การอพยพครั้งใหญ่ของ VI

06 ส.ค. 2566 | 06:19 น.
938

สภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทยที่แทบจะไม่ให้ผลตอบแทนติดต่อกันมานับ 10 ปี นั้น ทำให้นักลงทุน VI หลายคนเริ่มย้ายการลงทุนไปยังตลาดหุ้นอื่นมากขึ้นเรื่อย ๆ บางคนและแม้แต่ที่เป็น “VI พันธุ์แท้” ที่เคยประสบความสำเร็จอย่างงดงามและ “รวยไปแล้ว” จากตลาดหุ้นไทย

ขณะนี้มีเงินลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศมากกว่าตลาดหุ้นไทยไปแล้ว  ส่วนตัวผมเองก็มีหุ้นต่างประเทศเกือบ 30% แล้วและน่าจะเพิ่มขึ้นไปได้อีก  อานิสงค์สำคัญส่วนหนึ่งก็คือ มูลค่าของหุ้นเพิ่มขึ้นตามดัชนีหุ้นต่างประเทศที่ปรับตัวขึ้นเร็กว่าตลาดหุ้นไทยมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  

การ “ย้ายถิ่นฐานไปสู่สถานที่อุดมสมบูรณ์กว่า” ของคนหรือมนุษย์นั้น  เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นตั้งแต่มีสิ่งมีชีวิตและมนุษย์ขึ้นในโลก  จากประวัติศาสตร์ของคนอย่างพวกเราที่ถูกเรียกว่า “Homo Sapiens” หรือ “มนุษย์ผู้ชาญฉลาด” นั้น  พวกเรากำเนิดขึ้นในอาฟริกาและน่าจะอยู่ที่นั่นมาหลายแสนปี แต่แล้ว  ในช่วงเวลาน่าจะประมาณ  100,000 ถึง 6-70,000 ปี ที่ผ่านมา  พวกเราก็เริ่ม “อพยพครั้งใหญ่” ออกจากอาฟริกาและกระจายไปทั่วโลก  โดยทวีปสุดท้ายที่ไปถึงน่าจะเป็นอเมริกาเหนือเมื่อประมาณอย่างน้อย 20,000 ปีที่แล้ว เพราะนั่นเป็นสถานที่ที่ “ไปยากที่สุด” 

การที่ Homo Sapiens ย้ายถิ่นฐานออกจากอาฟริกานั้น สาเหตุสำคัญก็คือการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่อาจจะทำให้เกิดความแห้งแล้ง  อาหารที่มีอยู่ไม่พอเลี้ยงคนที่อาจจะมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  อานิสงค์จากการที่ Homo Sapiens มีความรู้และความสามารถมากขึ้นเรื่อย ๆ และเริ่มสามารถเอาชนะสัตว์อื่นในการแย่งชิงทรัพยากรโดยเฉพาะอาหารที่มักจะขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศในช่วงเวลานับหมื่นปี
 

นักลงทุนแบบ VI ของไทยนั้น  ได้กำเนิดขึ้นประมาณปี 2540 หลัง “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ที่ก่อให้เกิดสภาวะแวดล้อมที่เลวร้ายกับการลงทุนของนักลงทุนในยุคก่อนหน้านั้นอย่างรุนแรงจนทำให้ “นักเล่นหุ้น” แทบจะ “สูญพันธุ์”  แต่สำหรับ “Value Investor” หรือ VI ที่ยึดถือหลักการว่า  “ซื้อหุ้น” ก็เหมือนกับ “การลงทุนในธุรกิจ”  ช่วงเวลานั้นกลับกลายเป็น “โอกาส” ที่จะได้ซื้อหุ้นหรือซื้อธุรกิจในราคาที่ถูกมาก  และ “ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง” ซึ่งจะทำให้สามารถทำกำไรหรือได้ผลตอบแทนการลงทุนที่สูงในอนาคต

คนที่เรียกว่าเป็น “VI” นั้น  ถ้าจะพูดกันแบบ  “โม้” ก็คงคล้ายกับที่เราตั้งชื่อมนุษย์ปัจจุบันว่า Homo Sapiens ซึ่งหมายถึงคนที่ “ชาญฉลาด” ในขณะที่คนประเภทอื่น เช่น  “Homo Neanderthal” ซึ่งเคยอยู่ร่วมโลกกับตนเองมานับแสนปีและจริง ๆ  ก็ฉลาดพอกัน  กลับไม่ได้ถูกตั้งชื่อแบบนั้นและก็สูญพันธุ์ไปเมื่อประมาณ 40,000 ปีที่แล้ว

กล่าวก็คือ  พวก VI นั้น  มีความภาคภูมิใจว่าตนเองเป็น “นักลงทุนผู้ชาญฉลาด”  หรือเป็น  “Intelligent Investor” ตามชื่อหนังสือที่เป็น “ไบเบิล” ของพวกตนเขียนโดยเบน เกรแฮม “บิดาของ VI”  และถ้าจะตั้ง “ชื่อวิทยาศาสตร์” เลียนแบบ Homo Sapiens  นักลงทุน VI ก็อาจจะมีชื่อว่า  “Investo Sapiens” ที่เอาชนะนักลงทุน “พันธุ์อื่น” โดยเฉพาะในตลาดหุ้นไทยในช่วงกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา
 

ตั้งแต่ประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา  ประเทศไทยดูเหมือนว่าจะเข้าสู่ภาวะแวดล้อมที่แย่ลงเรื่อย  ๆ  แต่คนก็อาจจะคิดว่าเป็นเรื่องความผันผวน เหมือนกับเรื่องของภาวะบรรยากาศของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง “ชั่วคราว” ในช่วงเวลาเป็น “หมื่นปี” ในสมัยที่โลกยังอยู่ในยุคหินที่ Homo Sapiens ต้องเผชิญ กล่าวก็คือ  ตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยถดถอยลงจากที่เคยสูงเป็นอันดับต้น ๆ  ของอาเซียนที่ 5-7% ต่อปี  เป็นประมาณ 3-4% หรือน้อยกว่าในช่วงเร็ว ๆ  นี้ ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไม่ไปไหนมานาน  และ VI จำนวนไม่น้อยได้ผลตอบแทนการลงทุนที่น่าผิดหวังมาก ซึ่งทำให้พวกเขาต้องหาทางแก้ไข

VI จำนวนมากเริ่มเปลี่ยนแนวทางการลงทุน  หลายคนเริ่มหันมา  “เก็งกำไร”  มากขึ้น  เช่น  ซื้อขายบ่อยและเร็วขึ้น บางคนก็เล่นหุ้นน้อยตัวและอาจจะเน้นหุ้นที่มีโมเมนตัมคือเป็นหุ้นที่อยู่ในกระแสที่คนสนใจกันมาก  การ “คอร์เนอร์หุ้น” ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจมีมากขึ้น  เหมือนว่าการลงทุนแบบ VI ดั้งเดิมที่เน้นเรื่องมูลค่าพื้นฐานเปรียบเทียบกับราคาหุ้นและมองหา Margin of Safety หรือส่วนต่างเผื่อความปลอดภัย ที่เป็นหลักการสำคัญที่สุดของ VI นั้น  ถูกละเลยไปมาก

กลยุทธ์ใหม่ ๆ  เหล่านั้นดูเหมือนว่าจะยังใช้ได้สำหรับ  VI บางคนที่มีพลังเงินและพอร์ตใหญ่พอที่จะขับเคลื่อนหุ้นได้อย่างไรก็ตาม  ดูเหมือนว่ากลยุทธ์เหล่านี้ก็กำลังได้ผลน้อยลงไปเรื่อย ๆ  ปรากฏการณ์ “คอร์เนอร์แตก” ที่หุ้นที่เคยปรับตัวขึ้นไปเร็วมาก  ตกลงมาจนแทบเป็นหายนะเมื่อเร็ว ๆ  นี้ ทำให้นักลงทุนจำนวนไม่น้อยถอนตัวจากหุ้นร้อนไปมาก และคิดถึงการลงทุนในตลาดหุ้นอื่นที่ดูมีอนาคตกว่า

นักลงทุน VI เริ่ม  “อพยพ”  ย้ายการลงทุนไปต่างประเทศตั้งแต่ประมาณ 6-7 ปีที่แล้ว  นำโดย VI รุ่นแรก ๆ ของตลาดหุ้นไทย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทุนแนวเฮดจ์ฟันด์ ทั้งที่บริหารโดยคนไทยที่ลงทุนเงินของครอบครัวและที่บริหารโดยชาวต่างประเทศที่มองว่าตลาดหุ้นไทยอาจจะถึงจุดที่  “โตช้า”  แล้ว ในส่วนของนักลงทุนส่วนบุคคลนั้น  ผมเองเป็นคนแรก ๆ  ที่ไปพร้อม ๆ  กับนักลงทุนอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็น VI รุ่นเก่าและแนว “พันธุ์แท้”  ที่เริ่มมองเห็นว่า  “หุ้น value” ที่เคยหาได้ง่ายมากนั้น  ล้วนมีราคาแพงเกินพื้นฐานไปมาก  คุณภาพของหุ้นที่เล่นกันก็ไม่ได้โดดเด่นมากนักแต่มีการชี้นำหรือเชียร์กันหนักมากในสื่อสังคมต่าง  ๆ  ที่มีท่วมตลาด  ที่สำคัญคือ  ราคาหุ้นเหล่านั้นต่างก็วิ่งกันขึ้นเป็นร้อย ๆ  เปอร์เซ็นต์ในเวลาอันสั้น

ตลาดหุ้นเวียดนามดูเหมือนจะเป็นแห่งแรกของการ “อพยพ” ออกจากตลาดหุ้นไทย  เวียดนามถูกมองว่าอุดมสมบูรณ์มากสำหรับการลงทุนหาทรัพยากรซึ่งก็คือ  ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้จากการลงทุน  เหตุผลหลักตั้งแต่แรกก็คือ  การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีและโครงสร้างพื้นฐานที่จะดีต่อไป  เช่น  ในเรื่องของคนที่ยังเป็นหนุ่มสาวและมีศักยภาพสูงรวมถึงการที่ประเทศอยู่ใกล้และมีวัฒนธรรมใกล้เคียงกับไทยมาก  เป็นเหตุผลสำคัญในช่วงแรกของการลงทุน

หลังจาก “รอบแรก” ของการอพยพไปเวียดนามผ่านไป ความก้าวหน้าของเวียดนามก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ  เศรษฐกิจที่เคยดีกลายเป็น  “ดารา” และโตเร็วเป็นอันดับต้นของอาเซียนและโลก  ถนนทุกสายตอนนี้แทบมุ่งสู่เวียดนาม  อานิสงค์ส่วนหนึ่งจากการเป็นตัวเลือกของฝ่าย “โลกเสรี” ที่กำลังมีปัญหากับจีน  ดัชนีตลาดหุ้นเวียดนามสะท้อนความก้าวหน้านั้น และวิ่งขึ้นไปอย่างรวดเร็วและสูงมากและสูงกว่าไทยสมัยที่ตลาดเคยรุ่งเรือง  นักลงทุนไทยแนว VI รุ่นใหม่เริ่มสนใจลงทุนผ่านกองทุนรวมเวียดนามที่เปิดเพิ่มขึ้นมากมายไม่ต้องพูดถึงกองทุนรวมส่วนบุคคลของกลุ่มคนที่มีความมั่งคั่งสูงที่ซื้อความคิดว่า  เวียดนามคือตลาดที่มีอนาคตในระยะยาว

ต่อจากตลาดหุ้นเวียดนาม  การอพยพยังดำเนินต่อไปยังตลาดหุ้นอเมริกาสำหรับนักลงทุนรุ่นใหม่โดยเฉพาะที่มีการศึกษาจากต่างประเทศที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีและรู้จักบริษัทระดับโลกจำนวนมากที่อยู่ในสหรัฐ  แต่สิ่งที่ทำให้คนสนใจลงทุนในตลาดหุ้นอเมริกาจริง ๆ  น่าจะอยู่ที่ผลตอบแทนตลาดหุ้นอเมริกาโดยเฉพาะในช่วงโควิด19 นั้นเติบโตโดดเด่นมากซึ่งทำให้นักลงทุนไทยลดการลงทุนในตลาดไทยลงและหันไปลงทุนในตลาดหุ้นอเมริกาแทน  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  โครงสร้างพื้นฐานและต้นทุนในการซื้อขายหุ้นสหรัฐนั้นมีประสิทธิภาพและถูกลงมาก

จีนเป็นอีกแห่งหนึ่งที่นักลงทุนอพยพไปหาการลงทุนที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า   คนที่ไปจีนนั้นผมคิดว่าเป็นเพราะหุ้นมีราคา “ถูกมาก” วัดจากมาตรฐานแบบ VI  เช่นค่า  PE และ Market Cap. โดยเฉพาะของหุ้นเทคโนโลยีขนาดยักษ์ทั้งหลาย  อย่างไรก็ตาม  ผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนในหุ้นจีนดูเหมือนว่าจะยังไม่ออกผล  อานิสงค์ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากนโยบายของรัฐบาลจีนที่ในระยะหลังไม่เอื้ออำนวยกับตลาดทุนนัก  ทำให้นักลงทุนหลายคนดูว่าเป็นตลาดที่ยังมีความเสี่ยงสูงเกินไป  และคนที่ไปดูเหมือนว่าจะต้องมีความรู้และความเข้าใจมากกว่าคนที่ไปลงทุนในต่างประเทศอื่น ๆ 

การอพยพจากตลาดหุ้นไทยดูเหมือนว่าจะยังไม่จบ  นักลงทุนต่างชาติเองก็ทยอยอพยพออกต่อเนื่องคิดเป็นเงินหลายแสนล้านบาทในช่วงหลาย ๆ  ปีมานี้  ผมเองก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรที่จะทำให้ไทยเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ในสายตาของนักลงทุนเหมือนดังแต่ก่อน