ธ.ก.ส.ลั่น ปีบัญชี 2566 กดเอ็นพีแอลต่ำกว่า 6.70%

29 เม.ย. 2566 | 17:04 น.
อัปเดตล่าสุด :29 เม.ย. 2566 | 17:04 น.

ธ.ก.ส.เผยผลงานปีบัญชี 65 ปล่อยสินเชื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชนบทพุ่ง 8.78 แสนล้านบาท ส่งผลยอดสินเชื่อคงค้าง 1.64 ล้านล้านบาทตั้งเป้าปี 66 ปล่อยสินเชื่อเพิ่ม 3.5 หมื่นล้านบาท กดเอ็นพีแอลให้ต่ำกว่า 6.7%

นายไพศาล หงษ์ทอง ผู้ช่วยผู้จัดการและโฆษกธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ปีบัญชี 2566 (1 เม.ย.2566 - 31 มี.ค.2567) ธ.ก.ส.วางเป้าหมายสินเชื่อเติบโตเพิ่มขึ้นมากกว่า 35,000 ล้านบาท จากปีบัญชี 2565( 1 เม.ย.2565- 31 มี.ค. 2566) ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนสินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคชนบทระหว่างปีถึง 878,338 ล้านบาท ทำให้มียอดสินเชื่อสะสมทั้งสิ้น 1,636,778 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากต้นปีบัญชี 30,509 ล้านบาทหรือ 1.90% และเงินฝากตั้งเป้าเติบโตเพิ่มขึ้นมากกว่า 12,000 ล้านบาท จากยอดเงินฝากสะสม 1,829,549 ล้านบาท

นายไพศาล หงษ์ทอง ผู้ช่วยผู้จัดการและโฆษกธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

สื้นปีบัญชี 2565 ธ.ก.ส.มีสินทรัพย์รวม 2,262,121 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.15% หนี้สินรวม 2,109,120 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.08%และส่วนของเจ้าของ 153,001 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.15% และมีกำไรสุทธิ  7,989 ล้านบาท ด้านอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย(ROA) อยู่ที่ 0.36%  อัตราตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) อยู่ที่ 5.38%  ขณะที่สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) อยู่ที่ 7.68%  ต่อสินเชื่อรวมและตั้งเป้าปีบัญชี 2566 จะดูแลให้อยู่ที่ระดับต่ำกว่า  6.70%

นายไพศาล กล่าวเพิ่มเติมว่า ธ.ก.ส.ในฐานะที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล โดยปีบัญชี 2565 ได้ดำเนินมาตรการและโครงการสำคัญๆ ได้แก่ มาตรการรักษาเสถียรภาพด้านราคาสินค้าเกษตร ผ่านโครงการต่างๆคือ 

  • โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 โดยโอนเงินส่วนต่างเพื่อชดเชยเป็นรายได้ให้แก่เกษตรกรในกรณีสินค้าราคาตกต่ำ มีเกษตรกรได้รับประโยชน์จากการรับโอนเข้าบัญชีโดยตรงไปแล้วกว่า 2.6 ล้านราย เป็นเงินกว่า 7,863.72 ล้านบาท
  • โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพื่อช่วยเหลือด้านต้นทุนการผลิตและการเก็บเกี่ยวในอัตรา   ไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ มีเกษตรกรได้รับประโยชน์ 4.6 ล้านราย เป็นจำนวนเงินกว่า 54,020.70 ล้านบาท

 

  • โครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยตัดสดเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 เพื่อบรรเทาปัญหาผลผลิตที่ล้นตลาดทำให้ราคาผลผลิตตกต่ำ และช่วยสนับสนุนรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย โดยโอนเงินส่วนต่างแก่เกษตรกรไปแล้วกว่า 114,890 ราย เป็นเงินกว่า 8,110.96 ล้านบาท
  • โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 31,747 ราย จำนวนเงินกว่า 22,496.99 ล้านบาท โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร มีองค์กรและสถาบันเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 58 แห่ง จำนวนเงินกว่า 4,258.11 ล้านบาท
  • โครงการลดต้นทุนการผลิตกุ้งทะเลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน สนับสนุนสินเชื่อไปแล้วกว่า 14.67 ล้านบาท
  • โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาการเกษตรแบบแปลงใหญ่ สนับสนุนสินเชื่อไปแล้วจำนวน 6,308.38 ล้านบาท
  • โครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย มีเกษตรกรเข้าร่วมจำนวน 1,593 ราย เป็นจำนวนเงิน 14,586 ล้านบาท
  • โครงการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยสนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้เกษตรกรไปแล้วกว่า 2,852 ล้านบาท สินเชื่อฉุกเฉินสำหรับเกษตรกรผู้ประสบภัยธรรมชาติและภัยพิบัติไปแล้วกว่า 13.36 ล้านบาท

นอกจากนี้ธ.ก.ส. ยังได้ดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงการคลังในการเป็นหน่วยงานรับลงทะเบียนของโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ โดยจัดเตรียมอัตรากำลัง เครื่องมืออุปกรณ์และสถานที่ ผ่านการตั้งจุดลงทะเบียนที่สาขา ธ.ก.ส. กว่า 1,200 สาขาทั่วประเทศ รวมถึงประสานหน่วยงานในพื้นที่ เช่น อบต. กำนันและผู้ใหญ่บ้าน กำหนดจุดให้บริการนอกสถานที่ เพื่อลดภาระการเดินทางและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ลงทะเบียนในการเข้าร่วมโครงการพร้อมกับ การลงทะเบียนยืนยันตัวตน (E-KYC) โดยมีผู้มาลงทะเบียนกับ ธ.ก.ส. ทั้งสิ้นกว่า 6 ล้านคน

ด้านความยั่งยืน ธ.ก.ส. ได้ขับเคลื่อนกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในการเข้าไปดูแลชุมชนตามหลัก BCG Model ได้แก่

  • โครงการแก้หนี้ แก้จนตามหลัก D&MBA โดยดำเนินการไปแล้ว 77 แห่งทั่วประเทศ ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มและลดต้นทุนการผลิตไปแล้วจำนวน 7,600 ราย
  • โครงการยกระดับธนาคารต้นไม้สู่ชุมชนไม้มีค่า กว่า 404 ชุมชน
  • โครงการปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ปลูกต้นไม้ไปแล้ว 150,790 ต้น รวมต้นไม้ที่ ธ.ก.ส.สนับสนุนดูแล 12,414,477 ต้น
  • โครงการการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เพื่อพัฒนาศักยภาพกลุ่มเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชนที่เป็นผู้ใช้น้ำให้ยกระดับไปสู่ชุมชนผู้ผลิต โดยเติมองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้น้ำบาดาลและระบบกระจายน้ำบาดาล เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและการบริหารน้ำบาดาลสำหรับ การทำเกษตรกรรม โดยมีชุมชนที่เข้าร่วมโครงการแล้ว 1,670 แห่ง ทั่วประเทศ

นอกจากนั้นยังมีโครงการลดการเผาวัสดุทางการเกษตรในพื้นที่การปลูกข้าวและอ้อยเพื่อลดค่า PM 2.5 สนับสนุนการนำฟางข้าวและใบอ้อยมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยลดของเสียจากเศษวัสดุการเกษตรให้เป็นศูนย์ (Zero waste) และเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุการเกษตร ซึ่งมีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเข้าร่วมโครงการ คิดเป็นพื้นที่ทำนารวม 25,850 ไร่ และเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเข้าร่วมโครงการ คิดเป็นพื้นที่ปลูกอ้อย รวม 397,198 ไร่

โครงการดังกล่าวสามารถสร้างรายได้หมุนเวียนเพิ่มให้กับเกษตรกรกว่า 420 ล้านบาท จากการบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังพร้อมสนับสนุนภาคเกษตรกรรมในการผลิตอาหารปลอดภัย (Food Safety) ผ่านการส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ และการใช้พลังงานทางเลือกหรือพลังงานสะอาด รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติผ่านสินเชื่อ Green Credit และสินเชื่อรักษ์ป่าไม้ไทยยั่งยืนอีกด้วย

สำหรับปีบัญชี 2566 ธ.ก.ส.ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนอย่างยั่งยืน โดยส่งเสริมการพัฒนาอาชีพ สร้างวินัยทางการเงินและการออมเงิน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สนับสนุนการแปรรูปและอุตสาหกรรมการเกษตร เน้นการเชื่อมโยงกับเครือข่ายด้านการเกษตรตลอดห่วงโซ่คุณค่า ขับเคลื่อนนวัตกรรมการเกษตรไปสู่เกษตรมูลค่าสูง เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตและสร้างรายได้ที่มั่นคงยั่งยืนให้กับเกษตรกร

นอกจากนั้นยังจะมีการสร้างแพลตฟอร์มในการให้บริการแบบครบวงจร ตอบโจทย์ความต้องการในยุคดิจิทัล ทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลด้านการผลิต การเชื่อมโยงห่วงโซ่ธุรกิจภาคการเกษตร ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อให้เกษตรกรสามารถวางแผนการผลิตและสามารถจำหน่ายสินค้าเกษตร ได้ตรงกับความต้องการตลาดอย่างแท้จริง

 

ด้านการยกระดับชุมชนสู่ความยั่งยืน ธ.ก.ส. มุ่งเน้นการพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานรากภายใต้ BCG Model ได้แก่

  • การสนับสนุนเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัย
  • การยกระดับการผลิตสู่เกษตรมูลค่าสูง
  • การนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Zero Waste)และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
  • การสนับสนุนคนรุ่นใหม่ (New Gen) ทายาทเกษตรกร และ Smart Farmer  เข้าทดแทนเกษตรกรที่มีอายุมากขึ้น
  • การยกระดับและต่อยอด SMEs วิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์การเกษตรสู่การเป็นเกษตรหัวขบวน
  • การสนับสนุนช่องทางการจำหน่ายให้กับเกษตรกรทั้งออฟไลน์และออนไลน์
  • การจับคู่ธุรกิจ การร่วมลงทุน (Venture Capital) กับบริษัทที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะมาช่วยสนับสนุนและต่อยอดธุรกิจการเกษตร หรือเป็น หัวขบวนที่จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาและสร้างเกษตรมูลค่าสูง
  • การสนับสนุนและยกระดับชุมชนที่มีความพร้อมไปสู่ชุมชนอุดมสุขที่มีความมั่นคงทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการร่วมมือกับภาคีเครือข่ายผ่านโครงการ 1 University 1 Community (1U1C) ในการเติมองค์ความรู้ด้านการพัฒนาการเกษตรอย่างต่อเนื่อง

นายไพศาล กล่าวอีกว่า ธ.ก.ส. มุ่งมั่นในดำเนินการตามพันธกิจในการเป็นธนาคารพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน และพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับความสำเร็จให้กับเกษตรกรสู่อนาคตที่ดีกว่าอย่างยั่งยืน โดยก้าวเดินและเติบโตไปพร้อม ๆ กับธนาคาร ดั่งปณิธานของ ธ.ก.ส. ที่มุ่งมั่นในการสร้าง Better Life , Better Community , Better Pride เพื่อยกระดับชีวิตเกษตรกรไทยสู่สังคมที่ภาคภูมิ