คปภ.ท้าชนอาคเนย์ฟ้องศาลปกครอง หวั่นผู้ประกัน 10 ล้านคนถูกลอยแพ

14 ม.ค. 2565 | 20:37 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ม.ค. 2565 | 03:56 น.
549

คปภ.ท้าชนอาคเนย์ฟ้องศาลปกครอง ตอบทุกประเด็นศาลฯ หวั่นผู้ประกัน 10 ล้านคนถูกลอยแพ ด้าน “เลขา คปภ.” ระบุไม่มีใครใหญ่เหนือกฎหมาย

คปภ.ท้าชนอาคเนย์ฟ้องศาลปกครอง ตอบทุกประเด็นศาลฯ หวั่นผู้ประกัน 10 ล้านคนถูกลอยแพ ชี้กฎหมายต้องยื่นฟ้องภายใน 90 วัน “อาคเนย์” สู้คำสั่งลงราชกิจจาฯ 12 ต.ค.2564 ด้าน “เลขา คปภ.” ระบุไม่มีใครใหญ่เหนือกฎหมาย

 

คปภ. ตอบทุกประเด็นศาลฯ

คปภ.ท้าชนอาคเนย์ฟ้องศาลปกครอง หวั่นผู้ประกัน 10 ล้านคนถูกลอยแพ

วันที่ 14 มกราคม 2565 นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ให้สัมภาษณ์หลังชี้แจงกับศาลปกครองเมื่อวันที่ 14 ม.ค.2565 ว่า ทางฝ่ายผู้ฟ้องคดีมีผู้รับอำนาจมาครบถ้วน และมีอดีตกรรมการผู้จัดการบริษัทผู้ฟ้องคดีที่ 1 มาด้วย โดยทาง คปภ.มีทีมฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายกำกับผลิตภัณฑ์ และทีมฝ่ายมาตรการกำกับฯมาครบพร้อมชี้แจง โดยวันนี้ศาลฯ จะจำกัดประเด็นพิจารณาว่าเรื่องนี้มีเหตุในการรับฟ้องหรือไม่ จะไม่ลงไปพิสูจน์ในเนื้อหาคดี

 

ทั้งนี้ประเด็นหลักที่ศาลฯ ได้สอบถามคือ การฟ้องคดีอยู่ในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ โดยตามกฎหมายจะต้องฟ้องภายใน 90 วัน หลังจากที่คปภ.มีคำสั่งนายทะเบียนออกมา เพราะถ้าการฟ้องคดีเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ศาลจะไม่รับคำฟ้อง ยกเว้นแต่เป็นกรณีเพื่อประโยชน์ของสาธารณชน

 

“ข้ออ้างของผู้ฟ้องว่า คปภ.ไม่มีการส่งคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ให้บริษัทรับทราบ โดย คปภ.ได้ชี้แจงว่าคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 เป็นคำสั่งทั่วไป ซึ่งปกติไม่มีกฎข้อบังคับให้ต้องส่งไปที่บริษัทประกัน ในทางปฏิบัติ คปภ.จะลงบนเว็บไซต์สำนักงาน คปภ.และเผยแพร่ต่อสื่อมวลชน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่ประชาชนให้ความสำคัญ สื่อหลายสำนักทั้งหนังสือพิมพ์, วิทยุ, โทรทัศน์, ออนไลน์ ได้มีการเผยแพร่ข่าวในวงกว้าง”

 

ชี้ กม.ต้องยื่นฟ้องภายใน 90 วัน

 

เลขาธิการ คปภ. ระบุว่า ผู้ฟ้องคดีจะอ้างว่าไม่ทราบคำสั่งไม่ได้ โดยได้มีการประกาศคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค.2564

 

ขณะเดียวกันผู้ฟ้องคดีทั้ง 2 บริษัท(อาคเนย์ประกันภัยและไทยประกันภัย) ก็ออกมายืนยันหลังจากออกคำสั่งนายทะเบียน ว่าเขายืนยันที่จะคุ้มครองผู้เอาประกันภัยโควิดทุกประเภทจนกว่าจะสิ้นสุดระยะเวลาคุ้มครอง ซึ่งการยืนยันตรงนี้ถือเป็นผลของคำสั่งนายทะเบียน ซึ่งปรากฎในข่าววันที่ 17 ก.ค.2564 และวันที่ 19 ก.ค.2564

 

นอกจากนี้ในคำฟ้องก็ระบุชัดว่า จากข่าวที่ลงไปในหนังสือพิมพ์วันที่ 17 ก.ค.2564 ทำให้บริษัทจำเป็นต้องปฏิบัติตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 เพราะกลัวจะถูกดำเนินการฐานประวิงคดีหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาต

 

ดังนั้นข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่ปรากฎว่าไม่ทราบคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ไม่เป็นความจริง เพราะจริงๆ ต้องทราบตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค.2564 ซึ่งนับถึงวันที่ยื่นฟ้องเกินระยะเวลากำหนด เพราะต้องยื่นฟ้องภายในเวลา 90 วันนับตั้งแต่วันที่รู้หรือควรจะรู้

 

อาคเนย์สู้คำสั่งลงราชกิจจาฯ 12 ต.ค.

 

อย่างไรก็ตามทางผู้ฟ้องได้อ้างต่อว่า คำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 คปภ.ต้องประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาก่อน จึงจะมีผลตามกฎหมาย ซึ่งคำสั่งดังกล่าวมีการลงประกาศในราชกิจจาฯเมื่อ 12 ตุลาคม 2564 ดังนั้นเมื่อนับถึงปัจจุบันจึงยังไม่ครบ 90 วัน โดย คปภ.ได้ชี้แจงศาลฯว่าในกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องส่งตัวคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ที่เป็นคำสั่งทางปกครองไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่การที่ส่งไปลงราชกิจจาฯเนื่องจากต้องให้ประชาชนได้รับรู้

 

เลขาธิการ คปภ.กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ศาลฯได้มีการสอบถามเพิ่มว่า เคยมีคำสั่งในลักษณะที่คำสั่งมีผลย้อนหลังกับกรมธรรม์ที่ทำไว้ก่อนหรือไม่ คปภ.ก็ตอบว่ามีตามกฎหมายมาตรา 29 โดยการเพิ่มข้อความเรื่องอนุญาโตตุลาการเข้าไป ฉะนั้นที่เป็นการรอนสิทธิตามรัฐธรรมนูญไม่เป็นความจริง

 

หวั่นผู้ประกัน10 ล้านคนถูกลอยแพ

 

เลขาธิการ คปภ.กล่าวอีกว่า ช่วงบ่ายวันนี้นี้(14 ม.ค.65) ศาลฯได้สั่งให้พนักงานศาลพิมพ์เอกสารและรวบรวมเอกสารที่ คปภ.ส่งไปให้ โดยเฉพาะประเด็นที่มีการเผยแพร่ผ่านสื่อทุกสำนักที่ได้รับทราบไปในวงกว้าง โดยศาลยังไม่ได้สรุปตัดสินคดี ต้องพิสูจน์หลักฐานก่อน และจะนัดให้ คปภ.รับทราบคำสั่งว่าจะรับคดีไว้พิจารณาหรือไม่ อีกครั้ง

 

หากศาลฯรับคดีไว้พิจารณา 2 ประเด็นที่ศาลจะต้องไต่สวนของผู้ฟ้องคือ 1.ขอให้เพิกถอนคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 และ 2.ขอคุ้มครองชั่วคราว ไม่ให้คำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 มีผลบังคับใช้เป็นการชั่วคราว เพราะฉะนั้นถ้าศาลฯรับฟ้องและมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว จะทำให้ผู้เอาประกันภัยโควิดทั้งหมดกว่า 10 ล้านคนถูกลอยแพแน่นอน เพราะระหว่างนี้บริษัทประกันวินาศภัยสามารถที่จะบอกเลิกกรมธรรม์ฯได้ ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญมากๆ ต่อพี่น้องประชาชน โดยศาลฯระบุว่าเนื่องจากเกี่ยวกับประชาชนจำนวนมากจะพิจารณาโดยเร็ว

 

ไม่มีใครใหญ่เหนือกฎหมาย

 

นายสุทธิพลกล่าวอีกว่า ไม่มีใครจะใหญ่เหนือกฎหมาย แม้กฎหมายจะระบุไว้ในกรมธรรม์ว่าสามารถบอกเลิกกรมธรรม์ลูกค้าได้ แต่ไม่ใช่ว่าเมื่อมีความเสี่ยงเปลี่ยนแปลงในระดับสูงแล้วจะบอกเลิกกรมธรรม์แบบเหมาเข่ง ต้องพิจารณาแต่ละรายไป มีหลักฐานยืนยันและสอดคล้องกับกฎหมายสากล เพราะความเสี่ยงเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ฉะนั้นจะวุ่นวายมาก ถ้าให้ยกเลิกเหมาเข่งต่อไปคนจะไม่ทำประกัน

 

เลขาธิการ คปภ.กล่าวว่า ในข้อเท็จจริง บริษัทประกันไม่ต้องรอนสิทธิผู้บริโภค โดยมีมาตรการทางเลือกอีก 11 มาตรการซึ่งสามารถทำได้ แต่บริษัทประกันไม่ดำเนินการ

 

“การทำประกันภัยโควิดเจอจ่ายจบ คือการที่ประชาชนผู้เอาประกันภัย มอบความไว้วางใจให้บริษัทประกันที่อาสามาช่วยบริหารความเสี่ยง ฉะนั้นการไปบอกเลิกกรมธรรม์ในช่วงวิกฤต ทั้ง ๆ ที่เคยสัญญาว่าจะคุ้มครองจนสิ้นสุดอายุการคุ้มครอง โดยโยนความเสี่ยงที่มากขึ้นกลับคืนไปให้ประชาชน ถือเป็นการทำลายความเชื่อมั่นและความไว้วางใจที่ประชาชนมอบให้บริษัทประกัน จึงเป็นการเอาเปรียบประชาชนอย่างยิ่ง” นายสุทธิพล กล่าว