ธปท.จับตา 3ปัจจัยหลังก.พ-มี.ค.เศรษฐกิจฟื้นต่อเนื่อง

31 มี.ค. 2566 | 20:12 น.
อัปเดตล่าสุด :31 มี.ค. 2566 | 20:32 น.

เศรษฐกิจไทยเดือนก.พ.-มี.ค.ปี66 ดีขึ้นต่อเนื่อง ธปท.จับตา 3ปัจจัยระยะต่อไป "สถานการณ์โลก ปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐ-ยุโรป-นักท่องเที่ยวจีนและผลการส่งผ่านต้นทุนดอกเบี้ย"

ธปท.เผยเศรษฐกิจไทยเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมปี2566  ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้ง "ส่งออก  ท่องเที่ยว  การลงทุน การบริโภค และดุลบัญชีเดินสะพัดพลิกเป็นบวก

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือนภุมภาพันธ์ 2566 โดยระบุว่า   เศรษฐกิจไทยปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนในทุกองค์ประกอบ

ทั้ง การส่งออกสินค้าปรับเพิ่มขึ้น เมื่อหักการส่งออกทองคำและขจัดปัญหาฤดูกาลแล้ว โดยติดลบ 4.1%จากเดือนก่อนหน้าติดลบ 3.4%

สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม เมื่อขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้น 1.5% จากเดือนก่อน 0.6% และเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน 2.0%เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.6%ตามการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์เป็นสำคัญ

รวมถึงเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 3.9% โดยเฉพาะหมวดสินค้าคงทน  ตามยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลจากการทยอยส่งมอบรถยนต์ตามคำสั่งซื้อในช่วงก่อนหน้า

โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า(EV)ที่มีการเปิดตัวรุ่นใหม่ และยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ที่เพิ่มขึ้น สำหรับการใช้จ่ายในหมวดสินค้ากึ่งคงทน เพิ่มขึ้นตามการนำเข้าและยอดขายปลีกเสื้อผ้า และเครื่องนุ่งห่ม 

ธปท.จับตา 3ปัจจัยหลังก.พ-มี.ค.เศรษฐกิจฟื้นต่อเนื่อง

ด้านกิจกรรมในภาคบริการการฟื้นตัวต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีจำนวนนักท่องเที่ยว 2.1ล้านคนเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน  โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนหลังทางการจีนอนุญาต ให้นักท่องเที่ยวแบบกรุ๊ปทัวร์ สามารถเดินทางมาไทยได้ และนักท่องเที่ยวอินเดีย หลังทางการยกเลิกมาตรการให้ผู้ที่เดินทางจากไทยต้องตรวจ RT -PCR ก่อนกลับเข้าประเทศ

ด้านรายจ่ายของรัฐบาล(ไม่รวมเงินโอน) ขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากรายจ่ายประจำของรัฐบาลกลาง ที่ขยายตัว  22.5% ตามการจัดสรรงบประมาณของหน่วยงานด้านการศึกษาที่เร็วกว่าปกติ และ

จากการเบิกจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญ และค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางหดตัว 7.6% หลังจากเร่งเบิกจ่ายไปแล้วในช่วงก่อนหน้า สำหรับรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัว 132% ตามการเบิกจ่าย ในโครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย- จีนเป็นสำคัญ

ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินว่า  อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ ที่ระดับ 3.79% จากเดือนก่อนอยู่ที่ 5.02%โดยลดลงจากทั้งหมวดพลังงานและหมวดอาหารสด   

ส่วนหนึ่งมาจากผลของฐานสูงในปีก่อน ประกอบกับราคาผักและผลไม้ที่ลดลง ตามผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากขึ้นอย่างไรก็ตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลก

สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.93%จาก 3.04% จากผลของฐานสูง ที่ต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มขึ้นในระยะเดียวกันปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ราคาอาหารสำเร็จรูปยังปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนที่อยู่ในระดับสูง 

ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลที่ 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเกินดุลจากดุลการค้าที่เกินดุล จากมูลค่าส่งออกที่เพิ่มขึ้นขณะที่มูลค่าการนำเข้าลดลง ด้านดุลบริการ รายได้และเงินโอน เกินดุลลดลงจากรายจ่ายทรัพย์สินทางปัญญาที่เพิ่มขึ้น และรายได้จากการลงทุนที่ลดลงสำหรับดุลบัญชีดุลการชำระเงินขาดดุลที่ 1.800ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ธปท.จับตา 3ปัจจัยหลังก.พ-มี.ค.เศรษฐกิจฟื้นต่อเนื่อง
ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐเฉลี่ยอ่อนค่า จากตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าที่คาด  หลังตัวเลขการจ้างงานและอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง

และ ข้อมูลถึงวันที่ 29 มีนาคม 2566 ความผันผวนของเงินบาท เทียบดอลลาร์สหรัฐปรับสูงขึ้น สอดคล้องกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาคจากความกังวลต่อเสถียรภาพของระบบการเงินในสหรัฐและอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐที่ยังทรงตัวในระดับสูง

นายสักกะภพกล่าวเพิ่มเติมว่า แนวโน้มเศรษฐกิจ เดือนมีนาคม 2566 และระยะต่อไป มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยต้องติดตาม 3 ปัจจัยได้แก่ 


1.แนวโน้มเศรษฐกิจโลก และปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐและยุโรป
 2. ผลของการเปิดประเทศและการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน และ
 3. การส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่อาจเพิ่มขึ้น และผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค