กูรูมองเฟิร์สท์ รีพับลิค แบงก์ ไปไม่รอด แม้ได้เงินแบงก์ใหญ่ต่อลมหายใจ

18 มี.ค. 2566 | 05:19 น.
อัปเดตล่าสุด :18 มี.ค. 2566 | 06:24 น.
743

ถึงแม้เฟิร์สท์ รีพับลิค แบงก์ (FRB) จะได้รับเงินอัดฉีดในรูปเงินฝากจากธนาคารรายใหญ่วานนี้ (17 มี.ค.) แต่ผู้เชี่ยวชาญก็เชื่อว่าความช่วยเหลือนี้จะพยุง FRB ได้เพียงชั่วคราว

 

ราคาหุ้น ของ ธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิค แบงก์ (First Republic Bank) หรือ FRB ซึ่งเป็นธนาคารระดับภูมิภาคของสหรัฐ ยังคงดิ่งลง 20% ในการซื้อขายเมื่อวันศุกร์ (17 มี.ค.) แม้ธนาคารขนาดใหญ่ของสหรัฐหลายรายจะประกาศอัดฉีดเม็ดเงินรวมกันถึง 30,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ FRB

แม้ว่าข้อตกลงดังกล่าวได้ช่วยคลายความกังวลในตลาดและทำให้ราคาหุ้น FRB ดีดตัวขึ้นในช่วงแรก แต่นักลงทุนได้กลับมาเทขายหุ้นดังกล่าว โดย ณ เวลา 20.41 น.ของวันที่ 17 มี.ค.ตามเวลาไทย ราคาหุ้น FRB ดิ่งลง 20.72% สู่ระดับ 27.17 ดอลลาร์ และฉุดให้หุ้นในกลุ่มธนาคารร่วงลงตามกันท่ามกลางความกังวลต่อเสถียรภาพในระบบการเงินสหรัฐ

นายอาร์ต โฮแกน หัวหน้านักวิเคราะห์ตลาดของบริษัท B. Riley Wealth Management ให้ความเห็นว่า ถึงแม้ความช่วยเหลือจากธนาคารใหญ่ 11 แห่งในรูปเงินฝากจะช่วยคลายความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ของธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิค แบงก์ (FRB) ได้ แต่ทางธนาคารก็ยังคงต้องจ่ายดอกเบี้ยสำหรับเงินฝากดังกล่าว ซึ่งคิดในอัตราปัจจุบัน และนั่นจะส่งผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยของธนาคาร และเนื่องจาก FRB ยังคงมีสถานะการเงินที่ย่ำแย่ ทางธนาคารก็อาจจะต้องพิจารณาการขายกิจการในที่สุด

ทั้งนี้ FRB เป็นธนาคารที่ก่อตั้งในปี 2528 มีสินทรัพย์จำนวน 2.12 แสนล้านดอลลาร์ และเงินฝาก 1.764 แสนล้านดอลลาร์ ณ วันที่ 31 ธ.ค.2565 นอกจากนี้  FRB ยังได้ทำการกู้ยืมเงินจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จำนวน 1.09 แสนล้านดอลลาร์ในระหว่างวันที่ 10-15 มี.ค.ด้วย

FRB เป็นธนาคารที่ก่อตั้งในปี 2528 มีสินทรัพย์จำนวน 2.12 แสนล้านดอลลาร์

สื่อรายงานว่า มีผู้อยู่เบื้องหลังหลายรายในการโน้มน้าวให้กลุ่มธนาคารรายใหญ่ของสหรัฐอัดฉีดเม็ดเงินรวมกันถึง 30,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1 ล้านล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ FRB เมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำข้อตกลงดังกล่าว ได้แก่ นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด และนายเจมี ไดมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเจพีมอร์แกน เชส  ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา

เงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือ

ตามข้อตกลงดังกล่าว ธนาคารขนาดใหญ่ในวอลล์สตรีทจะฝากเงินใน FRB เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ทางธนาคาร โดย

  • แบงก์ ออฟ อเมริกา, เวลส์ ฟาร์โก, ซิตี้กรุ๊ป และเจพีมอร์แกน จะฝากเงินใน FRB รายละ 5 พันล้านดอลลาร์
  • ขณะที่โกลด์แมน แซคส์ และมอร์แกน สแตนลีย์ จะฝากเงินรายละ 2.5 พันล้านดอลลาร์
  • ส่วนธนาคารทรูอิสต์ ไฟแนนเชียล, พีเอ็นซี, ยูเอส แบงคอร์ป, สเตทสตรีท และแบงก์ ออฟ นิวยอร์ก เมลลอน จะฝากเงินใน FRB รายละ 1 พันล้านดอลลาร์

"การที่ธนาคารรายใหญ่ของสหรัฐพร้อมใจกันอัดฉีดเงินรวมกัน 30,000 ล้านดอลลาร์ในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่าทางธนาคารมีความเชื่อมั่นต่อ FRB และต่อธนาคารทุกขนาด รวมทั้งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะช่วยให้ธนาคารต่างๆ สามารถให้บริการแก่ลูกค้าต่อไป" ธนาคารรายใหญ่ของวอลล์สตรีทระบุในแถลงการณ์

อย่างไรก็ดี แม้ว่าข้อตกลงดังกล่าวได้ช่วยคลายความกังวลในตลาดและทำให้ราคาหุ้น FRB ดีดตัวขึ้นในช่วงแรก แต่นักลงทุนได้กลับมาเทขายหุ้นดังกล่าวจนดิ่งลงมากกว่า 20% ณ เวลา 20.41 น.ของวันที่ 17 มี.ค.ตามเวลาไทย โดยราคาหุ้น FRB ดิ่งลง 20.72% สู่ระดับ 27.17 ดอลลาร์ และฉุดให้หุ้นในกลุ่มธนาคารร่วงลงตามกัน

ทั้งนี้ FRB เป็นธนาคารที่มีปริมาณเงินฝากที่ไม่ได้รับการค้ำประกันจากรัฐบาลสหรัฐสูงสุดเป็นอันดับ 3 รองจากซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ และซิกเนเจอร์ แบงก์ ซึ่งถูกปิดกิจการไปก่อนหน้านี้ ส่งผลให้ลูกค้าจำนวนมากพากันโยกย้ายเงินฝากออกจาก FRB ไปยังธนาคารขนาดใหญ่

บริษัทแม่ธนาคาร SVB ประกาศล้มละลาย

ในวันเดียวกันนั้น (17 มี.ค.) SVB Financial Group ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (Silicon Valley Bank) หรือ SVB ที่ถูกทางการสั่งปิดไปก่อนหน้านี้ ได้ยื่นเรื่องต่อศาลนิวยอร์กเพื่อขอรับการพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 11 ของกฎหมายล้มละลาย โดย SVB Financial Group เปิดเผยว่า บริษัทมีสภาพคล่อง 2.2 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับสินทรัพย์มูลค่า 2.09 แสนล้านดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2565 และบริษัทจะใช้กระบวนการล้มละลายดังกล่าวในการประเมินทางเลือกด้านกลยุทธ์และการลงทุนอื่นๆ 

ทั้งนี้ การยื่นล้มละลายดังกล่าวจะไม่รวมถึง SVB Capital และ SVB Securities ซึ่งจะยังคงดำเนินกิจการต่อไป

ข่าวระบุว่า การยื่นล้มละลายของ SVB Financial Group มีขึ้นหลังจากที่รัฐบาลสหรัฐประกาศปิดกิจการซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) เมื่อวันที่ 10 มี.ค. ขณะที่ราคาหุ้นทรุดตัวลงอย่างหนัก หลังลูกค้าแห่ถอนเงินฝากจนทำให้ธนาคารขาดสภาพคล่อง และต้องขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในราคาขาดทุน ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวได้จุดชนวนให้ตลาดการเงินและภาคธนาคารสหรัฐเกิดความระส่ำระสายมาจนถึงขณะนี้