แบงก์ชี้เศรษฐกิจฟื้น หนุนธุรกิจครึ่งปีหลัง

08 ส.ค. 2565 | 15:15 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ส.ค. 2565 | 22:16 น.

แบงก์เดินหน้าทำธุรกิจตามแผน แม้เศรษฐกิจผันผวนและไม่แน่นอนสูง มั่นใจยังขยายตัวได้ หนุนโอกาสขยายสินเชื่อ พร้อมเร่งระดมเงินฝาก ก่อนดอกเบี้ยขยับขึ้น หวังกดเงินเฟ้อให้ลดลง

แม้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของตลาดการเงินโลกและแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินสู่ภาวะปกติเพื่อดูแลเงินเฟ้อทั่วไปที่เพิ่มสูงขึ้น แต่กลุ่มธนาคารพาณิชย์ยังมองบวกต่อภาพเศรษฐกิจไทยว่า มีแนวโน้มจะเติบโตและมีความต้องการสินเชื่อในช่วงที่เหลือของปี

แบงก์ชี้เศรษฐกิจฟื้น  หนุนธุรกิจครึ่งปีหลัง

ขณะที่งวดครึ่งแรกปี 2565 พบว่าธนาคารพาณิชย์ 10 แห่งมียอดสินเชื่อรวม 14,349,967 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 813,353 ล้านบาทหรือ 6.5% จาก 13,536,614 ล้านบาทในงวดครึ่งแรกปี 2564 และมียอดเงินฝากรวม 15,060,275 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 697,093 ล้านบาทหรือ 4.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 14,423,182 ล้านบาท

​​​​นายชาติศิริ โสภณพณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BBL เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มครึ่งปีหลังยังมีความผันผวนและความไม่แน่นอนหลายปัจจัยที่ต้องดูแล แต่เชื่อว่า เศรษฐกิจยังมีโอกาสขยายตัวได้ โดยเฉพาะการฟื้นตัวทั่วไปในภูมิภาคเอเชียรวมทั้งในไทย

นายชาติศิริ โสภณพณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด(มหาชน)

ในส่วนของธนาคารกรุงเทพยังเดินหน้าทำธุรกิจตามแผนเดิม และมีความพร้อมที่จะเข้าไปดูแลลูกค้าด้านสินเชื่อเพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยเน้นให้การสนับสนุนลูกค้าอย่างเต็มที่ ทั้งในแง่ของการอำนวยสินเชื่อออนไลน์และสินเชื่อดิจิทัลที่จะเห็นมากขึ้นในอนาคต เพราะฉะนั้นปีนี้สัญญาณการเติบโตต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา

นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า ช่วงที่เหลือปีนี้ ธนาคารเห็นโอกาสในการต่อยอดธุรกิจจากลูกค้าบุคคลขนาดใหญ่สู่ลูกค้ารายย่อยระดับรองลงมาเช่น กลุ่ม Mass Affluence ที่กำลังเจริญเติบโตและเน้นบริการผ่านอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นภายใต้ บริษัท เคเคพี ไดม์ (KKP DIME) ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์ผ่านโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของธนาคารที่ได้ลงทุนไปก่อนหน้าและโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศ

นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

ทั้งนี้ KKP DIME จะเริ่มให้บริการเงินฝากดิจิทัลและการลงทุนในหุ้นต่างประเทศในปลายเดือนนี้และทำตลาดเชิงรุกตั้งแต่เดือนหน้า ด้วยจุดเด่นของ KKP DIME เน้นให้บริการในรูปแบบดิจิทัลครบวงจรโดยไม่มีหน้าร้าน ซึ่ง KKP DIME จะเจาะตลาดรายย่อย ที่บริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคินไม่สามารถให้บริการ

 

“เบื้องต้น KKP DIME จะให้บริการเงินฝากดิจิทัล โดยใช้ใบอนุญาตของธนาคาร เกียรตินาคินภัทรและของ บล.เกียรตินาคินในส่วนของบริการลงทุนหุ้นในต่างประเทศและในอนาคตจะขยายทำธุรกิจประกันและอื่นๆ ขณะที่ธุรกิจหลักจะเน้นการเติบโตของสินเชื่อที่มีศักยภาพและยั่งยืน หลังจากสินเชื่อรวมครึ่งปีแรกเติบโตได้ 10% จากที่คาดไว้ 5-6% จึงขยับเป้าทั้งปีเป็น 16% จากเดิมตั้งไว้ที่ 12%”

 

สำหรับการระดมเงินฝากจะยืดหยุ่นทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดย CASA จะเพิ่มจากเงินฝากออมทรัพย์ที่ใช้เป็นบัญชีสำหรับพักเงินหรือบัญชีออมทรัพย์ KKP Smart Settlement และบัญชีออมทรัพย์ออนไลน์ หรือ KKP Savvy ที่เติบโตต่อเนื่อง ซึ่งการทำธุรกรรมเงินฝากออนไลน์ ทำให้ธนาคารประหยัดต้นทุนจึงสามารถจ่ายผลตอบแทนที่ดีให้กับลูกค้าได้

 

ล่าสุดธนาคารเกียรตินาคินเปิดรับเงินฝากประจำพิเศษ 17 เดือน(สมุดคู่ฝาก) วงเงินฝากขั้นต่ำ 500,000 บาทต่อรายการ ระยะเวลาโครงการตั้งแต่ 4-31 สิงหาคม 2565 จ่ายดอกเบี้ยในอัตรา 1.35% และเงินฝากประจำ 14 เดือน (สมุดคู่ฝาก) วงเงินฝากขั้นต่ำ 500,000 บาทขึ้นไปต่อรายการจ่ายดอกเบี้ย 1.30% 

 

นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้กล่าวว่า ภาพรวมความต้องการสินเชื่อในช่วงครึ่งปีหลังยังมีโอกาสเติบโตทั้งในกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ รายย่อยและ SMEs โดยธุรกิจรายใหญ่หันมาเบิกใช้วงเงิน Credit Line กับธนาคารมากขึ้น เพื่อรอจังหวะกลับไประดมทุนในตลาด เนื่องจากดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตรได้ปรับเพิ่มแล้ว แต่ยังไม่เห็นสัญญาณการใช้สินเชื่อเพื่อการลงทุนในการขยายธุรกิจ

แบงก์ชี้เศรษฐกิจฟื้น  หนุนธุรกิจครึ่งปีหลัง

สำหรับสินเชื่อรายย่อยและ SMEs ยอมรับว่า ต้องระมัดระวัง เพราะมีบางราย บางธุรกิจยังไม่ฟื้นตัวดี ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึงจึงต้องเลือกลูกค้าที่มีกระแสเงินสดรับหรือมีศักยภาพในการชำระหนี้ได้คือ สินเชื่อหมุนเวียนสำหรับสต็อกสินค้า ปรับปรุง/ซ่อมแซม รวมถึงการเปลี่ยนเครื่องจักรหรือเปลี่ยนอะไหล่ต่างๆ นอกจากสินเชื่อเพิ่มประสิทธิภาพของธนาคารแล้วยังมีสินเชื่อซอฟต์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วย

 

“หลายธนาคารเน้นโจทก์ดูแลลูกค้ารายย่อยและ SMEs ให้มีสภาพคล่องเพื่อเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งทิสโก้เน้นการเติบโตสินเชื่อเช่าซื้อ โดยมองว่า สินเชื่อรถมือสองมีโอกาสจะเติบโตตามยอดขายรถมือสอง ส่วน SMEs มีพอร์ตไม่มาก โดยเฉพาะสินเชื่อรถมือสอง และสินเชื่อจำนำทะเบียน” นายศักดิ์ชัยกล่าว

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,807 วันที่ 7 - 10 สิงหาคม พ.ศ. 2565