ธปท.หลังแอ่น แบกภาระดอกเบี้ย 4.4 หมื่นล้านบาท

09 ต.ค. 2566 | 15:55 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ต.ค. 2566 | 15:55 น.

ส่องเทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้น กูรูชี้ดอกเบี้ยนโยบาย 2.50% ต่อปี ยังต่ำกว่าการเติบโตของจีดีพีปีนี้ที่ 3.0% เผยธปท.รับภาระอื้อ เหตุปรับดอกเบี้ยขึ้น 0.25% ต้องจ่ายดอกเบี้ยราว 5,500 ล้านบาท รวม 8 ครั้งสูงถึง 4.4 หมื่นล้านบาท

แม้ที่ประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา จะมีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25-5.50% ต่อเนื่องฟเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี หลังจากได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาแล้ว 11 ครั้ง ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 แต่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ในการประชุมเมื่อ 27 กันยายน ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 8 ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยเพิ่มขึ้นจาก 0.50% มาอยู่ที่ระดับ 2.50%

ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ขานรับนโยบายกนง. โดยเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้นำโดย ธนาคารกรุงเทพ ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากอัตรา 0.10-0.25% สำหรับบุคคลธรรมดาและดอกเบี้ยเงินกู้ 0.25% มีผลตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน ธนาคาร ทีเอ็มบีธนชาตและไทยพาณิชย์ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก 0.30% และขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ 0.25%

นายเชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร บริษัทศูนย์วิจัย กสิกรไทย จำกัด (KR)เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มการส่งผ่านดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ปีนี้ เห็นได้ชัดว่า ธนาคารพาณิชย์ทยอยปรับดอกเบี้ยขึ้นทั้งเงินฝากและเงินกู้ โดยเฉพาะเงินกู้นั้น จนถึงวันนี้มีการปรับขึ้นเกือบใกล้เคียงกับที่กนง.ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

นายเชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร บริษัทศูนย์วิจัย กสิกรไทย จำกัด

สะท้อนว่า ธนาคารพาณิชย์ส่งผ่านดอกเบี้ยที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ โดยส่งผ่านไปที่ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม จากที่ผ่านมาอาจจะมีบางช่วงที่ธนาคารพาณิชย์ปรับขึ้นดอกเบี้ยจากภาระเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟูเพื่อพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ในอัตรา 0.46%

 

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะมีผลต่อเป้าหมายของธปท.ในการดำเนินนโยบายที่ต้องดูแลเรื่องเสถียรภาพทางการเงิน ทั้งอัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งหนี้ครัวเรือน แม้จะมีผลข้างเคียงบ้าง เพราะทำให้ผู้มีหนี้อยู่แล้วจะมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นระยะต่อไป หลังจากธนาคารในระบบทยอยปรับดอกเบี้ย แต่ส่วนหนึ่งช่วยชะลอการปรับขึ้นของหนี้ครัวเรือนได้ เพราะหากอัตราดอกเบี้ยต่ำเกินไปจะทำให้หนี้เพิ่มขึ้นได้เร็ว 

ทั้งนี้ กนง.พิจารณาและค่อยๆทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาจนอยู่ที่ระดับ 2.50%ต่อปี ขณะที่ธนาคารทยอบปรับขึ้นดอกเบี้ยในระบบเช่นกัน เห็นได้จากอัตราดอกเบี้ยดอกเงินกู้ MRR ตอนนี้สูงกว่า MLR เล็กน้อย โดย MRR ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่จะอยู่ที่ 7.30% ต่อปี แม้บางช่วง MLR จะเพิ่มสูงกว่า MRR แต่หลังจากนั้น ทั้ง MRR และ MLR เพิ่มขึ้นในอัตราเท่ากัน

อัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์

สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามในการส่งผ่านดอกเบี้ยนโยบายนั้น กนง.ยังเป็นผู้กำหนดทิศทางดอกเบี้ย ซึ่งหลายคนอาจประเมินทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายใกล้จบแล้วรอบนี้ที่ระดับ 2.50% ซึ่งกนง.ให้น้ำหนักเรื่องเสถียรภาพค่อนข้างมาก โดยมีปัจจัยที่ต้องติดตามหลายตัว เช่น เงินเฟ้อ แม้ช่วงนี้ปรับลดลง แต่หนี้ครัวเรือนยังสูง จึงไม่ต้องการให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานเกินไป จะสร้างแรงจูงใจให้ครัวเรือนก่อหนี้เพิ่ม 

สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยนั้น ได้ผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 มาแล้ว แนวโน้มการท่องเที่ยวก็ฟื้นตัว อีกทั้งยังมีมาตรการของภาครัฐที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น ลดราคาน้ำมันหรือค่าไฟฟ้า และที่จะดำเนินการในระยะข้างหน้า ไม่ว่าเงินดิจิทัล มาตรการผลักดันค่าแรงขั้นต่ำ หรือเบี้ยผู้สูงอายุ ซึ่งเงินเหล่านี้จะทยอยเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ฉะนั้นดอกเบี้ยนโยบาย 2.50% ไม่ถือว่าสูงจนเกินไป เมื่อเทียบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ

“ปีนี้เศรษฐกิจหรือจีดีพีไทยขยายตัวได้ประมาณ 3.0% ดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50%ยังต่ำกว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ และยังมีเงินของภาครัฐที่จะทยอยเข้ามา แต่หากเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนไปจากปัจจุบัน ทางกนง.สามารถพิจารณาตามความเหมาะสมได้ ซึ่งยังมีเวลา แต่ตอนนี้ทุกคนตัดสินใจจากข้อมูลที่มีอยู่ แต่หากเหตุการณ์ไม่เป็นอย่างนั้น ก็จะมีการทบทวนได้”นายเชาว์กล่าว

ด้านนายสงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่าย Investment market Research สายธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคาร กรุงไทยกล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น เป็นแนวทางบริหารสภาพคล่องในตลาดเงินของธปท. เพื่อดูแลสภาพคล่องให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่ตึงเกินไปและไม่ล้นเกินไป

นายสงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่าย Investment market Research สายธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคาร กรุงไทย

อย่างไรก็ตาม การดูดซัพสภาพคล่องของธปท.ย่อมส่งผลเรื่องต้นทุนของธปท. โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ยอดคงค้างพันธบัตรที่ธปท.ออก และ 2.ยอดคงค้างเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ (ฺBilateral Repo) ซึ่งภายใต้สมมติฐานว่า พันธบัตรส่วนใหญ่จะมีผลตอบแทนใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ยอดคงค้างพันธบัตรธปท.(ณเดือนกันยายน 2566) อยู่ที่ประมาณ 2.45 ล้านล้านบาท กรณีการขึ้นดอกเบี้ยต่อครั้ง 0.25% จะทำให้ต้นทุนธปท.เพิ่มขึ้นราว 6,125 ล้านบาท โดยหักพันธบัตรประเภท Fixed rate bond อายุมากกว่า 1ปี ที่ต้นทุนสะท้อนการขึ้นดอกเบี้ยไปก่อนหน้าการขึ้นดอกเบี้ยจริงแล้ว 320,000 ล้านบาท

“ประเมินว่าธปท.จ่ายดอกเบี้ยขึ้นราว 5,500 ล้านบาทต่อการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% หรือหากจะคิดรวม 8 ครั้งภาระจะสูงถึง 44,00 0 ล้านบาท ซึ่งเป็นแค่ตัวเลขทางบัญชี จะไม่มีผลต่ออะไรทั้งสิ้นและไม่เป็นส่วนหนึ่งของหนี้สาธารณะ” นายสงวนกล่าว

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,928 วันที่ 5 - 7 ตุลาคม พ.ศ. 2566