ธปท.จับตาตลาดเงินโลก-ไทยใกล้ชิด หลังเฟดขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับ3.75-4.00%

03 พ.ย. 2565 | 17:18 น.
อัปเดตล่าสุด :04 พ.ย. 2565 | 00:25 น.

ธปท.ชี้อาจเห็นความผันผวนระยะสั้นตลาดการเงินโลกและไทยพร้อมติดตามใกล้ชิดตลาดการเงินโลก-ไทยใกล้ชิด หลังเฟดขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับ3.75-4.00%

ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาเคลื่อนไหวผันผวนสูง ในช่วงแรกตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตอบรับในเชิงบวกต่อแนวโน้มการชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ซึ่งระบุในแถลงการผลการประชุม หลังเฟดมีมติขึ้นดอกเบี้ย +0.75% สู่ระดับ 3.75%-4.00% ตามคาดนั้น

ธปท.จับตาตลาดเงินโลก-ไทยใกล้ชิด หลังเฟดขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับ3.75-4.00%

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าการตัดสินนโยบายล่าสุดของเฟด และการสื่อสารเกี่ยวกับแนวนโยบายในอนาคตเป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดไว้ โดยขณะนี้ เฟดมุ่งมั่นที่จะดูแลเงินเฟ้ออย่างเต็มที่ก่อน เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เองในระยะยาว ทั้งนี้ หลังการประชุมอาจเห็นความผันผวนระยะสั้นในตลาดการเงินโลกและไทยบ้าง ซึ่ง ธปท. ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กล่าวว่าในส่วนของการดำเนินนโยบายของไทยในระยะต่อไป ก็ต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับบริบทของไทยเช่นกัน ทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน โดยการดำเนินนโยบายจะมีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์และให้ทันกาล ตามที่ กนง. ได้สื่อสารมาต่อเนื่อง

 

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท การตัดสินนโยบายของเฟดส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา แข็งค่าขึ้นเทียบกับทุกสกุล โดยในช่วงเช้า ค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐอเมริกาปรับอ่อนค่าลง 0.8% และดัชนีค่าเงินบาท (เทียบสกุลภูมิภาค) ปรับอ่อนลง 0.34% ด้านเงินทุนเคลื่อนย้าย ยังไม่พบสัญญาณผิดปกติ

 

นับตั้งแต่ต้นปี จนถึงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 เงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลง 11% โดยถือว่าอ่อนในระดับกลาง ๆ เทียบกับสกุลเงินในภูมิภาค ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาทอ่อนลงเพียง 0.7% สำหรับนักลงทุนต่างชาติยังมีฐานะเป็นซื้อสุทธิในสินทรัพย์ไทยประมาณ 1.1 แสนล้านบาท (ซื้อสุทธิในตลาดหลักทรัพย์กว่า 1.6 แสนล้านบาท

 

และขายสุทธิในตลาดพันธบัตรที่ 0.5 แสนล้านบาท) ทั้งนี้ ธปท. ได้ติดตามสถานการณ์การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด โดยภาคเอกชนควรบริหารความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของตลาดการเงินในสถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง