รีไฟแนนซ์ บ้านคึก รับมือดอกเบี้ยขึ้นปลายปี

05 ก.ค. 2565 | 18:37 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ค. 2565 | 01:38 น.
891

แบงก์โหม “รีไฟแนนซ์สินเชื่อบ้าน” ชูนาทีทอง “ดอกเบี้ยคงที่” ก่อนรับมือดอกเบี้ยขาขึ้นช่วงปลายปี ธอส.เตรียมขึ้นดอกเบี้ยต.ค. “ไทยพาณิชย์” ออกโปรแกรม My Sabai รวมหนี้บ้าน-่ไม่มีหลักประกันไว้ที่เดียว “กรุงศรี” ชี้หนุนตลาดรีบตัดสินใจ

อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ส่งให้ผลดอกเบี้ยทั่วโลกอยู่ในทิศทางขาขึ้น ซึ่งมีการประเมินว่า ไทยเอง โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ในการประชุมเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสินเชื่อที่อยู่อาศัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลให้ธนาคารหลายแห่งออกแคมเปญรีไฟแนนซ์บ้านดึงลูกค้า

รีไฟแนนซ์ บ้านคึก รับมือดอกเบี้ยขึ้นปลายปี

ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) เป็นรายแรกที่ปรับดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์(Rate refinance) เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม-15 สิงหาคม 2565 สำหรับยอดรีไฟแนนซ์ ที่เกิน 3 ล้านบาท หรือผู้กู้รายได้เกิน 70,000 บาท โดยแบ่งเป็น 4 ทางเลือก

  1. ทำประกันสินเชื่อ ( MRTA) เฉลี่ย 3 ปีอยู่ที่อัตรา 2.59% และ rate ตลอดอายุสัญญา (EIR) อยู่ที่ 3.98%
  2. ไม่ทำ MRTA เฉลี่ย 3 ปีอยู่ที่อัตรา 2.79% และ rate ตลอดอายุสัญญา (EIR) อยู่ที่ 4.06%สำหรับลูกค้าทั่วไป
  3. ทำ MRTA rate เฉลี่ย 3 ปีอยู่ที่ 2.79% และ rate ตลอดอายุสัญญา (EIR) อยู่ที่ 4.043%
  4. ไม่ทำ MRTA rate เฉลี่ย 3 ปีอยู่ที่ 2.99% และ rate ตลอดอายุสัญญา (EIR) อยู่ที่ 4.117%

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทิศทางอัตราดอกเบี้ยจากนี้ไปจะเป็นแนวโน้มขาขึ้น จึงยากต่อการประเมินผลกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อใหม่ว่าจะมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม ถ้ากนง.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบการประชุมเดือนสิงหาคมนี้ ธอส.จะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกต้นเดือน ตุลาคม 2565

รีไฟแนนซ์ บ้านคึก รับมือดอกเบี้ยขึ้นปลายปี

นางสาวอรรัตน์ ชุติมิต รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Retail and Business Banking ธนาคารไทยพาณิชย์กล่าวว่า ภาพรวมสินเชื่อบ้านปีนี้ มีแนวโน้มเติบโตจากปี 2564 ซึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านต่างๆ และสถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มคลี่คลายลง

รีไฟแนนซ์ บ้านคึก รับมือดอกเบี้ยขึ้นปลายปี

ขณะที่ผู้ประกอบการเริ่มมีความมั่นใจ ทำให้ทยอยเปิดตัวโครงการที่ถูกเลื่อนมาจากปีก่อน รวมถึงแผนเปิดตัวโครงการใหม่เพิ่มขึ้นในปี 2565 และมาตรการผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Loan-to-Value: LTV) เป็นการชั่วคราว ซึ่งที่อยู่อาศัยแนวราบจะเป็นกลุ่มนำการฟื้นตัวของตลาด บ้านแฝดได้ความนิยมมากขึ้น จากความคุ้มค่าในด้านฟังก์ชั่น และระดับราคาที่ไม่สูงเท่าบ้านเดี่ยว

 

“ธนาคารฯ ตั้งเป้าเติบโตสินเชื่อบ้านปีนี้ประมาณ 3-5% โดยช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาถือว่า สามารถทำได้ตามแผนที่ตั้งไว้ ส่วนสถานการณ์รีไฟแนนซ์สินเชื่อบ้านของไทยพาณิชย์ มีแนวโน้มชะลอตัวลงเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากการแข่งขันทำการตลาดที่สูงจากสถาบันการเงินอื่นใน เรื่องอัตราดอกเบี้ย” นางอรรัตน์กล่าว

 

อย่างไรก็ตามปีนี้ธนาคารได้ออกโปรแกรมสินเชื่อบ้านรีไฟแนนซ์ My Sabai ซึ่งเป็นการรวมหนี้ (บ้านรถ บัตร) และหนี้ที่ไม่มีหลักประกันไว้ที่เดียว เพื่อเพิ่มสภาพคล่องด้วยการผ่อนชำระที่นานขึ้น ลดภาระการผ่อน ด้วยอัตราดอกเบี้ยบ้านรีไฟแนนซ์ที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน

 

กลยุทธ์หลักๆปี 2565 ไทยพาณิชย์ยังคงเน้นรักษาฐานลูกค้าเก่า โดยใช้ข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อเสนอวงเงินกู้เพิ่มและปรับอัตราผ่อนให้ตรงความสามารถและความต้องการของลูกค้า ส่วนสินเชื่อใหม่ยังคงให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ โดยร่วมทำแคมเปญพิเศษ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าที่มีศักยภาพ มีความต้องการสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่แท้จริง และกระตุ้นยอดโอนสำหรับโครงการพันธมิตรด้วย

 

นายณัฐพล ลือพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคาร กรุงศรีอยุธยากล่าวว่า เทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้นเป็นโอกาสกระตุ้นตลาดรีบตัดสินใจกู้ซื้อบ้านเพื่อล็อคต้นทุน เพราะต้นทุนก่อสร้างบ้านใหม่ที่เพิ่มขึ้นจากแรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อจะทำให้ราคาบ้านใหม่แพงกว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่ดอกเบี้ยอัตราคงที่จะถูกร่นระยะเวลายกเลิกออกไปเร็วขึ้นโดยไม่รอคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

รีไฟแนนซ์ บ้านคึก รับมือดอกเบี้ยขึ้นปลายปี

“ปีนี้เราจะมีส่วนเพิ่มทั้งโปรดักต์ที่สร้างเซ็กเม้นใหม่ เช่น LBGTQ+ และกลยุทธ์ One Retail เชื่อว่า จะทำให้สินเชื่อบ้านของเราเติบโตได้มากกว่าตลาด ส่วนตลาดรีไฟแนนซ์ทั้งระบบจะวิ่งอยู่ประมาณ 15-18% เทียบกับสินเชื่อปล่อยใหม่ ซึ่งปีนี้คาดว่า สินเชื่อใหม่น่าจะบวกได้ราว 5% หรือประมาณ 6.43-6.55 แสนล้านบาท กว่าจะกลับไปเท่าปี 2562 หรือก่อนโควิด คาดว่าจะเป็นปี 2566”นายณัฐพลกล่าว

 

นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทยกล่าวว่า แนวโน้มสินเชื่อบ้านยังคงเติบโตต่อเนื่องจาก 3 ปัจจัยคือ ดีมานด์ยอดสินเชื่อบ้าน รวมทั้งซัพพลายที่จะทยอยออกมาตั้งแต่ไตรมาส 2 และอัตราดอกเบี้ยที่จะเพิ่มขึ้น จะเร่งให้คนตัดสินใจและต้องการอัตราดอกเบี้ยคงที่

รีไฟแนนซ์ บ้านคึก รับมือดอกเบี้ยขึ้นปลายปี

“ธีมครึ่งปีหลัง ธนาคารจะลดหรือยกเลิกการปล่อยอัตราดอกเบี้ยคงที่หรืออาจจะลดระยะเวลาคงที่สั้นลงเหลือ 3 เดือน 6 เดือนหรือไม่มีเลย ซึ่งสินเชื่อรีไฟแนนซ์ของซีไอเอ็มบีไทยคิดดอกเบี้ยคงที่เฉลี่ย 3ปี 2.39% ปัจจุบันธนาคารมีพอร์ตสินเชื่อรีไฟแนนซ์ สัดส่วน 70-80% ของพอร์ตสินเชื่อรวม 1 แสนล้านบาท” นายเอกสิทธิ์กล่าว

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,797 วันที่ 3- 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2565