ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานยอดคงค้างสินเชื่อไตรมาส 4 ปี 2565 พบว่า ยอดคงค้างสินเชื่อเอสเอ็มอี (SMEs) ที่ไม่รวมกิจการทางการเงินและประกันภัยมีจำนวน 3.16 ล้านล้านบาทลดลงกว่า 998,790 ล้านบาทเมื่อเทียบกับไตรมาส 4ปี2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 หรือลดลงกว่า 23.99%
ทั้งนี้ยอดคงค้างสินเชื่อเอสเอ็มอีปรับลดลงต่อเนื่องในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา สวนทางกับหนี้จัดชั้นที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ที่เพิ่มขึ้นแตะ 395,076 ล้านบาทในไตรมาส4ปี2565 เพิ่มขึ้น 226,510 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นถึง 134.37% หลังการระบาดโควิด-19 เช่นเดียวกับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ที่ 252,480 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 20,711 ล้านบาทหรือ 8.94% จาก 231,769 ล้านบาทในไตรมาส 4 ปี 2562
ตัวเลขดังกล่าวตอกย้ำผลประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2565 ซึ่งให้ความสำคัญกับการติดตามความเสี่ยงต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้นมากจากธนาคารกลางทั่วโลกพร้อมใจเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อดูแลเงินเฟ้อ
ความเปราะบางทางการเงินที่สูงขึ้นจากหนี้ทั้งภาครัฐและเอกชน ราคาสินทรัพย์ที่มีความผันผวนสูง ระบบการเงินโลกที่ซับซ้อนขึ้นการเพิ่มบทบาทของนอนแบงก์ โดยให้ความสำคัญกับการติดตามดูแลความเสี่ยงที่มีนัยต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยใน 2 ประเด็นคือ
ขณะที่ภาครัวเรือนไทยยังมีความเปราะบางจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อ ขณะที่ SMEs โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ เช่น ภาคการท่องเที่ยวและบริการ รวมถึงบางธุรกิจที่อ่อนไหวต่อต้นทุนที่สูงขึ้นและภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว เช่น การขนส่งสินค้า การค้า และวัสดุก่อสร้าง
นายนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics)เปิดเผยว่า สถานการณ์ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีทิศทางดีขึ้นหลังโควิด-19 ซึ่งบางส่วนได้รับผลบวกจากการบริโภคที่ดีขึ้น ซึ่งหากพิจารณาเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 จะเห็นว่า การบริโภคในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกระตุ้นภาคเอสเอ็มอีได้ดี ขณะที่การส่งออกเอสเอ็มอีไทยมีไม่มากประมาณ 12% ของส่วนแบ่งทางการตลาดส่งออกไทย
ทั้งนี้การบริโภคในประเทศเริ่มดีขึ้น เพราะดีมานก์ที่เริ่มกระจายตัวตามภูมิภาคหรือภาคส่วนต่างๆแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ และเริ่มเห็นเศรษฐกิจหัวเมืองต่างจังหวัดคึกคัก จึงเป็นทิศทางที่ดีต่อเอสเอ็มอี ประกอบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยกลับเข้ามาก็ช่วยเอสเอ็มอีกลุ่มบริการที่เปราะบางอยู่ ไม่ว่าโรงแรมหรือสถานบันเทิง
“ผมมองว่า จุดแย่ที่สุดผ่านไปแล้ว แม้ยังคงมีกลุ่มเปราะบางในกลุ่มบริการ เมื่อทิศทางบริการกลับมาดีจากนักท่องเที่ยวเข้ามา ทำให้กลุ่มเหล่านี้ที่เคยถูกกระทบมากเริ่มทรงตัวขึ้นบ้าง และกลุ่มการค้าเริ่มกลับมาบ้างจากการบริโภคในประเทศที่กลับมาก่อนระดับโควิด-19”นายนริศกล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามา แต่รายได้ยังไม่เท่ากับช่วงก่อนโควิด ทำให้รายได้ของเอสเอ็มอียังไม่กลับมา แต่กลับมีความท้าทายเรื่องต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้น ดังนั้นในแง่คุณภาพสินเชื่อกลุ่มเปราะบางยังจำเป็นต้องประคับประคองต่อไป เนื่องจากเอสเอ็มอีไม่สามารถส่งผ่านต้นทุน แม้รายได้จะกลับมาบางส่วน ก็ยังไม่สามารถชดเชยต้นที่ปรับขึ้น อย่างน้อยดีกว่าจุดเดิมก่อนหน้าโควิด-19
ทั้งนี้ยอมรับว่า กลุ่มเปราะบางก่อนโควิด-19นั้น ภาคธนาคารพาณิชย์ก็ต้องดูแลต่อไป เห็นได้จากช่วงก่อนโควิด-19 ลูกหนี้จัดชั้น Stage2 หรือ SM ประมาณ 7-8% ซึ่งอยู่ยากอยู่แล้ว แต่สำหรับเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบและลำบากเฉพาะช่วงโควิด-19 กลับมาดีขึ้น แต่ยังมีความท้าทายจากอัตราเงินเฟ้อและต้นทุนต่างๆที่ปรับเพิ่มทั้งค่าขนส่ง พลังงาน ไฟฟ้า ค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้นและยังขาดแคลนแรงงาน
“เรื่องสภาพคล่องนั้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไม่ได้ขาดแคลน เพราะยังได้รับการประคับประคองทั้งเงินทุน หมุนเวียนและสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำและสินเชื่อฟื้นฟูยังเป็นตัวช่วย ประเด็นขณะนี้จึงอยู่ที่รายได้ว่า จะมามากพอไหม”นายนริศกล่าว
ดังนั้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องพยายามรักษากระแสเงินสดให้เป็นบวกและควบคุมรายจ่าย แต่ในระดับของอัตราดอกเบี้ยนั้น ระบบธนาคารพาณิชย์พยายามดูแลการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อไม่ให้ไปกระทบผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนัก โดยเฉพาะเอสเอ็มอีกลุ่มเปราะบางยังได้รับการดูแลอยู่ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นจะไปอยู่ที่รายใหญ่ รายกลางที่ธุรกิจกลับมาฟื้นตัวได้ดีมากกว่า ขณะที่ความต้องการสินเชื่อตอนนี้ยังใกล้ศูนย์คาดว่า ใกล้ปลายปีสินเชื่อจะกลับมาเป็นบวกเล็กน้อย
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,862 วันที่ 16 - 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566