คลังเร่งปิดบัญชี พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท

15 เม.ย. 2566 | 16:04 น.
อัปเดตล่าสุด :15 เม.ย. 2566 | 16:26 น.

คลังเร่งปิดบัญชีพ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ชี้เบิกจ่ายแล้ว 97.81% ยังมีวงเงินคงเหลืออยู่ 9 พันล้านบาท เหตุมีโครงการเบิกจ่ายต่ำแผน สบน.ขีดเส้น 3 เดือน ส่งเงินกู้ส่วนที่เหลือคืน พร้อมลุยประเมินผลการใช้จ่าย

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ขณะนี้มีโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 หรือพ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทที่ยังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินงาน ทำให้คณะกรรมการประเมินผลการใช้จ่ายเงินกู้ไม่สามารถสรุปภาพรวมและประเมินผลการใช้จ่ายเงินได้แล้วเสร็จ

ทั้งนี้ข้อมูล ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 พบว่า มีโครงการที่ดำเนินการเสร็จแล้ว 675 โครงการ มีผลการเบิกจ่ายรวม 429,691 ล้านบาท คิดเป็น 97.81% ของวงเงินที่ใช้จริงภายใต้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติและมีวงเงินคงเหลือรวมทั้งสิ้น 9,610.61 ล้านบาท

โครงการที่มีความก้าวหน้าน้อยหรือผลการเบิกจ่ายต่ำกว่า 50% มี 2 โครงการ มีผลการเบิกจ่ายสะสม 491.24 ล้านบาท คิดเป็น 20% ของแผนการเบิกจ่ายสะสมคือ โครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ChulaCov19 mRNA และโครงการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและทดสอบวัคซีนและเภสัชภัณฑ์ในลิงมาร์โมเส็ท

คลังเร่งปิดบัญชี พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท

นอกจากนั้นยังมีโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากปี 2565 จำนวน 2,423 โครงการพบว่า มีโครงการที่สิ้นสุดโครงการและไม่มีการเบิกจ่ายกว่า 53 โครงการ วงเงินอนุมัติรวม 254.88 ล้านบาท

ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว คณะกรรมการการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ จึงสั่งการกรณีโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งดำเนินการคืนวงเงินเหลือจ่าย โดยต้องตรวจสอบความถูกต้องการเบิกจ่ายวงเงินให้ครบถ้วน ก่อนจัดส่งรายงงานผลสำเร็จของโครงการให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ส่วนโครงการที่มีความก้าวหน้าน้อยมอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการเร่งดำเนินการให้เสร็จภายในกรอบระยะเวลาที่ได้รับการอนุมัติจากครม.

ขณะที่กรณีโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากที่สิ้นสุดโครงการและไม่มีการเบิกจ่าย ได้มอบหมายให้หน่วยงานรับผิดชอบได้แก่ กรณีที่ได้ลงนามผูกพันสัญญาภายในเดือนพฤศจิกายน 2565 ให้เร่งดำเนินการขอขยายเวลาโครงการแล้วส่งให้คณะกรรมการกลั่นกรองฯ เพื่อเสนอขออนุมัติต่อครม.ตามขั้นตอนต่อไป และกรณีที่ยังไม่ได้ผูกพันสัญญาให้หน่วยงานรับผิดชอบเร่งเสนอขอยกเลิกโครงการตามขั้นตอน เพื่อให้เป็นไปตามมติครม.ที่ระบุไว้เมื่อปี 2565

ขณะเดียวกันสบน.ได้กำหนดแนวทางปิดบัญชีเงินกู้ 5 แสนล้านบาท ซึ่งหน่วยงานรับผิดชอบโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้นั้น ต้องดำเนินโครงการและเบิกจ่ายเงินให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลาที่ได้รับอนุมัติจากครม.รวมถึงต้องส่งเงินกู้ที่เหลือคืนเข้าบัญชีเงินกู้ตามพ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ภายใน 3 เดือน นับจากวันที่สิ้นสุดโครงการเพื่อให้สบน. รวบรวมข้อมูลแล้วทำการปิดบัญชี

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า สบน.อยู่ระหว่างประเมินผลการใช้จ่ายเงินภายใต้โครงการเงินกู้ 5 แสนล้านบาท โดยบางส่วนได้ทยอยประเมินผลไปแล้ว แต่ยังมีบางโครงการที่ยังเบิกจ่ายไม่แล้วเสร็จ และบางโครงการที่ขอยกเลิกไป

คลังเร่งปิดบัญชี พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท

คณะกรรมการประเมินผลการใช้จ่ายเงินกู้ จึงรอโครงการเหล่านั้นให้แล้วเสร็จก่อน เพราะการประเมินผลโครงการจะทำได้เมื่อปิดโครงการเท่านั้น ดังนั้นภาพรวมการประเมินผลการใช้เงินกู้ 5 แสนล้านบาท จึงดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ส่วนโครงการที่ยกเลิกไป วงเงินที่อนุมัติไว้ก็จะถูกพับแล้วนำเงินส่วนนั้นส่งคืนคลัง

“เราทยอยประเมินผลการใช้จ่ายเงินกู้ 5 แสนล้านบาท หากมีการปิดบัญชีโครงการแล้วจะต้องประเมินผลให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน” นางแพตริเซียกล่าว

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,879 วันที่ 16 - 19 เมษายน พ.ศ. 2566