จับตาหุ้นกู้ ปี65 ครบดีล 6.9 แสนล้านบาท

17 ม.ค. 2565 | 14:59 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ม.ค. 2565 | 21:59 น.
1.1 k

เอกชนจ่อระดมทุนปี 65 ออกหุ้นกู้กว่า 1 ล้านล้านบาท ล็อกต้นทุนดอกเบี้ยขาขึ้น ทีทีบีจับตาหุ้นกู้เอกชน ที่จะครบกำหนดปีนี้กว่า 6.89 แสนล้าน ส่วนใหญ่อยู่กลุ่มอสังหาฯกว่า 2 แสนล้าน คาดยืดอายุรักษาสภาพคล่อง ยังมีหุ้นกู้ไม่มีเรตติ้งอีก 1.07 แสนล้านบาท

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย หรือ ThaiBMA รายงานการออกหุ้นกู้ระยะยาวปี 2564 พบว่า มูลค่าทะลุ 1 ล้านล้านบาทเป็นปีที่ 2 โดยมียอดการออกที่ 1,034,572 ล้านบาท สูงขึ้น 50% จากปีก่อนหน้า เพิ่มขึ้นทั้งกลุ่ม Investment grade และ High yield และคาดว่าปี 2565 มูลค่าการออกหุ้นกู้ระยะยาวจะทะลุ 1 ล้านล้านบาทเป็นปีที่ 3 เนื่องจากเชื่อว่า เศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวได้ในครึ่งปีหลัง รวมถึงบริษัทเอกชนไทยที่น่าจะยังมีความต้องการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวประกอบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ยังอยู่ในระดับต่ำ 

 

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มการออกหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนในปี 2565 น่าจะมากกว่า 1 ล้านล้านบาท เพื่อรองรับต้นทุนจากดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งต้นทุนโดยรวมในการออกหุ้นกู้ปี 2565 อาจจะเพิ่มสูงด้วย เช่น หุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตต่ำกว่า BBB น่าจะทำตลาดยาก 

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ประกอบกับแนวโน้มต้นทุนในการออกหุ้นกู้จะแพงขึ้นจากช่วงปลายปี 2564 ที่อัตราผลตอบแทน (Bond yield) ปรับขึ้นมาแล้วและกำลังเป็นขาขึ้นตามทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ หากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตามที่ตลาดคาดไว้ แม้สภาพคล่องในระบบยังอยู่ในระดับสูง ไม่เป็นอุปสรรคต่อการระดมทุนออกหุ้นกู้

จับตาหุ้นกู้ ปี65 ครบดีล 6.9 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ปี 2564 มีหุ้นกู้ออกใหม่รวม 1,152,379 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นกู้ระยะสั้น 304,938 ล้านบาท และหุ้นกู้ระยะยาว 847,441 ล้านบาท โดยการออกหุ้นกู้เพิ่มขึ้น 39% จากปี 2563 ที่มีจำนวน 828,939 ล้านบาท เนื่องจากปี 2563 ตลาดกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจ หลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และค่าชดเชยความเสี่ยงของหุ้นกู้ที่ไม่ใช่อันดับเครดิต AAA ขยับสูงขึ้น ซึ่งเพิ่มต้นทุนต่อภาคธุรกิจ

“ปี 63 เกิดการระบาดของโควิด ช่วงเมื่อเดือนมีนาคมประกอบกับค่าชดเชยความเสี่ยงในการออกหุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตต่ำ (NonInvestment Grade) จะแพง จึงมีการชะลอออกหุ้นกู้ในปีดังกล่าว และธุรกิจบางส่วนหันไปพึ่งสินเชื่อแบงก์ ช่วงนั้นสินเชื่อแบงก์จะเติบโต ขณะที่ผู้ลงทุนหรือผู้ซื้อหุ้นกู้ในประเทศนั้น ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนรายย่อย บริษัทประกัน กลุ่มกองทุนต่าง รวมถึงกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และสหกรณ์”นางสาวกาญจนากล่าว 

 

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttbAnalytics) กล่าวว่า ปี 2565 จะมีหุ้นกู้เอกชนที่จะครบอายุ 689,473 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เฉพาะกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างอยู่ที่ 217,552 ล้านบาท สะท้อนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานกลับมาได้บ้าง แต่มีแนวโน้มที่กลุ่มนี้จะยืดอายุออกไป เพื่อรักษาสภาพคล่องไว้

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี

ถัดมาเป็นภาคการเงิน 163,189 ล้านบาท ตามด้วยกลุ่มอื่นๆ 87,809 ล้านบาท กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร 80,095 ล้านบาท ส่วนภาคบริการมีเพียง 62,000 ล้านบาท ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหาแต่อย่างใด

 

ทั้งนี้หากพิจารณาอันดับความน่าเชื่อถือที่น่ากังวลคือ กลุ่ม Non rate มีกว่า 107,392 ล้านบาท ที่เหลือเป็น Investment grade ขึ้นไป ขณะที่ต้นทุนในการออกหุ้นกู้มีแนวโน้มปรับขึ้นตามดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ซึ่งตลาดคาดการณ์เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯออกมาดี

 

เห็นได้จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีอยู่ที่ 2%ต่อปี มีโอกาสปรับขึ้นตามพันธบัตรสหรัฐ สะท้อนต้นทุนรีไฟแนนซ์หุ้นกู้ที่สูงขึ้นตามดอกเบี้ยตลาด ส่วนผลตอบแทนระยะสั้น ยังวิ่งตามดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่สภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีเหลือเฟือ แต่ตลาดพันธบัตรหรือหุ้นหุ้นอาจจะไม่มาก เพราะทางเลือกในการลงทุนมากขึ้น และผลตอบแทนสูง อย่างน้อยยังไม่เห็นระบบธนาคารพาณิชย์แข่งระดมเงินฝากกัน

 

 “การโรลโอเวอร์ด้วยจำนวนค่อนข้างมาก และต้นทุนที่จะสูง จะเห็นการแข่งกันรีบระดมทุน เพราะหุ้นกู้ที่จะครบกำหนด 60% อยู่ในครึ่งปีแรก” นายนริศ กล่าว

 

ทั้งนี้ หากพิจารณาหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไตรมาสแรกมี 193,006 ล้านบาท ไตรมาสสอง 218,004 ล้านบาท ไตรมาสสาม 132,244 และไตรมาส4 อีก 146,219 ล้านบาท ส่วนหุ้นกู้กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่จะครบกำหนดไตรมาสหนึ่ง 41,510 ล้านบาท ไตรมาสสอง 93,858 ล้านบาท ไตรมาสสาม 40,412 ล้านบาทและไตรมาส 4 อีก 41,771ล้านบาท

 

อย่างไรก็ตาม ทั้งระบบธนาคารและเอกชนพยายามจะล็อคดอกเบี้ยระยะยาวก่อนที่ดอกเบี้ยจะปรับเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,749 วันที่ 16 - 19 มกราคม พ.ศ. 2565