ทีทีบี"แนะหาตลาดส่งออกที่มีศักยภาพ เสี่ยงหดตัวสูง กดจีดีพีไทย

21 มี.ค. 2566 | 18:05 น.
อัปเดตล่าสุด :22 มี.ค. 2566 | 09:19 น.

ทีทีบีชี้ ภาคการเงินในสหรัฐ-ยุโรป เป็นแค่ปัญหารายธนาคาร ไม่ใช่วิกฤตการเงิน ย้ำโครงสร้างเงินฝากระบบการเงินไทยแตกต่างSVB -มองเศรษฐกิจไทยอ่อนไหวต่อการค้าโลก-ห่วงส่งออกอาจหดตัว กดจีดีพีไม่ถึง 3.0% แนะหาตลาดที่มีศักยภาพ

นายนริศ  สถาผลเดชา  รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี หรือttb  analytics กล่าวว่า  ปีนี้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง แต่ยังไม่ใช่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่วิกฤติ   และ ปัญหาภาคการเงินในสหรัฐ-ยุโรปเป็นแค่ปัญหารายธนาคาร 

ไม่ใช่ปัญหาเชิงระบบ ไม่ใช่วิกฤตการเงิน โดยระบบการเงินของสหรัฐและยุโรปโดยรวมแข็งแกร่งมาก  เห็นได้จากเมื่อเกิดปัญหาในเครดิตสวิส ทางUBSเข้าซื้อ สะท้อนความสามารถในการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินโลกยังดีอยู่

ส่วนตัวยังมองว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) และธนาคารกลางยุโรป(ECB)จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อ โดยเฟดจะปรับดอกเบี้ยในอัตรา 0.25%โดยไม่ปรับขึ้นในอัตราแรงเท่าเดิม  ซึ่งเฟดคงจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2ครั้งจากระดับ 4.75% เป็น 5.2-5.5%โดยไม่ทะลุถึง 6.0% และเฟดจะพยายามช่วยด้านสภาพคล่องให้กับระบบการเงิน

โดยเฉพาะช่วยเหลือธนาคารท้องถิ่นขนาดเล็กที่อาจจะมีปัญหาเพิ่มขึ้นบ้าง  แต่ย้ำว่ารอบนี้ไม่ใช่วิกฤติของสถาบันการเงิน

อย่างไรก็ดี ภาคการเงินต่างประเทศมีความเชื่อมโยงกับระบบการเงินไทยอยู่ในระดับต่ำมาก ไม่ต้องกังวล ระบบการเงินไทยมีฐานเงินฝากแข็งแกร่งมาก ส่วนใหญ่เป็นเงินฝากรายย่อยเป็นเงินฝากที่มีคุณภาพสูงมีสัดส่วนถึง 65%ยอดเงินฝากเกือบ 9ล้านล้านบาท 

ส่วนใหญ่ 74%อยู่ในCASA หรือบัญชีเงินฝากออมทรัพย์และบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของระบบการเงินไทย

สะท้อนการกระจายตัวดี,เงินฝากของภาคธุรกิจราว  5ล้านล้านบาทสัดส่วนประมาณ 35%   จึงไม่เจอสถานการณ์แบบSVB: Silicon Valley Bank (SVB)ที่มีโครงสร้างเงินฝากสลับกับไทย นอกจากนี้สัดส่วนเงินฝากต่อจีดีพีประมาณ 140%ดังนั้นฐานเงินฝากของไทยแข็งแกร่ง ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)ปรับลดลงต่อเนื่องปัจจุบันทั้งระบบNPLอยู่ที่ 2.7% โดยหนี้รายย่อยและภาคธุรกิจปรับลดลง  แต่ยังคงอยู่ในกลุ่มเอสเอ็มอีสูงราว 8%

“ยอดหนี้คงค้างของเอสเอ็มอีปรับลดลง  โดยรวมคุณภาพสินเชื่อปรับไปในทิศทางดีขึ้น  ขณะที่เงินกองทุนขั้นที่1อยู่ในระดับสูงที่ 16.5% เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงเกือบ 20%และกันสำรองต่อหนี้เสียอยู่ประมาณ 180%เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงสินทรัพย์สภาพคล่องในระบบจำนวน 5ล้านล้านบาทและกันLCR190%”

นายนริศกล่าวถึงเศรษฐกิจไทยว่า  ตอนนี้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนด้วย  3เครื่องยนต์หลัก คือ  1.ภาคการท่องเที่ยวจะกลับมาปีนี้คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยว 29.5ล้านคน บวกไทยเที่ยวไทยอีก 1.1ล้านคน  2.การบริโภคในประเทศกลับมาโตอีก 4%จากปีที่แล้วโต 6% เป็นแรงส่ง แต่เรื่องที่ 3.การส่งออกไทยปีนี้โอกาสไม่โตหรือหดตัวมีสูงมาก ไม่ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้ามา 30ล้านคน แต่ถ้าส่งออกไม่เติบโตหรือหดตัวมากโอกาสที่จีดีพีไทยโตไม่ถึง 3%

“เศรษฐกิจไทยปีนี้จะโต 3.4%ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้ก่อนโควิด โดยอาจต้องใช้เวลาอีก 1-2ปีกว่าจีดีพีจะกลับมาเติบโตตามศักยภาพ  ทั้งนี้การเติบโตจีดีพีที่ 3.4%บนสมมติฐานบริโภคเอกชน 3.9% การลงทุนเอกชนโต 1.2%ชะลอลงจากปีที่แล้วโต 5.5%  การลงทุนภาครัฐ 2.0%ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดว่าจะเพิ่มเป็น 29.5%จาก 11.2ล้านคนปีที่แล้วนักท่องเที่ยวจีนน่าจะกลับมา 5ล้านคน  อาเซียนเที่ยวกันเองประมาณ 10ล้านคน แม้ภาคท่องเที่ยวจะมีโอกาสอัพไซด์ แต่สัดส่วนต่อจีดีพีมีเพียง 12%   ส่วนส่งออกอาจจะลบ 0.5% ทั้งหมดประเมินรวมเรื่องการเลือกตั้งแล้ว”

ส่วนอุตสาหกรรมที่พึ่งกำลังซื้อในประเทศยังไปได้ดี  ทั้ง ชิ้นส่วนยานยนต์  รถยนต์  อาหาร  เครื่องดื่ม  เภสัชภัณฑ์  แต่อุตสาหกรรมที่ต้องระวังและพึ่งพาการส่งออก ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์  คอมพิวเตอร์  เครื่องประดับ  ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณกำลังการผลิตชะลอ

ทีทีบี\"แนะหาตลาดส่งออกที่มีศักยภาพ เสี่ยงหดตัวสูง กดจีดีพีไทย

นายนริศกล่าวเพิ่มเติมว่า ปีนี้จีดีพีไทยมีความอ่อนไหวต่อการค้าโลก โดยสมมติฐาน  ถ้าจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาเป็น 32-33ล้านคน  การส่งออกอยู่ที่ลบ  0.5%โอกาสที่จีดีพีไทยจะเติบโต 4%

แต่ถ้าสมมติการค้าโลกดี  ส่งออกไทยโต 1.0% และนำเข้าโต 1.0%จำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามา  29.5ล้านคน  มีโอกาสเห็นจีดีพีโต 4.3% ในทางกลับกันถ้าการส่งออกติดลบ 3.0% แม้จำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามา 29.5ล้านคน จีดีพีไทยจะอยู่แค่ 1.9%

อย่างไรก็ดี  กรณีฐาน ถ้าจีดีพีขยายตัว 3.4% การส่งออกติดลบ 0.5% นำเข้าขยายตัว 1.0% ดุลบัญชีเดินสะพัดยังกลับมาเกินดุลอ่อนๆ และช่วยพยุงค่าเงินบาทไม่ให้ไหลลงมาก

นอกจากนี้หนี้ครัวเรือนยังเป็นอีกความเสี่ยงที่ต้องระวัง  โดยต้องจับตา สินเชื่อส่วนบุคคลที่เติบโตเฉียด 10% ซึ่งโตค่อนข้างแรง และดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง ส่วนทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของไทยปีนี้  ด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและระดับราคาพลังงานที่ปรับลด  โดยอัตราเงินเฟ้อไม่ได้เป็นปัจจัยกดดันต่อการดำเนินนโยบายการเงิน จึงมองดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะทยอยปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปอีก 2ครั้งๆละ 0.25%และกลางปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 2.00%ต่อปี

สำหรับค่าเงินบาทช่วงนี้มีความผันผวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยภายในวันเดียวเงินบาทผันผวน 70-80สตางค์จากสมัยก่อนผันผวน(อ่อนค่าหรือแข็งค่าสุด)ต่อวันประมาณ 30-40สตางค์  แต่ทั้งปีคาดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวที่ระดับ 33-34บาทต่อดอลลาร์โดยยังรักษามูลค่าและมีเสถียรภาพหากเทียบสกุลเงินภูมิภาคเงินบาทแข็งค่าเป็นอันดับ3ของภูมิภาค  โดยค่าเงินวอนอ่อนค่าแทบจะเป็นอันดับสุดท้ายของภูมิภาค

ขณะที่ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยก็ไม่น่ากังวล  แม้ว่าทั้งโลกจะเผชิญเรื่องหนี้สาธารณะจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ  ท่ามกลางรายได้สุทธิปรับลดก็ตาม  โดยระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยสัดส่วนอยู่ที่ 61% โดยความเสี่ยงด้านการคลังของไทยค่อนข้างต่ำ

 

 

ทีทีบี\"แนะหาตลาดส่งออกที่มีศักยภาพ เสี่ยงหดตัวสูง กดจีดีพีไทย

สำหรับข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายทางเศรษฐกิจที่สำคัญในปีนี้ คือ
 1) การมองหาตลาดส่งออกสินค้าที่ยังมีศักยภาพเติบโตได้ต่อเนื่องท่ามกลางโลกที่ท้าทาย อาทิ กลุ่มตะวันออกกลาง อินเดียและกลุ่มอาเซียน ฯลฯ 
2) มาตรการบรรเทาค่าครองชีพแก่กลุ่มครัวเรือนและดูแลกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กที่เปราะบาง อาทิ มาตรการลดค่าครองชีพในหมวดสินค้าจำเป็น มาตรการช่วยเหลือค่าน้ำค่าไฟฟ้า มาตรการช่วยผ่อนคลายต้นทุนของธุรกิจ SMEs และ 
3) มาตรการทางการเงินและสินเชื่อจากภาคสถาบันการเงินเพื่อดูแลลูกหนี้กลุ่มเปราะบางเป็นรายกรณี เป็นต้น