"หนี้เสีย"ภารกิจสุดหิน "ฉัตรชัย ศิริไล"ผู้จัดการ ธ.ก.ส.คนใหม่

12 ก.พ. 2566 | 16:42 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.พ. 2566 | 17:07 น.

"หนี้เสีย"ธ.ก.ส. ที่เพิ่มขึ้นทะลุ 10% สูงเป็นประวัติการณ์ ถือเป็นภารกิจ สุดหิน "ฉัตรชัย ศิริไล" ผู้จัดการ ธ.ก.ส.คนที่ 14 ถือเป็นคนนอกคนแรกนับจากจัดตั้งมา

หลังคณะกรรมการ (บอร์ด) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีคำสั่งแต่งตั้งนายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) นั่งเก้าอี้ ผู้จัดการธ.ก.ส. คนใหม่ มีผลตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2566 แทนนายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ที่จะเกษียณอายุราชการในวันดังกล่าว

“ฉัตรชัย” จะเป็นผู้จัดการธ.ก.ส.คนที่ 14 และเป็นบุคคลภายนอกคนแรกที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บริการสูงสุดของธนาคารเพื่อเกษตรกรแห่งนี้ 

ถือเป็นความท้าทายของ “ฉัตรชัย” ในการข้ามห้วยจากการปล่อยกู้เพื่อผู้มีรายได้น้อยให้มีบ้านเป็นของตนเอง เข้ามาบริหารงานด้านการเกษตรที่มีีผู้คนเกี่ยวข้องจำนวนมากจากครัวเรือนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนในปี 2564 สูงถึง 7,363,226 ครัวเรือนที่กระจายทั่วประเทศ ท่ามกลางระดับหนี้เสียที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์จากผลกระทบของโควิด-19 นานกว่า 2 ปี

การแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทบต่อรายได้ประชาชนทั่วไปทั้งภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร แถมภาคเกษตรยังถูกซํ้าเติมจากสงครามรัสเซียกับยูเครนที่เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 กระทบต่อซัพพลายเชน 

ทำให้เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบภาคการเกษตรกร ส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ทั้งราคาปุ๋ยและอาหารสัตว์ รวมทั้งในบางพื้นที่ยังต้องเผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วมอีกด้วย ส่งผลต่อการชำระหนี้ของเกษตรกร

ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ระดับหนี้เสียของธ.ก.ส.เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากงวดสิ้นปี 2563(ปีบัญชี เมษายน 2563-มีนาคม 2564) อยู่ที่ระดับ 3.71% ของสินเชื่อรวม โดยเป็นหนี้เสียจากธุรกรรมปกติ 3.73%และจากธุรกรรมนโยบายรัฐ 3.46% เพิ่มสูงขึ้นเป็น 6.63% ในงวดสิ้นปี 2564 (เมษายน 2564-มีนาคม 2565) โดยเป็นหนี้เสียจากธุรกรรมปกติ 6.55% และธุรกรรมจากนโยบายรัฐอีก 7.87%

ขณะที่งวดปี 2565 แค่เพียงไตรมาสแรกปี 2565 (เมษายน- มิถุนายน 2565) หนี้เสียธ.ก.ส.ก็สูงทะลุ 10.55%ของสินเชื่อรวม โดยเป็นหนี้เสียจากธุรกรรมปกติ 10.35% และหนี้เสียจากธุรกรรมนโยบายรัฐ 14.33% และล่าสุดงวดครึ่งแรกของปีบัญชี 2565 (เมษายน-กันยายน 2565) สถานการณ์หนี้เสียของธ.ก.ส.ปรับเพิ่มสูงขึ้นทำสถิติใหม่ที่ 12.5% ของสินเชื่อรวม

\"หนี้เสีย\"ภารกิจสุดหิน \"ฉัตรชัย ศิริไล\"ผู้จัดการ ธ.ก.ส.คนใหม่

อย่างไรก็ตาม ด้วยโครงการของรัฐที่เข้ามาดูแลเกษตรกรในช่วงปลายปี 2565 เช่น โครงการประกันรายได้ข้าว ทำให้เกษตรกรมีเงินมาชำระหนี้และบางรายเก็บเกี่ยวผลผลิตการเกษตรในช่วงต้นปี 2566 จึงทำให้หนี้เสียเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 9.2%

แต่ก็ยังเป็นความท้าทายที่ผู้จัดการ ธ.ก.ส.คนใหม่จะต้องเข้าไปแก้ไขปัญหา เพื่อกดให้ระดับหนี้เสียลงมาอยู่ที่เดิิม พร้อมๆกับการดูแลคุณภาพเกษตรกรควบคู่ไปด้วย

หนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้สัดส่วนหนี้เสียของธ.ก.ส.พุ่งสูงขึ้นมาจากความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อด้วย ดังนั้นการปล่อยสินเชื่อใหม่ ก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทาย เนื่องจากรายได้เกษตรกรที่ยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ขีดความสามารถในการชำระหนี้ของเกษตรกร ก็จะเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่จะเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อของเกษตรกร

อีกทั้ง ปัจจุบันแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยอยู่ในภาวะขาขึ้น ฉะนั้น การออกแบบผลิตภัณฑ์สินเชื่อต่างๆ ของ ธ.ก.ส. จะต้องทำให้ตรงจุด ให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงบริการได้จริง และไม่โดนผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว

ในครึ่งแรกของปีบัญชี 2565 ธ.ก.ส.ปล่อยสินเชื่อเพื่อดูแลเกษตรกรได้แล้วกว่า 3.68 แสนล้านบาทคาดว่า สิ้นปีบัญชี 2565 (31 มีนาคม 2566) จะสามารถปล่อยสินเชื่อได้ 7 แสนล้านบาทตามเป้าหมายหรือไม่ ถือเป็นภารกิจที่ “ฉัตรชัย” จะต้องมารับไม้บริหารจัดการเรื่องนี้ต่อ

ขณะเดียวกัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำธุรกิจ แม้จะเป็นธนาคารของรัฐ รายได้และผลประกอบการของบริษัทจะต้องมีกำไรเพิ่มขึ้น ซึ่งจะต้องเข้ามาดูแลในเรื่องนี้ เนื่องจากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กำไรสุทธิของ ธ.ก.ส. ปรับลดลงโดยปีบัญชี 2563 อยู่ที่ 7,967 ล้านบาท ขณะที่ปี 2564 ลดลงมา 4.14% อยู่ที่ 7,637 ล้านบาท 

ดังนั้นถือว่า ปัจจุบันกำไรสุทธิของธ.ก.ส. ลดลงมากว่า 2,000 ล้านบาทแล้ว หากเทียบกับข้อมูลกำไรสุทธิของธ.ก.ส.ตั้งแต่ช่วงปี 2559 จนถึงปี 2562 ที่ผ่านมา โดยธนาคารมีกำไรเฉลี่ยกว่า 9,000 ล้านบาท ซึ่งในปีบัญชี 2559 มีกำไรสุทธิ 9,456 ล้านบาท, ปีบัญชี 2560 อยู่ที่ 9,861 ล้านบาท, ปีบัญชี 2561 อยู่ที่ 9,888 ล้านบาท และปีบัญชี 2560 มีกำไรสุทธิ 9,951 ล้านบาท

นอกจากนั้นธ.ก.ส.ยังเป็นแขนขาที่สำคัญของรัฐบาลในการส่งผ่านนโยบายให้กับกลุ่มฐานรากของประเทศ โดยข้อมูลจากงบการเงินที่งวดไตรมาส 1 ปี 2565 (สิ้นสุด 30 มิถุนายน 2565) พบว่า ธ.ก.ส.มีเงินให้สินเชื่อตามนโยบายรัฐและดอกเบี้ยค้างรับสุทธิ 65,973.31 ล้านบาท และมีลูกหนี้รอการชดเชยจากรัฐบาลตามนโยบายรัฐบาลทั้งสิ้น 567,015.90 ล้านบาท

 

ซึ่งเป็นเงินอุดหนุนเกษตรกร ภายใต้โครงการประกันรายได้และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์) ระบุว่า ช่วงปี 2564-2565 รัฐบาลให้เงินอุดหนุนเกษตรกรสูงถึงปีละ 140,000 ล้านบาท

ข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของภารกิจสุดหินที่ “ฉัตรชัย” ผู้จัดการ ธ.ก.ส.คนใหม่จะต้องเข้าไปดูแลบริหารจัดการ

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,861 วันที่ 12 - 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566