ค่าเงินบาทวันนี้เปิดตลาด "แข็งค่า" ที่ระดับ 36.08 บาท/ดอลลาร์

08 ก.ค. 2565 | 07:25 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ค. 2565 | 16:24 น.

ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวนและมีความเสี่ยงที่จะอ่อนค่าได้ ท่ามกลางปัจจัยกดดันจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ และความกังวลทางการจีนอาจใช้มาตรการ Lockdown - ประเมิน แนวรับในระยะสั้น ยังอยู่ในช่วง 35.90-36.00 บาท/ดอลลาร์ 

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.08 บาทต่อดอลลาร์ "แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย" จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.11 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวนและมีความเสี่ยงที่จะอ่อนค่าได้ ท่ามกลางปัจจัยกดดันจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ รวมถึงความกังวลแนวโน้มทางการจีนอาจใช้มาตรการ Lockdown ที่เข้มงวดเพื่อควบคุมการระบาดของ COVID-19

 

ประเมินว่า แนวรับของเงินบาทในระยะสั้น ยังอยู่ในช่วง 35.90-36.00 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนแนวต้านสำคัญยังเป็นโซน 36.50 บาทต่อดอลลาร์ (มีโอกาสอ่อนค่าทดสอบแนวต้าน หากทางการจีนใช้มาตรการ Lockdown จริง จนเกิดแรงเทขายสินทรัพย์ฝั่ง EM Asia) อย่างไรก็ดี เราคงมุมมองเดิมว่า จุดกลับตัวของเงินดอลลาร์อาจเกิดขึ้นในช่วงการประชุมเฟดปลายเดือนนี้ หากเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง ทำให้ยังมีโอกาสที่เงินบาทจะเริ่มกลับตัวมาแข็งค่าได้

ทั้งนี้ เรามองว่า ควรระวังความผันผวนในตลาดการเงิน ในช่วงก่อนและหลังตลาดรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ เนื่องจากข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่เฟดใช้ประกอบในการตัดสินใจนโยบายการเงิน ส่วนในมุมมองของผู้เล่นในตลาดก็อาจกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้นได้และกลับมาปิดรับความเสี่ยง หากข้อมูลออกมาแย่กว่าคาดไปมาก

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.90-36.15 บาทต่อดอลลาร์

 

แม้ว่าตลาดการเงินโดยรวมจะยังคงถูกกดดันจากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจหลัก อย่าง สหรัฐฯ และ ยุโรป อาจชะลอตัวลงหนักจนเข้าสู่สภาวะถดถอย ทว่า ในฝั่งตลาดการเงินสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดเริ่มประเมินว่า หากเศรษฐกิจสหรัฐฯและเงินเฟ้อชะลอลงมากขึ้น เฟดก็อาจไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง (สอดคล้องกับมุมมองของตลาดผ่าน CME FedWatch Tool ที่มองว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยถึงจุดสูงสุดที่ 3.50% ในปีนี้ ก่อนที่จะเริ่มลดดอกเบี้ยลงในช่วงกลางปีหน้า) ซึ่งมุมมองดังกล่าวทำให้ ผู้เล่นในตลาดยังเดินหน้ากลับเข้ามาซื้อหุ้นเทคฯ ใหญ่ (Buy on Dip) อาทิ Alphabet (Google) +3.7%, Apple +2.4% กอปรกับราคาน้ำมันดิบ Brent และ WTI ได้รีบาวด์ขึ้นสู่ระดับ 104.2 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และ 102.4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลตามลำดับ หลัง EIA สหรัฐฯ ได้รายงานสต็อกน้ำมันเบนซินและน้ำมันกลั่นน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ หนุนให้หุ้นกลุ่มพลังงานกลับมาปรับตัวขึ้น ส่งผลให้ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นถึง +1.50%

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป เดินหน้าปรับตัวขึ้นราว +1.88% หนุนการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน ตามราคาน้ำมันดิบ นำโดย BP +4.5%, Total Energies +3.6% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มธนาคาร (Intesa Sanpaolo +4.0%, Santander +3.6%) หลังรายงานการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ส่งสัญญาณว่า ECB พร้อมเร่งขึ้นดอกเบี้ย เพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ

 

ทางด้านตลาดบอนด์ ภาพตลาดที่เริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น รวมถึงรายงานการประชุมเฟดล่าสุดและถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งยังคงสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 3.00% อย่างไรก็ดี เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องไม่ได้มาก เนื่องจากแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจะยิ่งหนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย หรือ รอจังหวะ Buy on Dip ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะแกว่งตัว sideways

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทรงตัวเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 107.1 จุด โดยปัจจัยหนุนเงินดอลลาร์ยังคงเป็นความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย (safe haven) ท่ามกลางความกังวลเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่ปัจจัยกดดันเงินดอลลาร์ล่าสุดนั้นมาจาก การพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินปอนด์ (GBP) ที่แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.203 ดอลลาร์ต่อปอนด์ หลังนายกฯ อังกฤษ Boris Johnson ประกาศลาออกตามแรงกดดันทางการเมือง เปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้งผู้นำพรรค Conservative และนายกฯ คนใหม่ (อย่างไรก็ดี การแข็งค่าของเงินปอนด์ ได้กดดันให้ผู้เล่นบางส่วนยังขายเงินยูโรออกมา กดดันให้เงินยูโรอ่อนค่าลงใกล้ระดับ 1.017 ดอลลาร์ต่อยูโร) ทั้งนี้ แม้เงินดอลลาร์จะเคลื่อนไหว sideways แต่การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ตามแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ก็กดดันให้ ราคาทองคำย่อตัวลงเล็กน้อยสู่ระดับ 1,741 ดอลลาร์ต่อออนซ์

 

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยตลาดประเมินว่า ตลาดแรงงานสหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งแกร่งอยู่ โดยยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในเดือนมิถุนายน อาจเพิ่มขึ้นราว 2.7 แสนราย ทำให้อัตราว่างงานทรงตัวที่ระดับ 3.6% อย่างไรก็ดี หากข้อมูลตลาดแรงงานออกมาแย่กว่าคาด อาทิ อัตราว่างงานเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.7% รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ชะลอตัวลงก่อนหน้า อาจทำให้เฟดไม่สามารถเร่งขึ้นดอกเบี้ยได้รุนแรงอย่างที่ตลาดเคยกังวล
 
 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าเงินบาทพลิกด้านแข็งค่าผ่านแนว 36.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ มาปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 35.93-35.95 บาทต่อดอลลาร์ฯ (9.20 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 36.15 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทแข็งค่ากลับมาตามสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีปัจจัยลบจากข้อมูลจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าที่ตลาดคาด และมุมมองของเจ้าหน้าที่เฟดที่สะท้อนว่า เฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 75 bps. ในเดือนก.ค.  แต่มีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยด้วย scale ที่น้อยลงในรอบการประชุมหลังจากนี้ตามเงื่อนไขเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของสหรัฐฯ นอกจากนี้เงินดอลลาร์ฯ ยังขาดแรงหนุนที่ชัดเจนก่อนการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ในคืนนี้ด้วยเช่นกัน

 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้คาดไว้ที่ 35.90-36.15 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณเกี่ยวกับค่าเงินและดอกเบี้ยจากงาน media briefing ของธปท. ทิศทางฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติ และข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อาทิ ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราการว่างงานเดือนมิ.ย.