผ่านมา

มาตรการลดค่าครองชีพ ของภาครัฐ โดยเฉพาะการปรับลดราคาดีเซล และค่าไฟฟ้า และยังมีกลุ่มอาหารที่ราคาลดลง กว่าปีที่ผ่านมา ทั้งเนื้อสุกร และผักสด เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อเดือนต.ค. ปรับตัวลดลงครั้งแรก


ดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลง 0.65% (YoY) ตามการลดลงของราคาเนื้อสัตว์ อาทิ เนื้อสุกร และไก่สด โดยเฉพาะ เนื้อสุกรที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก เนื่องจากเกษตรกรเร่งระบายสุกรในช่วงที่ขายได้ราคา แม้ว่ายังไม่ครบอายุการเลี้ยง ผักสด (ต้นหอม ผักบุ้ง แตงกวา) ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมาก เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเอื้อต่อการเพาะปลูกมากกว่า ปีที่ผ่านมา

ส่วนหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.09% (YoY) ตามการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน (ค่ากระแสไฟฟ้า กลุ่มน้ำมันดีเซล) สิ่งที่เกี่ยวกับ ทำความสะอาด (ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม) เครื่องใช้ไฟฟ้า (พัดลม เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า) ราคาลดลง ต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาจากมาตรการ ช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ

ขณะที่แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพ.ย. 2566 คาดว่าจะปรับลดลงเล็กน้อย ตามราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร และกลุ่มพลังงาน ไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงสินค้าอุปโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพหลายรายการ และต้นทุนการผลิตที่ปรับลดลง จากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ประกอบกับฐานราคาในช่วงเดียวกันของปี 2565 อยู่ระดับสูง"
       
กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 อยู่ระหว่าง 1.0-1.7% ค่ากลาง 1.35% ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยยังต้องจับตาความเสี่ยงจากความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงดำเนินอยู่ ในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอล-ฮามาส และรัสเซีย-ยูเครน

นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงาน เศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยว่า เบื้องต้น สศค. มองว่า ยังไม่เกิดภาวะเงินฝืด โดยสาเหตุหลักที่เงินเฟ้อลดลงจาก หมวดพลังงานเป็นหลัก โดยหมวด ยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิง-0.19% และหมวดไฟฟ้าน้ำประปาและแสงสว่าง-3.15%ลดลงจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ รวมถึงหมวดอาหารสด โดยเฉพาะ หมวดเนื้อสัตว์-17.85% ที่ลดลงจากปีก่อนหน้า ค่อนข้างมาก

ส่วนราคาสินค้าประเภทอื่นยัง ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น อาทิ หมวดข้าวแป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง + 4.79%หมวด เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์+2.62% และหมวดอาหารสำเร็จรูป +1.44% เป็นต้น รวมถึงปัจจัยฐานสูงของปีก่อนหน้าที่ทำให้เงินเฟ้อไทยชะลอตัวลงค่อนข้างมาก ในเดือน ต.ค.2566
          
นอกจากนี้ สศค. มองว่าแนวโน้ม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จะช่วยให้เงินเฟ้อฝั่งอุปทานขยายตัวขึ้นได้ในอนาคต ดังนั้น การลดลงของเงินเฟ้อไทยในระยะถัดไป อาจยังคงมีแนวโน้มชะลอตัวต่อไปได้ เนื่องจากราคาสินค้าหลายชนิดที่ปรับตัวลดลงจากปีก่อน

อย่างไรก็ดี สศค. มองว่า อาจเป็นไป ในระยะสั้นและยังไม่เกิดเงินฝืด เนื่องจากยังมีแนวโน้มการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ และความไม่แน่นอนของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกที่อาจทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้า ในอนาคตเพิ่มสูงขึ้นได้ โดยเฉพาะน้ำมัน ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
          
ภาวะเงินฝืด คือ การลดลงของระดับราคาทั่วไปของสินค้าและบริการในระบบเศรษฐกิจในช่วงระยะเวลาหนึ่ง สะท้อนผ่าน ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่ติดลบ กล่าวคือ ระดับราคาทั่วไปกำลัง ถูกลงหรือ เงินในมือของเรามีมูลค่าเพิ่มขึ้น ณ ช่วงเวลานั้น