เจาะ “เฟ้ลปส์ ดอด์จ” บริษัทลูก “STARK" แต่งบัญชีหมื่นล้าน ใครเกี่ยวข้อง?

18 มิ.ย. 2566 | 13:21 น.
อัปเดตล่าสุด :18 มิ.ย. 2566 | 14:09 น.
5.4 k

เปิดข้อมูล “เฟ้ลปส์ ดอด์จ” บริษัทลูก STARK ที่ผู้ตรวจสอบบัญชีพบความผิดปกติ แต่งบัญชี ลูกหนี้การค้าสูงเกินความเป็นจริง 5,005 ล้านบาท จ่ายเงินล่วงหน้าค่าสินค้าให้บริษัทที่เกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่กว่า 10,451 ล้านบาท เกี่ยวข้องกับใครบ้าง

กรณีบริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด ผู้ตรวจสอบบัญชีพบความผิดปกติในการจัดทำบัญชีของบริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (เฟ้ลปส์ ดอด์จ) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ที่มี "วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ" เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ในหลายประเด็น โดยเฉพาะการออกเอกสารขายโดยไม่มีการจัดส่งสินค้าให้ลูกหนี้การค้าสูงเกินความเป็นจริง 5,005 ล้านบาทในปี 2565 และจ่ายเงินล่วงหน้าค่าสินค้าให้แก่เป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกันกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่งกว่า 10,451 ล้านบาท

ความผิดปกติการจัดทำบัญชีของ เฟ้ลปส์ ดอด์จ

ประเด็นที่ 1 เฟ้ลปส์ ดอด์จ ออกเอกสารขายโดยไม่มีการจัดส่งสินค้าให้ลูกหนี้การค้าสูงเกินความเป็นจริงเป็นจำนวน 5,005 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2565 รายได้จากการขายและลูกหนี้การค้า (สุทธิจากภาษีขาย) สูงเกินความเป็นจริงเป็นจำนวน 923 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2564 และรายได้จากการขายและลูกหนี้การค้า (สุทธิจากภาษีขาย) สูงเกินความเป็นจริงเป็นจำนวน 97 ล้านบาท ก่อนปี พ.ศ. 2564 ส่งผลให้มีการรับรู้รายได้จากการขายและลูกหนี้การค้าในปี พ.ศ. 2565 สูงเกินจริงเป็นจำนวนเงิน 1,890 ล้านบาท

เงินที่รับชำระหนี้จากลูกหนี้การค้าไม่ได้มาจากลูกหนี้การค้าแต่ละรายจริง แต่เป็นการรับชำระเงินจากบริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด  ซึ่งเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกันกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่ง และ บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของกลุ่มกิจการ

ประเด็นที่ 2 รายการจ่ายเงินล่วงหน้าค่าสินค้าให้แก่บริษัทคู่ค้าของ เฟ้ลปส์ ดอด์จ จำนวน 3 ราย เป็นจำนวนเงินรวม 10,451 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 65 ของยอดซื้อทองแดงและอลูมิเนียมทั้งปี โดยมีการจ่ายเงินออกไปจริง แต่ไม่ได้จ่ายเงินให้แก่บริษัทคู่ค้าทั้ง 3 ราย แต่เป็นการโอนเงินออกไปให้บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกันกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่ง

เฟ้ลปส์ ดอด์จ ได้บันทึกบัญชีว่าได้รับชำระเงินจากลูกหนี้การค้าต่างประเทศหลายราย ในระหว่างเดือน ธันวาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งบันทึกทางบัญชีระบุว่าได้รับเงินจากการขายสินค้าในปี พ.ศ. 2564 ของบริษัท Thinh Phat Cables Joint Stock Company (TPC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ เฟ้ลปส์ ดอด์จ ที่จดทะเบียนในประเทศเวียดนาม 2 รายการ จำนวน 2,034 ล้านบาท และ 4,052 ล้านบาท แต่จากเส้นทางการรับชำระเงินพบว่าเป็นการโอนเงินจากบริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกันกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่ง

ประเด็นที่ 3  รายการสินค้าคงเหลือที่แสดงในรายงานสินค้าคงเหลือ ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 มีปริมาณสินค้าคงเหลือหลายรายการแสดงปริมาณ (quantity) ติดลบ คิดเป็นเงินรวม 1,375 ล้านบาท แต่เฟ้ลปส์ ดอด์จ บันทึกกลับรายการต้นทุนขายและสินค้าคงเหลือสำหรับรายการขายที่ไม่มีการจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าจริง เป็นจำนวนเงิน 2,222 ล้านบาท และ 91 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2564 และก่อนปี พ.ศ. 2564 ตามลำดับ

ประเด็นที่ 4 รายงานอายุลูกหนี้ (aging report) ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 และ พ.ศ. 2564 ก็ถูกจัดทำอย่างไม่ถูกต้อง เนื่องจากข้อมูลวันที่ในใบแจ้งหนี้และ/หรือวันครบกำหนดชำระในรายงานอายุลูกหนี้ไม่สอดคล้องกับใบกำกับการขาย (sales invoice) ข้อผิดพลาดดังกล่าวมีผลต่อการคำนวณค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตของลูกหนี้การค้า ซึ่งมีผลทำให้การบันทึกค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตจากลูกหนี้การค้าต่ำไปหรือกำไรสุทธิสูงไป 65 ล้านบาท และ 729 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2565 และ พ.ศ. 2564

หากดูจากหมายเหตุประกอบงบการเงินและงบการเงินเฉพาะกิจ ปี 2565 ของผู้ตรวจสอบบัญชีพบว่า ความผิดปกติทางบัญชีที่เกิดขึ้นกับ เฟ้ลปส์ ดอด์จ มี 2 บริษัทเข้ามาเกี่ยวข้อง คือ  บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด  และ บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

ใครเกี่ยวข้องกับ เฟ้ลปส์ ดอด์จ บ้าง?

จากการตรวจสอบของฐานเศรษฐกิจ ผ่านระบบ Creden Data พบว่า  บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2511 ทุนจดทะเบียนล่าสุด 1,900 ล้านบาท วัตถุประสงค์ ผลิตและจำหน่ายสายไฟฟ้าที่ทำจากลวดทองแดงและอลูมิเนียม มีเงินลงทุน ณ สิ้นปี 2565 จำนวน 13,132.17 ล้านบาท

ผู้ถือหุ้น เฟ้ลปส์ ดอด์จ

  1. บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,886,375 หุ้น 99.28 %
  2. กฤดา กาญจนจารี จำนวน 10,754 หุ้น 0.57%
  3. บุษกร กาญจนจารี จำนวน 1,425 หุ้น 0.07%
  4. ปริมล กาญจนจารี จำนวน 1,425 หุ้น 0.07%
  5. สันติภาพ ศรคุปต์ จำนวน 10 หุ้น 0.00%
  6. เฉลิมพรรณ วีระไวทยะ จำนวน 10 หุ้น 0.00%
  7. บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด จำนวน 1 หุ้น 0.00%

กรรมการ เฟ้ลปส์ ดอด์จ

  1. นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ
  2. นายเสรี ยุทธนาวราภรณ์
  3. นายปกรณ์ สุชีวกุล
  4. นายอภิชาติ ตั้งเอกจิต
  5. นายอภิวุฒิ ทองคำ
  6. นายอรรถพล วัชระไพโรจน์

กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม เฟ้ลปส์ ดอด์จ ได้แก่ นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ และ นายอภิชาติ ตั้งเอกจิต ลงลายมือชื่อร่วมกัน และประทับตราสำคัญของบริษัท

จากการตรวจสอบงบการเงินล่าสุด ณ สิ้นปี 2565 พบว่า เฟ้ลปส์ ดอด์จ มีบริษัทลูก3 บริษัท และบริษัทย่อยของบริษัทลูกอีกหลายแห่งวงเงินลงทุนรวมกว่า 8,427 ล้านบาท ดังนี้

บริษัทลูกของ เฟ้ลปส์ ดอด์จ

  • PD Cable (SG) PTE. LTD. จดทะเบียนจัดตั้งที่สิงคโปร์ วัตถุประสงค์ลงทุนในบริษัทอื่น เฟ้ลปส์ ดอด์จ ถือหุ้น 100% เงินลงทุน 0.31 ล้านบาท
  • บริษัท เอ็น เอ็ม เอ็น โฮลดิ้ง 2 จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งในประเทศไทย วัตถุประสงค์ลงทุนในบริษัทอื่น เฟ้ลปส์ ดอด์จ ถือหุ้น 99.99% เงินลงทุน 740.60 ล้านบาท
  • PD (Luxembourg) S.à.r.l. จดทะเบียนจัดตั้งที่ลักเซมเบิร์ก วัตถุประสงค์ลงทุนในบริษัทอื่นเฟ้ลปส์ ดอด์จ ถือหุ้น 100% เงินลงทุน  0.45 ล้านบาท

บริษัทย่อยภายใต้ PD Cable (SG) PTE. LTD.

  •  Thinh Phat Cables Joint Stock Company จดทะเบียนจัดตั้งที่เวียดนาม วัตถุประสงค์ ผลิตและจำหน่ายสายไฟฟ้า PD Cable (SG) ถือหุ้น 99.99% เงินลงทุน  5,317.89 ล้านบาท
  • Dong Viet Non-Ferrous Metal and Plastic Joint Stock Company จดทะเบียนจัดตั้งที่เวียดนาม วัตถุประสงค์ ผลิตและจำหน่ายสายไฟฟ้า PD Cable (SG) ถือหุ้น 99.99% เงินลงทุน 1,167.34 ล้านบาท

บริษัทย่อยภายใต้บริษัท เอ็น เอ็ม เอ็น โฮลดิ้ง 2 จำกัด

  • บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งในไทย วัตถุประสงค์ผลิตและจำหน่ายสายไฟฟ้า เอ็น เอ็ม เอ็น โฮลดิ้ง 2  ถือหุ้น 99.99% เงินลงทุน 1,200 ล้านบาท
  • บริษัทย่อยภายใต้บริษัท PD (Luxembourg) S.à.r.l. 2
  • PD Cable (Germany) GmbH  จดทะเบียนจัดตั้งที่เยอรมนี วัตถุประสงค์บริหารสินทรัพย์  PD (Luxembourg) S.à.r.l. 2 ถือหุ้น 100% เงินลงทุน 0.91 ล้านบาท
  • PD Investments (Germany) GmbH & Co. KG จดทะเบียนจัดตั้งที่เยอรมนี วัตถุประสงค์ลงทุนในบริษัทอื่น PD (Luxembourg) S.à.r.l. 2 ถือหุ้น 100% เงินลงทุน 0.02 ล้านบาท

บริษัทย่อยภายใต้บริษัท PD Investments (Germany) GmbH & Co. KG

  • PD (Germany) Holdings GmbH จดทะเบียนจัดตั้งที่เยอรมนี วัตถุประสงค์ลงทุนในบริษัทอื่น PD Investments (Germany)  ถือหุ้น 100% เงินลงทุน 0.92 ล้านบาท

บริษัทย่อยภายใต้บริษัท PD (Germany) Holdings GmbH

  • PD (US) Holdings Inc. จดทะเบียนจัดตั้งที่สหรัฐอเมริกา วัตถุประสงค์ลงทุนในบริษัทอื่น PD (Germany) Holdings GmbH ถือหุ้น 100%

แหล่งข่าวจาก STARK เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า ประเด็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเฟ้ลปส์ ดอด์จ เป็นผลมาจากการที่บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด ผู้ตรวจสอบบัญชีตรวจสอบพบความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับงบการเงินของ STARK และบริษัทลูกในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา จนได้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงกรรมการครั้งสำคัญใน STARK และบริษัทลูก รวมถึง เฟ้ลปส์ ดอด์จ

โดยกลุ่มของนายชนินทร์ เย็นสุดใจ ที่นั่งเป็นประธาน และเป็นคีย์แมนคนสำคัญในการบริหาร เฟ้ลปส์ ดอด์จ มาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2558 ได้ลาออกพร้อมกับกรรมการคนอื่นอีก 7 คน จากนั้นได้มีการแต่งตั้งกรรมการเข้ามาใหม่ 4 คน โดยนายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ที่เคยเป็นกรรมการแต่ไม่ได้เข้าไปบริหาร ก็เข้ามาเป็นประธานกรรมการบริหารงานด้วยตัวเอง

สำหรับกรรมการเฟ้ลปส์ ดอด์จ 8 คนที่ออกไปในปี 2566 ประกอบด้วย นายชนินทร์ เย็นสุดใจ , นายทรงภพ พลจันทร์ , นายกุศล สังขนันท์ , นายประกรณ์ เมฆจำเริญ , นายนิติ จึงนิจนิรันดร์ , นายนิรุทธ เจียกวธัญญู , นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ , นายชินวัฒน์ อัศวโภคี

ส่วนกรรมการเฟ้ลปส์ ดอด์จ 4 คนที่แต่งตั้งเข้ามาใหม่ ประกอบด้วย นายอรรถพล วัชระไพโรจน์ , นายอภิชาติ ตั้งเอกจิต , นายปกรณ์ สุชีวกุล , นายอภิวุฒิ ทองคำ

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2566 ภายหลังนายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ เข้ามาเป็นรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร STARK ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการตรวจสอบความผิดปกติทางบัญชีว่า บริษัทได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ (DSI) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อให้สืบสวนและสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดดำเนินคดีและลงโทษตามกฎหมายจนถึงที่สุด

ตอนต่อไปฐานเศรษฐกิจ จะเจาะลึกบริษัทที่ถูกระบุว่าเข้ามาเกี่ยวข้องกับความผิดปกทางบัญชีของ เฟ้ลปส์ ดอด์จ อีก 2 บริษัท  คือ  บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด  และ บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด