กรุงศรีเผยไตรมาสแรกปี65กำไร 7.42 พันล้านบาท

20 เม.ย. 2565 | 20:15 น.
อัปเดตล่าสุด :21 เม.ย. 2565 | 03:28 น.

กรุงศรี เผยไตรมาสแรกปี 2565 กำไร 7,418 ล้านบาท จากการลดลงของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เนื่องจากคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น พร้อมหนุนภาคธุรกิจและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ) รายงานผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2565 มีกำไรสุทธิจำนวน 7,418 ล้านบาท จากการลดลงของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

 

เนื่องจากคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น โดยกรุงศรีมุ่งมั่นสานต่อพันธกิจหลักเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูภาคธุรกิจและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ท่ามกลางผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดที่ยืดเยื้อและปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิศาสตร์การเมือง

นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “แม้ว่าจะเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน และปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน หากแต่พันธกิจหลักของกรุงศรีที่มุ่งเน้นในการสนับสนุนการฟื้นฟูภาคธุรกิจและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

จึงทำให้สินเชื่อขยายตัวได้ 2.0% ในไตรมาสแรกของปี 2565 จากความต้องการสินเชื่อของธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สะท้อนความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่ปรับตัวดีขึ้นกอปรกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง”

 

“เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรก ภายใต้ภาวะการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนนับแต่ต้นปี 2565 ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยสนับสนุนจากภาคการส่งออก ควบคู่ไปกับมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายภายในประเทศ กรุงศรีคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามวิกฤตความขัดแย้งด้านภูมิศาสตร์การเมืองในปัจจุบันจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านการปรับขึ้นของราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ และอุปสงค์จากต่างประเทศที่ชะลอลง กรุงศรีจึงปรับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 เป็น 2.8% จากเดิมที่ 3.7%”

 

ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 กรุงศรี ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับห้าในระบบเศรษฐกิจไทยจากมูลค่าสินทรัพย์ สินเชื่อและเงินรับฝาก และเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) มีสินเชื่อรวม 1.93 ล้านล้านบาท เงินรับฝาก 1.83 ล้านล้านบาท และสินทรัพย์รวม 2.61 ล้านล้านบาท ขณะที่เงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 291.34 พันล้านบาท หรือเทียบเท่า 18.25% ของสินทรัพย์เสี่ยง โดยเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นของเจ้าของคิดเป็น 13.32%

 

แม้เผชิญความท้าทายของสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจ เงินให้สินเชื่อรวมของกรุงศรียังคงเติบโตได้ที่ 2.0% ในไตรมาสแรกของปี 2565 จากความต้องการสินเชื่อของธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งเติบโตถึง 3.9% และ 4.0% ตามลำดับ สะท้อนความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่ปรับตัวดีขึ้น กอปรกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยตัวชี้วัดด้านคุณภาพสินทรัพย์ยังคงแข็งแกร่งจากอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ที่อยู่ในระดับต่ำเพียง 2.03% และอัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ในระดับสูงสุดที่เคยบันทึกที่ 191.6%

 

สรุปผลประกอบการและฐานะการเงินที่สำคัญสำหรับไตรมาสแรก: 

กำไรสุทธิ จำนวน 7,418 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 1,033 ล้านบาท หรือ 16.2% จากไตรมาสที่สี่ของปี 2564 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการลดลงของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น สะท้อนถึงคุณภาพสินทรัพย์ที่แข็งแกร่งขึ้น และเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2564 กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 913 ล้านบาท หรือ 14.0% โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของกำไรจากการดำเนินงานและการลดลงของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

• เงินให้สินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น 2.0% หรือจำนวน 38,194 ล้านบาท จากสิ้นปี 2564 จากความต้องการสินเชื่อของธุรกิจขนาดใหญ่ และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งเติบโตถึง 3.9% และ 4.0% ตามลำดับ

เงินรับฝาก เพิ่มขึ้น 2.8% หรือจำนวน 50,041 ล้านบาท จากไตรมาสก่อนหน้า ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของเงินรับฝากประเภทออมทรัพย์ สะท้อนการปรับตัวดีขึ้นของสัดส่วนของเงินรับฝากประเภทออมทรัพย์และจ่ายคืนเมื่อทวงถามต่อเงินรับฝากทั้งหมด

• ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 3.28% เทียบกับ 3.41% จากไตรมาสก่อนหน้า

• รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย ลดลงจำนวน 502 ล้านบาท หรือ 5.7% จากไตรมาสที่สี่ของปี 2564 โดยมีปัจจัยหลักมาจากลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิจากกิจกรรมทางธุรกิจของลูกค้าตามฤดูกาลในไตรมาสที่ผ่านมา

อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ ปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 42.7% ลดลงจาก 43.9% ในไตรมาสที่สี่ของปี 2564 สะท้อนถึงประสิทธิภาพการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เป็นไปตามเป้าหมายของอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้สำหรับปี 2565 ในช่วงกลางของ 40%

• อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) ปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 2.03% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 เทียบกับ 2.20% ณ สิ้นปี 2564

•อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ อยู่ในระดับสูงสุดที่เคยบันทึกที่ 191.6% ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับ 184.2% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564

•อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (ของธนาคาร) ยังคงแข็งแกร่งอยู่ที่ 18.25% เทียบกับ 18.53% ณ สิ้นปี 2564