ทำความเข้าใจ ภาวะเงินเฟ้อรุนแรง และโอกาสเกิดขึ้นกับไทย

14 มี.ค. 2565 | 17:14 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มี.ค. 2565 | 00:15 น.
1.5 k

ทำความเข้าใจ ภาวะเงินเฟ้อรุนแรง และโอกาสเกิดขึ้นกับไทย : คอลัมน์ยังอีโคโนมิสต์ โดย อริสา จันทรบุญทา ผู้เชี่ยวชาญ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี

ปัจจุบันทั่วโลกต่างกังวลกับปัญหาอัตราเงินเฟ้อ (Inflation) ที่เร่งตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะแรงกดดันของต้นทุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่กำลังเพิ่มขึ้น หลังเกิดสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ขณะเดียวกันมีบางประเทศที่กำลังประสบภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง (Hyperinflation) อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19  นั่นคือ ประเทศตุรกีและเวเนซุเอลา

 

สถานการณ์ปัจจุบันได้สร้างความกังวลถึงโอกาสที่จะเกิด ภาวะเงินเฟ้อ รุนแรงดังกล่าวขึ้นในส่วนอื่น ๆ ของโลก จึงควรทำความเข้าใจถึงสาเหตุ และข้อบ่งชี้ที่สำคัญที่จะนำไปสู่ภาวะดังกล่าว

ภาวะเงินเฟ้อเป็นการเพิ่มขึ้นของระดับราคาสินค้าและบริการทั่วไป (General Price Level) ในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งหากเกิดเงินเฟ้อเพียงเล็กน้อยก็จะเป็นผลดีในการสร้างแรงจูงใจแก่ผู้ผลิต และกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้เติบโตต่อเนื่อง แต่ในกรณีภาวะเงินเฟ้อรุนแรง ถือเป็นสถานการณ์ที่ระดับราคาสินค้าและบริการทั่วไปในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในระดับสูงอย่างรวดเร็ว และไม่สามารถควบคุมได้ หรือพิจารณาได้จากภาวะที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 ต่อเดือนขึ้นไป

 

ดังนั้น จึงถือเป็นปรากฎการณ์ทางเศรษฐกิจที่ธนาคารกลางของประเทศส่วนใหญ่ต่างหวาดกลัว เนื่องจากจะนำไปสู่การหดตัวขั้นรุนแรงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและทำลายความเชื่อมั่นต่อค่าเงินของประเทศ

ทั้งนี้ ประเทศส่วนใหญ่ที่ประสบปัญหาภาวะเงินเฟ้อรุนแรง มีสาเหตุจาก

  1. เกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
  2. มีการผลิตธนบัตรในปริมาณมาก
  3. ธนาคารกลางไม่สามารถรักษาความน่าเชื่อถือของเงินตราไว้ได้

 

กล่าวโดยรวม คือ เป็นประเทศที่มีการขยายตัวของเศรษฐกิจต่ำกว่าการขยายตัวของปริมาณเงินในระบบ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ จึงมักเกิดขึ้นกับประเทศที่เข้าสู่ภาวะสงคราม หรือเกิดความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่จนมีการอัดฉีดเงินเข้าระบบในปริมาณมาก เช่น ภาวะเงินเฟ้อรุนแรงในประเทศเยอรมนีหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 และภาวะเงินเฟ้อรุนแรงในประเทศซิมบับเวจากความล้มเหลวในการเพิ่มศักยภาพการผลิต หลังการปฏิรูปยึดคืนที่ดินจากคนผิวขาวในช่วงปี 2550

 

อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่าในช่วงที่เกิดการหดตัวทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่จากการล็อกดาวน์ทั่วโลกหลังโรคโควิด-19 แพร่ระบาดอย่างหนัก แม้ธนาคารกลางทั่วโลกต่างอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินโลกเป็นจำนวนมาก แต่กลับไม่เกิดปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงขึ้นในเศรษฐกิจโลก ในขณะที่ตุรกีและเวเนซุเอลาต่างประสบปัญหานี้มาตั้งแต่ก่อนช่วงวิกฤตโควิด-19

 

ทั้งนี้ เมื่อถอดบทเรียนเชิงลึกจากประเทศที่เคยเกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรงในอดีต รวมถึงประเทศตุรกีและเวเนซุเอลาที่กำลังประสบอยู่ในช่วงปัจจุบัน พบว่ามีข้อบ่งชี้ที่คล้ายกันสองประการที่เศรษฐกิจของแต่ละประเทศจะเข้าสู่ภาวะวิกฤตเงินเฟ้อรุนแรงได้ คือ

  1. มีการสะสมความไม่สมดุลของเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomic Imbalance) ในระดับสูงมาก่อนหน้า เช่น ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด มีหนี้สาธารณะและหนี้ต่างประเทศสูง  
  2. มีการใช้นโยบายบริหารเศรษฐกิจการเงินอย่างไม่เหมาะสม เช่น ผลิตธนบัตรในปริมาณมาก

 

กรณีเวเนซุเอลา ซึ่งพึ่งพาการส่งออกน้ำมันไปประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นรายได้หลัก และมีการก่อหนี้มากในช่วงราคาน้ำมันสูง ดังนั้น เมื่อเผชิญการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ พร้อมกับราคาน้ำมันโลกที่ตกต่ำลงนับตั้งแต่กลางปี 2557 ส่งผลให้บัญชีเดินสะพัดขาดดุลในระดับสูง ขณะเดียวกัน ยังประสบปัญหาการขาดดุลงบประมาณภาครัฐอย่างหนักจากการที่รัฐบาลเข้าไปดูแลบริษัทน้ำมันแห่งชาติซึ่งประสบภาวะขาดทุนสูงด้วย

 

ประกอบกับมีความไม่เหมาะสมในการดำเนินนโยบายบริหารเศรษฐกิจโดยการผลิตธนบัตรเพิ่มเติมในปริมาณมากเพื่อนำมาใช้จ่ายทดแทนการขาดดุลงบประมาณ (Deficit Financing) ส่งผลให้ค่าเงินตกต่ำอย่างต่อเนื่องและ ทำให้ราคาสินค้านำเข้าสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและเร่งให้ระดับราคาสินค้าทั่วไป (General Price Level) ในประเทศพุ่งทะยานจนเกินควบคุม จนกระทั่งค่าเงินของประเทศขาดความน่าเชื่อถือ ด้วยเศรษฐกิจที่อ่อนแอเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยิ่งทำให้ประสบภาวะถดถอยอย่างรุนแรง

ทำความเข้าใจ ภาวะเงินเฟ้อรุนแรง และโอกาสเกิดขึ้นกับไทย

กรณีประเทศตุรกีก็เช่นกัน โดยประเทศประสบปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง และมีการกู้ยืมเงินสกุลต่างประเทศเป็นจำนวนมาก เมื่อเกิดภาวะวิกฤตขึ้น ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและค่าเงินก็ลดลงทันที ส่งผลให้เงินลีราซึ่งเป็นสกุลเงินประเทศตุรกีอ่อนค่าลงและกดดันให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

มูลค่าหนี้ต่างประเทศที่พุ่งขึ้นมหาศาลก็ส่งผลให้เกิดปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ตามมา ในส่วนของการทำนโยบายการเงินก็กลับเน้นการรักษาอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำในช่วงที่เงินเฟ้อกำลังเร่งตัว จึงส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทะยานขึ้นเร็วจนเกินควบคุมและเศรษฐกิจตุรกีได้เข้าสู่ภาวะถดถอย

 

ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากข้อบ่งชี้สำคัญสองประการสามารถประเมินได้ว่า การอัดฉีดเงินขนานใหญ่ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ไม่นำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อรุนแรงทั่วโลก เนื่องจาก

  1. ช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 หลายประเทศทั่วโลกยังมีเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาคที่เข้มแข็งเพียงพอที่จะรองรับวิกฤตกระทันหันจากการเกิดโรคระบาด
  2. การอัดฉีดเงินปริมาณมากเข้าสู่ระบบ (QE) ผ่านการซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน เป็นการตอบสนองเชิงนโยบายที่เหมาะสม เพื่อดูแลป้องกันไม่ให้ตลาดการเงินสะดุดตัวลง หลังเกิดความตื่นตระหนกในตลาด ซึ่งนับเป็นการเสริมความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ถือครองเงินตราและสินทรัพย์ทางการเงินสกุลนั้นว่ามันจะไม่เสื่อมค่าลงแม้เกิดวิกฤตโรคระบาดขึ้น และช่วยลดโอกาสในการเกิดเงินเฟ้อจากการเสื่อมความเชื่อมั่นในเงินตราสกุลนั้นลงด้วย
  3. ธนาคารกลางส่วนใหญ่ได้รับความน่าเชื่อถือในระดับสูง จากการดำเนินงานตามกรอบนโยบายดูแลรักษาระดับอัตราเงินเฟ้อและการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้อัดฉีดคิวอีรายใหญ่สุดของโลก

 

ขณะเดียวกัน ในช่วงปัจจุบันที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงฟื้นตัว ธนาคารกลางบางส่วนได้ทยอยดำเนินการตามแผนปรับลดขนาดคิวอีผ่านการปรับลดวงเงินซื้อพันธบัตรที่ครบกำหนดในช่วงอายุและในระยะเวลาที่กำหนด อย่างไรก็ตาม สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่เกิดขึ้นและมีการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกันนั้น ย่อมส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอลงและเงินเฟ้อเร่งตัวเร็วจากราคาน้ำมัน

 

ซึ่งแม้จะไปเพิ่มความเสี่ยงของการเกิด Stagflation (มีลักษณะของเศรษฐกิจถดถอยและเงินเฟ้อสูง) ขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก แต่โอกาสที่จะเกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรง ยังมีจำกัดเฉพาะในกลุ่มประเทศที่เกี่ยวพันกับสงครามและมีการเพิ่มงบประมาณใช้จ่ายทางทหารขนานใหญ่ 

 

เมื่อพิจารณากรณีของประเทศไทยพบว่าโอกาสเกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรงเพิ่มขึ้นเช่นกันจากเศรษฐกิจที่อาจกลับมาหดตัว และเงินเฟ้อที่เร่งขึ้นเร็วตามตามราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ แต่โอกาสที่จะเกิดขึ้นเป็นไปได้ยาก เนื่องจาก

 

  • พื้นฐานเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาคของไทยเข้มแข็ง แม้บัญชีเดินสะพัดจะขาดดุลในช่วงการระบาดของสถานการณ์โควิด-19  แต่ปัจจุบันกำลังปรับตัวดีขึ้นตามภาวการณ์ท่องเที่ยวและการค้าโลก แต่สงครามฯ อาจทำให้การฟื้นตัวของดุลบัญชีเดินสะพัดล่าช้าออกไป ส่วนการขาดดุลงบประมาณการคลังที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ถือว่ายังจำเป็นเพื่อประคองเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัว และโดยรวมยังอยู่ภายในระดับที่สามารถบริหารจัดการหนี้สาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว การขาดดุลการคลังจะทยอยลดลงโดยอัตโนมัติ

 

  • เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ช่วงวัฏจักรเศรษฐกิจขาขึ้น แม้จังหวะการฟื้นตัวอาจชะลอลงไปบ้างจากปัจจัยนอกประเทศ โดยได้รับแรงสนับสนุนทั้งนโยบายการเงิน นโยบายการคลัง และมาตรการด้านสินเชื่อของสถาบันการเงิน

 

  • การดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเป็นสิ่งเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่การขึ้นดอกเบี้ยเพื่ออัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงตามราคาน้ำมันในตลาดโลกในปัจจุบันยังไม่มีความจำเป็น เนื่องจากเป็นการเพิ่มขึ้นของราคาในสินค้าบางกลุ่มเท่านั้น

 

อย่างไรก็ตาม หากมีสัญญาณราคาสินค้าเพิ่มขึ้นในบริเวณกว้าง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็มีเครื่องมือที่พร้อมเข้ามาจัดการได้ทันท่วงที และในด้านการดูแลเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน หากเกิดความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศจนอาจส่งผลเสียต่อเสถียรภาพค่าเงินบาทอย่างมีนัยสำคัญ ธปท. ก็มีเครื่องมือหลายอย่างที่พร้อมเข้ามาดูแลเช่นกัน รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนทองคำในทุนสำรองฯ มีส่วนช่วยดูแลรักษาความน่าเชื่อถือและรักษาอำนาจซื้อของเงินบาทไทยในตลาดโลก ในภาวะที่เงินทุนเคลื่อนย้ายผันผวนทั่วโลก

 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศราฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,765 วันที่ 13 - 16 มีนาคม พ.ศ. 2565