KKP บุกช่องทางดิจิทัลขยายฐานลูกค้าใหม่ทั้งรายย่อยและกลุ่มเวลธ์

31 ม.ค. 2565 | 21:03 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.พ. 2565 | 04:24 น.

กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรเตรียมบุกช่องทางดิจิทัลขยายฐานลูกค้าใหม่ ตั้งเป้าสินเชื่อโต 12% พร้อมโฟกัสธุรกิจตลาดทุน หลังเติบโตต่อปี 15-20% เน้นกระจายความเสี่ยงและจัดพอร์ตให้ลูกค้าแต่ละราย

นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร(KKP) เปิดเผยว่า เป้าหมายทางการเงินในปี 2565 ธนาคารพยายามเติบโตหลังจากปี 2564 สามารถขยายการเติบโตได้ค่อนข้างดี โดยธนาคารตั้งเป้าเติบโตสินเชื่อภาพรวมอยู่ที่ 12% ซึ่งจะมาจากสินเชื่อรายย่อยมากกว่าสินเชื่อธุรกิจ

KKP บุกช่องทางดิจิทัลขยายฐานลูกค้าใหม่ทั้งรายย่อยและกลุ่มเวลธ์

ขณะเดียวกัน ธนาคารพยายามเติบโตในธุรกิจฝั่งตลาดทุนควบคู่กันกับสินเชื่อ เนื่องจากเป็นตลาดที่สร้างรายได้ โดยปีที่ผ่านมาธุรกิจ Private Wealth Management มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUA) อยู่ที่ 7.34 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% ซึ่งเป็นเงินใหม่ 5.7 หมื่นล้านบาท

 

"ปีนี้ธนาคารไม่ได้ตั้งเป้า เนื่องจากมองว่าตลาดยังคงผันผวนมีความไม่แน่นอน แต่ที่ผ่านมาอัตราการเติบโต 15-20% ตลอดมาต่อเนื่อง  โดยมุ่งใช้ประโยชน์แพลตฟอร์ม ผลิตภัณฑ์และบริการที่ได้ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา เช่น บริการการลงทุนต่างประเทศผ่าน Mandate Service หรือกองทุนแฟล็กชิป KKP-SGAA"

 

นอกจากนี้ ธนาคารจะพิจารณาปรับเปลี่ยนรูปแบบสาขาและการให้บริการให้สอดคล้องกับความต้องการในยุคที่ช่องทางดิจิทัลมีความสำคัญมากขึ้น โดยธนาคารพยายามรุกขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ผ่านดิจิทัล

 

เช่น ในกลุ่ม Mass Affluent ผ่านบริการ KKP Edge ที่ใช้ระบบและกระบวนงานดิจิทัลเข้ามาช่วยดูแลลูกค้าให้เข้าถึงผลิตภัณฑ์การลงทุนของกลุ่มธุรกิจได้กว้างขวางขึ้น โดยมีเกณฑ์เงินลงทุนขั้นต่ำที่ลดลงแต่ยังไม่กำหนดวงเงิน จากเดิมที่เริ่มต้น 2 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดตัวเร็วๆนี้ 

 

ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงและนำเสนอบริการให้ลูกค้ารายย่อย จะมีบริการที่ถูกนำเสนอภายใต้ชื่อ “Dime” ตลอดจนพัฒนาแอปพลิเคชัน KKP Mobile อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ตอบโจทย์ทุกความต้องการทางการเงินในยุคดิจิทัล รวมถึงมุ่งใช้ประโยชน์จากระบบโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลของประเทศ

 

ต่อข้อถามแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)นั้น  นายอภินันท์ระบุว่า ธนาคารจะรักษาให้อยู่ที่ระดับ 3.3% โดยที่ผ่านมาธนาคารใช้วิธีตัดขายหนี้เสีย ซึ่งจะมีบริษัท บริหารสินทรัพย์ (AMC) ที่ให้ความสนใจเข้ามาประมูล โดยมองว่าเป็นวิธีการที่เหมาะสม และหนี้เอ็นพีแอลยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้

 

“  2 ปีที่ผ่านมาภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ จากผลกระทบโควิด-19  แต่ธนาคารยังประคองตัวได้ดี ซึ่งมี 2 เหตุผล  คือ KKP ทำธุรกิจหลากหลายไม่เน้นเฉพาะธุรกิจธนาคาร  โดยมีการเติบโตด้านธุรกิจตลาดทุน ค่อนข้างสูง อย่างปีที่ผ่านมาเราทำได้ดีมีรายได้จากวาณิชธนกิจ 900ล้านบาท และจากการลงทุนอีก 1,000ล้านบาทซึ่งช่วยลดผลกระทบทำให้มีรายได้มาชดเชย  ส่วนปีนี้ตั้งเป้าจะเติบโตสินเชื่อ 12%โดยเน้นสินเชื่อรายย่อยซึ่งมีสัดส่วน 60%ของรายได้รวม”

 

สำหรับผลประกอบการปี 2564 ในภาพรวมถือว่าออกมาในระดับที่น่าพอใจ โดยธุรกิจธนาคารสินเชื่อเติบโต 16.5% และลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิดมีสถานการณ์โดยรวมที่ดีขึ้น ด้านธุรกิจตลาดทุน สามารถทำรายได้ดีเป็นประวัติการณ์ มาจากธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ที่รักษาส่วนแบ่งตลาดที่ 14% คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคล (Wealth Management) มีจำนวนทรัพย์สินภายใต้คำแนะนำ (Assets under Advice:AUA) เพิ่มเป็น 7.34 แสนล้านบาท ในขณะที่ธุรกิจวานิชธนกิจสามารถทำรายได้ดีจากค่าธรรมเนียมของธุรกรรมรายการใหญ่เช่น การไอพีโอของ PTTOR และ TIDLOR

 

สำหรับรายละเอียด ในส่วนของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ สินเชื่อของธนาคารเติบโตได้ดี โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อรายย่อยที่มีหลักประกัน ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่โตขึ้นกว่า 20% หรือสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่โตขึ้น 40% ตลอดจนกลุ่มสินเชื่อบรรษัทที่เติบโต 30%

 

โดยการดำเนินงานต่อไปยังคงยึดหลักการบริหารคุณภาพสินทรัพย์ที่มีอยู่ควบคู่ไปกับการปล่อยสินเชื่อใหม่ในกลุ่มลูกค้าที่มีคุณภาพ โดยไม่ละเลยการให้ความช่วยเหลือสำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด ในรูปแบบต่างๆ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของลูกค้าแต่ละราย ตลอดจนตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตไว้อย่างเพียงพอ”นายอภินันท์กล่าว

 

นายปรีชา เตชรุ่งชัยกุล ประธานสายการเงินและงบประมาณ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า กลุ่มธุรกิจฯ มีกำไรสุทธิเท่ากับ 6,318 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.3% และมีกำไรเบ็ดเสร็จ 7,069 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.5% จากปี 2563 โดยเป็นกำไรสุทธิของธุรกิจตลาดทุน จำนวน 1,817 ล้านบาทและเป็นกำไรเบ็ดเสร็จของธุรกิจตลาดทุน จำนวน 2,765 ล้านบาท

 

สำหรับการตั้งสำรองในปี 64 ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับปี 2563 โดยมีอัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ที่ 175.1% นอกจากนี้ ธนาคารมีรายได้เพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 15,701ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.0%

 

และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 8,545 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.4% ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio)คำนวณตามเกณฑ์ Basel III ซึ่งรวมกำไรถึงสิ้นปี 2564 อยู่ที่ 17.33% และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 จะเท่ากับ 13.55%