ธุรกิจซื้อหนี้คึก จับตาหนี้จัดชั้น1.1 ล้านล้านบาท

15 ธ.ค. 2564 | 19:39 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ธ.ค. 2564 | 02:40 น.
724

BAM-JMT เตรียมหน้าตักรับซื้อหนี้ปี 65 ตั้งเป้า 1 หมื่นล้านบาท คาดแบงก์ขายหนี้เสียสู่ระบบ 7.7 หมื่นล้านบาท จับตาหนี้จัดชั้น Stage 2 กว่า 1.1 ล้านล้านบาท ทยอยไหลเป็นหนี้เสีย หนุนธุรกิจบริหารหนี้กลับมาคึกคักปี 66

วิกฤติเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจในวงกว้าง แต่ยังไม่สะท้อนภาพรวมของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เนื่องมีหลายมาตรการช่วยเหลือของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และพักทรัพย์พักหนี้ กดให้ตัวเลข NPL ยังทรงตัว แต่สัญญาณหนี้หนี้จัดชั้น Stage2 กว่า 1.1 ล้านล้านบาทไหลเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น 

 

นายบัณฑิต อนันตมงคล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทบริหารสินเทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด(มหาชน)หรือ BAM เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า คาดว่าสถาบันการเงินจะนำหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ออกขายประมาณ 77,000 ล้านบาทจากทั้งระบบ 580,000 ล้านบาท ซึ่งมาตรการของธปท.ชะลอการจัดชั้น ส่งผลให้เอ็นพีแอลในระบบไม่มากและแนวโน้มเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นเต็มที่ ซึ่งแนวโน้มเอ็นพีแอลปี 66 น่าจะมากกว่าปี 65 อีกมาก 

นายบัณฑิต อนันตมงคล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทบริหารสินเทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด(มหาชน)

 “ปี 2566 เราจะกลับไปซื้อตามเดิม 10,000 ล้านบาท แต่ปีนี้เราเน้นคุณภาพคือ รับซื้อเฉพาะพื้นที่ เพื่อเก็บสต๊อกที่ลดลง หรือสาขาที่ปรับโครงสร้างหนี้ได้ดีทำให้สต๊อกลดลง โดยจะไม่เข้าแข่งประมูลซื้อเอ็นพีแอล เพราะผู้เล่นหน้าใหม่ให้ราคาสูงมาก ทำให้ประสิทธิภาพในการทำกำไรลดลง แต่ปีนี้ 3 ไตรมาสยอดขายสินทรัพย์รอการขาย (NPA) ขายดีมาก เพิ่มขึ้นกว่า 10% จากปีก่อนทั้งบ้านและที่ดินเปล่า แต่คอนโดฯ ขายออกยาก”นายบัณฑิตกล่าว

สินเชื่อด้อยคุณภาพในระบบธนาคารพาณิชย์ ณ ไตรมาส 3 ปี 2564

สำหรับปี 2564 BAM เข้าประมูลซื้อหนี้ 4,600 ล้านบาท(มูลหนี้เงินต้น) จากเป้าทั้งปีตั้งไว้ 10,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นปีที่ BAM เข้าซื้อหนี้น้อยมากเมื่อเทียบกับ 4 ปีที่ผ่านมา เพราะมีผู้ซื้อหนี้หน้าใหม่เข้ามาในตลาดไล่ซื้อทรัพย์ในราคาสูง ซึ่ง BAM มองว่า ราคาที่เสนอซื้อนั้นทำให้การบริหารพอร์ตไม่มีประสิทธิภาพและโอกาสทำกำไรลดลง 

 ขณะที่ปีนี้ทั้งปี มีหนี้เอ็นพีแอล ออกขายเพียง 31,700 ล้านบาท ไม่ถึง 50% ของปีก่อนที่สถาบันการเงินนำเอ็นพีแอลออกขาย 63,000 ล้านบาทหรือ 12% จากเอ็นพีแอลทั้งระบบ 550,000 ล้านบาท ขณะที่พอร์ตเอ็นพีแอลของ BAM มี 1.6-1.7 แสนล้านบาทและ NPA 50,000 ล้านบาท ส่วนเป้าหมายเรียกเก็บสิ้นปีคาดว่า จะปิดได้ไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาทจากเป้ากว่า 17,000 ล้านบาท
 

“ปีนี้ BAM เน้นกลยุทธ์ในการขายและเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ แต่ทำได้เพียง 50% จากเป้า 3,500 ราย เพราะข้อจำกัดจากโควิด-19 ที่ต้องเว้นระยะห่าง” นายบัณฑิต กล่าว

 

ส่วนแผนการตั้งบริษัทร่วมทุนหรือ JV:Joint Venture ยังมีจุดที่ต้องพิจารณาในประเด็นการร่วมทุนกับสถาบันการเงินหรือธนาคาร เพราะถ้าใส่เงินทุนเข้ามา เช่น 2,000 ล้านบาท ถ้าตั้งเป้าซื้อหนี้ 10 เท่าของเงินกองทุนในส่วนของ JV จะต้องออกตั๋วสัญญาใช้เงินหรือ P/N ซึ่งหากตั๋ว P/N ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันทางสถาบันการเงินหรือธนาคารจะต้องกันสำรองเช่นเดียวกันกับการตั้งสำรองหนี้

 

นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT)กล่าวว่า ปีหน้าแนวโน้มปริมาณหนี้จะออกมาช่วงหลังไตรมาสสอง เนื่องจากหนี้จัดชั้น(Stage2) ปริมาณรวมกว่า 1.1 ล้านล้านบาท ส่วนยอดคงค้างกลุ่มสินเชื่ออุปโภคบริโภคกว่า 3.6 แสนล้านบาทคิดเป็น 2.9% ซึ่งต้องจับสัญญาณว่า หนี้จัดชั้น Stage2 จะไหลเป็นเอ็นพีแอลหรือ Stage3 เพียงใด

นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส

“สัปดาห์นี้ ผู้ถือหุ้นของ JMTจะใส่เงินเพิ่มทุนอีก 10,000 ล้านบาท ซึ่งไม่มีต้นทุนดอกเบี้ย จึงมีงบประมาณพร้อมรองรับปริมาณหนี้ที่จะออกมาขายในปีหน้าและปีถัดไป” นายสุทธิรักษ์ กล่าว
 

ส่วนการแข่งขันในตลาดที่มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามานั้นนายสุทธิรักษ์กล่าวว่า ธุรกิจบริหารหนี้ต้องช่วย
ลูกค้าระยะยาว จึงต้องดูระยะยาวว่าผู้เล่นหน้าใหม่จะไปไหวหรือไม่ ปัจจุบันพอร์ตเอ็นพีแอลของ JMT มี 230,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีบางส่วนเปลี่ยนสถานะเป็น NPA

 

“ปีนี้ปริมาณขายเอ็นพีแอลใกล้เคียงปีก่อน โดยเทียบจากตัวเราเอง JMT ใช้งบซื้อเอ็นพีแอล 7,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อนอยู่ที่ 3,000 ล้านบาทเท่านั้น โดยทั้งปีนี้คาดว่า จะซื้อทรัพย์ใกล้เคียงเป้าที่ตั้งไว้ 
6,000-10,000 ล้านบาทที่เหลือข้ามไปประมูลปีหน้า ส่วนกระแสเงินสดเก็บได้ประมาณ 3,000 ล้านบาท พลาดเป้าที่ตั้งไว้ เพราะเผชิญกับโควิด-19 จึงมีการช่วยลูกหนี้บางรายที่ชำระไม่ไหว” นายสุทธิรักศ์กล่าว

 

ด้านนายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ชโย กรุ๊ป (CHAYO) กล่าวว่า ปีนี้ยังอยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือ รวมทั้งพักทรัพย์พักหนี้ จึงมีบางส่วนเข้าโครงการของธปท. โดยคาดว่าทั้งปีจะซื้อหนี้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาทจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 10,000-12,000 ล้านบาท แต่ซื้อมาแล้ว 6,000 ล้านบาท 

นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ชโย กรุ๊ป

“CHAYO พร้อมเป็นพันธมิตรกับทุกแบงก์ โดยอยู่ระหว่างเจรจากับบางแห่ง เพราะหากมีพันธมิตรเข้ามาจัดตั้ง JV บริษัทสามารถซื้อหนี้ทั้งมีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน คาดว่า ปีหน้าจะเห็นพอร์ตแตะ 9 หมื่นล้านบาทจากสิ้นปีนี้อยู่ที่กว่า 7 หมื่นล้านบาท”นายสุขสันต์ กล่าว 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,740 วันที่ 16 - 18 ธันวาคม พ.ศ. 2564