สแกนปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย หลังเพิ่มเร็วเมื่อเทียบจีดีพี

14 ม.ค. 2565 | 15:37 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ม.ค. 2565 | 23:41 น.

สแกนปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย หลังเพิ่มเร็วเมื่อเทียบจีดีพี : คอลัมน์ยังอีโคโนมิสต์ โดย อริสา จันทรบุญทา ผู้เชี่ยวชาญ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี

จากสถานการณ์โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อรายได้และทำให้เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องในครัวเรือน จึงถือเป็นปัจจัยซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยที่เรื้อรังมานานให้รุนแรงขึ้น เมื่อมองในระยะยาว หนี้ครัวเรือนที่มีอยู่ในระดับสูงมักส่งผลต่อความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนและกระทบต่อศักยภาพของการเติบโตทางเศรษฐกิจ

 

การจัดการหนี้ครัวเรือนจึงถือเป็นสิ่งสำคัญและเป็นความท้าทายในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงินของไทยในปัจจุบัน และเมื่อพิจารณาข้อมูลล่าสุดพบปัญหาหลักของหนี้ครัวเรือนไทยที่น่าสนใจ ได้แก่

1.หนี้ปรับตัวขึ้นเร็วในช่วงวิกฤตโควิด-19 ซึ่งเพิ่มขึ้น 12% จากช่วงก่อนเกิดวิกฤตในปลายปี 2562 โดย ณ สิ้นปี 2562 หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่  79.8% ของจีดีพี และล่าสุดไตรมาส 2/2564 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 89.3% ซึ่งสูงเป็นอันดับ 12 ของโลก และคาดว่าจะถึง 92-93% ณ สิ้นปี 2564 หลังเกิดการระบาดในประเทศในระลอกเดือนเมษายน 2564 ขณะที่หนี้ครัวเรือนของประเทศอื่นๆ ปรับเพิ่มขึ้นมาราว 8% จากปลายปี 2562

สแกนปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย หลังเพิ่มเร็วเมื่อเทียบจีดีพี

 

2.ขนาดเม็ดเงินหนี้ครัวเรือนไทยใหญ่กว่ามาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านในอาเซียนและมีอันดับหนี้ใกล้เคียงกันราว 1.4-1.6 เท่า แต่ยังต่ำกว่าขนาดหนี้ของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้อยู่ 5-7 เท่า ซึ่งทั้งสองประเทศนี้มีขนาดหนี้ใหญ่มากใกล้เคียงกับประเทศตะวันตก เช่น ฝรั่งเศส และปัจจุบันเกาหลีใต้มีหนี้ครัวเรือนมากสุดในเอเชีย เนื่องจากหนี้ที่เพิ่มเร็วและมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับขนาดของจีดีพีประเทศ นอกจากนี้ ไทยยังมีขนาดหนี้ครัวเรือนสูงกว่าฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียอยู่มาก

 

3.ด้านองค์ประกอบหนี้ ไทยมีหนี้ประเภทไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Unsecured loan) ซึ่งมีดอกเบี้ยแพงอยู่ราว 35% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด และโดยรวมถือว่ามากกว่าประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และฝรั่งเศส ซึ่งมีหนี้ครัวเรือนประเภทที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันในสัดส่วนที่ต่ำกว่า แต่ถือว่ายังใกล้เคียงกับสัดส่วนหนี้ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันของมาเลเซีย

 

ดังนั้น แม้ขนาดหนี้ของไทยดูไม่น่ากังวลเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว แต่ก็ถือว่า มีขนาดหนี้สูงสุดในอาเซียนและในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งยังไม่ได้นับรวมหนี้นอกระบบที่มีอยู่อีกราว 0.55% ของจีดีพี ประกอบกับหนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นเร็วเมื่อเทียบกับการขยายตัวของจีดีพี และมีหนี้ประเภทไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันอยู่ในสัดส่วนที่สูง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยต้องแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างเร่งด่วน

 

ล่าสุดข้อมูลการเติบโตของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคของไทย สะท้อนให้เห็นว่า สินเชื่อประเภทที่อยู่อาศัย (Mortgage) และสินเชื่อส่วนบุคคล (P-loan) เป็นหนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ P-loan ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันซึ่งเป็นสินเชื่อที่มีดอกเบี้ยสูง และเป็นหนี้ที่เกี่ยวข้องกับลูกหนี้จำนวนมาก โดยคนไทยเป็นหนี้ประเภทนี้กันมากนับตั้งแต่ช่วงต้นของวัยทำงานไปจนถึงวัยก่อนเกษียณ

สแกนปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย หลังเพิ่มเร็วเมื่อเทียบจีดีพี

จึงถือเป็นประเภทหนี้สำคัญที่ต้องได้รับการจัดการอย่างเร่งด่วน และเมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์คุณภาพหนี้ในปัจจุบันที่แย่ลงกว่าที่ดัชนีชี้วัดคุณภาพหนี้ตามปกติจะช่วยสะท้อนปัญหาได้ ซึ่งทั้งสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อที่อยู่อาศัยต่างมีคุณภาพหนี้แย่ลงมากเมื่อเทียบกับสินเชื่อประเภทอื่น 

 

ทั้งนี้ สะท้อนได้จากปริมาณหนี้ที่เข้าโครงการรับความช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ของธปท. ในไตรมาส 3/2564 สูงถึง 12.5% ของจีดีพี ซึ่งสูงกว่าดัชนีชี้วัดคุณภาพหนี้ตามปกติอยู่มาก  โดยสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL หรือ Stage 3) มีอยู่เพียง 1%ของจีดีพี และสินเชื่อจัดชั้น กล่าวถึงเป็นพิเศษหรือหนี้ค้างชำระ 1-3 เดือน (SM หรือ Stage 2) อยู่ที่ 2.2% ของจีดีพี โดยประเภทหนี้ที่ขอเข้ารับการช่วยเหลือมากที่สุด คือ สินเชื่อส่วนบุคคล (5.6%ของจีดีพี) และ สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (5.3%ของจีดีพี) 

 

เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างผู้ปล่อยกู้พบว่า สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) และสถาบันการเงินอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-bank) มี P-loan ในสัดส่วน 41% ของพอร์ตที่ปล่อยกู้ทั้งหมด (คิดเป็น 74% ของสินเชื่อ P-loan ทั้งระบบ) ขณะที่ธนาคารพาณิชย์มี P-loan ในสัดส่วน 19% ของพอร์ตสินเชื่อปล่อยกู้ (คิดเป็น 26% ของสินเชื่อ P-loan ทั้งระบบ)

 

นอกจากนี้ สินเชื่อประเภท Mortgage มีสัดส่วน 42% ของพอร์ตสินเชื่อที่ปล่อยกู้ทั้งหมดของธนาคารพาณิชย์ และ 29% สำหรับพอร์ตสินเชื่อที่ปล่อยกู้ทั้งหมดของ SFIs และ Non-bank (คิดเป็นสัดส่วน 52% และ 48% ของสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ทั้งระบบตามลำดับ) 

 

ดังนั้น นอกจากธนาคารพาณิชย์ที่ต้องเข้มงวดและปล่อยกู้อย่างมีความรับผิดชอบแล้ว SFIs และNon-bank ถือเป็นอีกส่วนสำคัญในการดูแลคุณภาพสินเชื่อและช่วยประคองลูกหนี้ โดยการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว เพื่อช่วยให้ลูกหนี้ก้าวข้ามผ่านเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้ โดยเฉพาะหนี้ประเภท P-loan ที่ทั้ง SFIs และ Non-bank ต่างเป็นผู้ให้กู้หลัก

 

อีกทั้งยังมีปัญหาหนี้นอกระบบซึ่งเป็นอีกความท้าทายสำคัญ ที่ภาครัฐจะให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ได้ ท้ายที่สุด การให้ความรู้ด้านการเงินและวิธีการบริหารจัดการหนี้ที่เหมาะสมให้แก่ประชาชน พร้อมเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัวได้เร็ว ทั่วถึงและรักษาเสถียรภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ในระยะยาว ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้ไทยก้าวข้ามอุปสรรคหนี้ครัวเรือนนี้ไปได้อย่างยั่งยืนในที่สุด