“สุชาติ " อดีตขุนคลัง สะท้อนเงินบาทอ่อนค่าไม่ใช่ปัญหา

13 ก.ค. 2565 | 11:10 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.ค. 2565 | 18:21 น.

​ “สุชาติ ​ธา​ดา​ธำ​รง​เวช" อดีตขุนคลัง สะท้อนเงินบาทอ่อนค่าไม่ใช่ปัญหา เป็นเรื่องดี ทำให้เศรษฐกิจเติบโตยิ่งขึ้น ประชาชนมีงานทำมีรายได้ดี

ศ​าสตราจารย์​ (ศ.)ดร.สุชาติ​ ​ธา​ดา​ธำ​รง​เวช​ อดีตรัฐมนตรี​ว่าการกระท​รวงการคลัง​ และอดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย​โพสต์เฟซบุ๊ค ธรรมมหารัฐศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช“ สะท้อนสถานการณ์ค่าเงินบาทที่อ่อนค่า กับแนวทางแก้ปัญหาในปัจจุบัน ว่า

 

 

 

1.รู้สึกแปลกใจ ที่มีนักการเงินบางท่าน ออกมาเรียกร้องให้รีบขึ้นดอกเบี้ยให้ทันสหรัฐอเมริกา เพราะ (ก) กลัวเงินทุนระยะสั้นไหลออก (ข) กลัวเงินเฟ้อขึ้นไปเรื่อยๆ (ค) กลัวเงินบาทอ่อนค่า (ง) กลัวขาดดุลบัญชีเดินสะพัด

 

 

การเรียกร้องนี้ ตรงข้ามกับนักเศรษฐศาสตร์ใหญ่ๆ​ ของโลก เช่น Mr. Kuroda ผู้ว่าแบงค์ชาติญี่ปุ่นเลย ความจริง ค่าเงินบาท เมื่อเทียบกับญี่ปุ่นและเพื่อนบ้าน ก็ยังแข็งค่าเกินไป

 

 

2.ในเมื่อเศรษฐกิจไทยยังเติบโตต่ำมาก เพิ่งฟื้นขึ้นมา ประชาชนจำนวนมากยังไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ มีหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP สูงถึงกว่า 90% รัฐบาลก็เป็นหนี้ต่อ GDP กว่า 60% นักท่องเที่ยวเพิ่งเริ่มมา

 

 

ทำไมจึงจะต้องไปรีบขึ้นดอกเบี้ยตามสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้ประชาชนไทยและรัฐบาลไทยต้องจ่ายดอกเบี้ยมากขึ้น การบริโภคและการลงทุนลดลง เงินบาทแข็งค่า ทำให้การส่งออกลดลง GDP ตกลง คนไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้

3.การสกัดไม่ให้เงินทุนระยะสั้นไหลออก ไม่ใช่เป้าหมายของการบริหารประเทศ หากเงินทุนระยะสั้นไหลออกไป 30,000-40,000 ล้านเหรียญ เราควรยินดี เพราะเข้ามากเกินไป เงินเหล่านี้ คนต่างชาตินำมาฝากเพื่อกินดอกเบี้ยและนำมาซื้อหุ้น เมื่อได้กำไรแล้ว ก็ขนทรัพย์สินคนไทยที่ขาดทุน นำออกไป

 

 

4.เงินสำรองระหว่างประเทศของไทยมี 230,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ประมาณ 4 เท่าของเงินทุนระยะสั้น นับว่าเราถือเงินสำรองฯ ไว้มากเกินไป ความจริงเราควรเอาเงินสำรองฯ มาพัฒนาประเทศให้มากกว่านี้ เหมือนประเทศจีน

5.การที่พูดว่าค่าเงินบาทอ่อน จะทำให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้น ก็ไม่จริง เป็นเหตุผลที่ผิด ค่าเงินบาทอ่อนลง จะทำให้ส่งออกสินค้าและบริการ รวมทั้งการท่องเที่ยว เพิ่มขึ้น ทั้งปริมาณและมูลค่า การนำเข้าจะลดลง ดุลบัญชีเดินสะพัดต้องดีขึ้น (ไม่ใช่แย่ลง) เราจะได้รายได้จริงๆ มาใส่ไว้ในเงินทุนสำรองฯ แทนเงินทุนระยะสั้นที่ไหลออกไป

 

 

6.การเร่งให้ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อก็ไม่จริง เงินเฟ้อเราเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับภูมิภาค ยังไม่สูงเกินไป และเป็นเงินเฟ้อมาจากต้นทุนสินค้าเข้าที่เพิ่มขึ้น (cost push inflation) การขึ้นดอกเบี้ยจึงทำให้เงินเฟ้อลดลงน้อยมาก แต่จะทำให้การลงทุน การบริโภค การส่งออกลดลง รายได้ลดลง คนจะตกงาน เมื่อเศรษฐกิจตกลง หุ้นก็ต้องลง แล้วเงินทุนระยะสั้นก็ต้องไหลออกไปอยู่ดี

 

 

7.เงินเฟ้อที่สูงขึ้นเนื่องจากต้นทุนนำเข้านี้ จะไปหยุดตัวลงที่ระดับราคาใหม่ จะไม่เป็นภาวะเงินเฟ้อต่อเนื่อง ที่เรียกว่า spiral inflation ภาวะเงินเฟ้อต่อเนื่องนั้น จะเกิดขึ้นเฉพาะกรณีที่รัฐบาลประเทศนั้นๆ พิมพ์ธนบัตรตนเองมาใช้มากเกินไป หรือที่เรียกกันว่า demand pull inflation ศ. สุชาติ กล่าวในที่สุด