SCBx สู่ Nasdaq ‘อาทิตย์ นันทวิทยา’ Best CEO แห่งปี 64

29 ธ.ค. 2564 | 14:50 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ธ.ค. 2564 | 18:57 น.
2.1 k

“อาทิตย์ นันทวิทยา” ประกาศพายานแม่ SCBx ลุยตลาดโลก วางเป้า 5 ปีมีแซนด์บ็อกซ์ที่มีฐานในอเมริกา หรือนอกเหนือประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วาง 2 เสา “Data X -SCB Tech X ” เป็นแกนหลักตะลุยลงทุนร่วมมือพันธมิตร

ไม่เพียงทำให้สมรภูมิการธนาคารร้อนแรงขึ้น หลังการออกมาประกาศปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของธนาคารเก่าแก่อย่างธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 แต่ยังสะเทือนไปถึงวงการ สตาร์ทอัพ ดิจิทัลแพลต์ฟอร์มต่างๆ ต้องขยับตาม เพราะเมื่อธนาคารที่มีอายุ 115 ปีจะลดบทบาทการเป็นเรือธงลงมาเป็นเพียงกองหนุน แล้วให้การนำพากลุ่มไทยพาณิชย์อยู่ภายใต้ยานแม่ใหม่ภายใต้ชื่อ SCBx ไม่เพียงแค่ความเก๋า แต่ยังมีความใหญ่ที่น่าสะพรึงรวมอยู่ด้วย

SCBx สู่ Nasdaq ‘อาทิตย์ นันทวิทยา’ Best CEO แห่งปี 64

 

การปรับตัวจากธุรกิจธนาคารดั้งเดิมมาเป็นบริษัทเทคโนโลยีถือเป็นการพลิกหน้าประวัติศาสตร์วงการธนาคารครั้งใหญ่ ภายใต้การนำของนายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหารกลุ่มไทยพาณิชย์ “ฐานเศรษฐกิจ” เล็งเห็นคลื่นลูกใหญ่ครั้งนี้ จึงมีมติให้นาย “อาทิตย์ นันทวิทยา” เป็น “สุดยอดผู้บริหารแห่งปี 2564 หรือ The Best CEO 2021”

 

  • ก้าวแรกลุยอินโด-เวียดนาม 

“อาทิตย์ นันทวิทยา”ฉายภาพที่จะก้าวเดินจากนี้ไปของ SCBx กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปี 2565 จะเป็นขั้นตอนการแลกหุ้นจากไทยพาณิชย์มาอยู่ที่ SCBx และนำ SCBx เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์น่าจะกลางปี จากนั้นจะเป็นการโอนย้ายกิจการต่างๆ ตามที่ประกาศไปแล้ว เป็นการจัดบ้าน ปรับโครงสร้างองค์กรในเชิงการจัดการต่างๆ แต่งตั้งคณะกรรมการแต่ละชุด รวมถึงการสร้างกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างบอร์ดของ SCBx กับบอร์ดของธนาคาร

SCBx สู่ Nasdaq ‘อาทิตย์ นันทวิทยา’ Best CEO แห่งปี 64

อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้ก็ยังขับเคลื่อนการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เป็นการทำงานของทีมพัฒนาธุรกิจที่ทำหน้าที่คล้ายผู้จัดการกองทุนอยู่แล้ว ซึ่งมีดีลเข้ามาตลอดเวลา เมื่อเข้าที่เข้าทางแล้ว จึงจะเข้าไปปิดดีล จัดตั้งกองทุนร่วมทุน (Venture Capital หรือ VC) ใหม่ๆ ภายใต้ทรัพยากรที่มีและผลักดันกองทุนที่ร่วมกับซีพีในการบริหาร Venture X ให้สามารถระดมทุนมีขนาดตามที่ต้องการประมาณ 800-1,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อนำเงินกองทุนนี้ไปบริหารหรือลงทุนเทคโนโลยี โดยเฉพาะบลอคเชนต่างๆ ขณะเดียวกันต้องผลักดันให้ AISCB สามารถปล่อยสินเชื่อดิจิทัลให้ได้ด้วย

“ทุกวันนี้ จากการที่เรายังไม่ได้เข้าไปในตลาดและด้วยขนาดที่ไม่ต้องแถลงต่อตลาด เราได้เข้าไปลงทุนในตลาดอินโดนีเซียในหลายทีแล้ว แต่ไม่ใช่หลักแสนล้าน หมื่นล้านจนต้องแถลงออกมา เราเริ่มเข้าไปในกองทุนส่วนบุคคลที่ลงทุนทั่วโลกแล้ว เข้าลงทุนในบริษัทฟินเทค หลายอันในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาหลังประกาศเป็น SCBx และเรากำลังจะเข้าไปในฟิลลิปปินส์ เวียดนาม โดยจะเป็นการจับมือกันเข้าไปเป็นทีม และยังมีพันธมิตรเป็นสตาร์ทอัพรายใหญ่ในเมืองจีนแล้ว รอเพียงทางการอนุมัติ”นายอาทิตย์กล่าว

 

  • บริษัทลูกต้องไอพีโอ 3-5 ปี

วิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้คือ ไทยพาณิชย์กรุ๊ป จะเป็นบริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาค มีลูกค้า 200 ล้านรายในปี 2568 นั่นหมายความว่า ในจำนวนบริษัทที่พูดถึง 15-16 บริษัทที่ถูกจัดตั้งขึ้นในเบื้องต้นนั้น จะต้องมีเป้าหมายระยะกลาง 3-5 ปีคือ ไปเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สามารถออกไอพีโอขายให้นักลงทุนได้ ไม่ว่าจุดเริ่มต้นจะเป็นศูนย์หรือบางบริษัทมีการโอนย้ายมาจากธนาคารก็ตาม

 

ขณะที่ SCBx จะมีหน้าที่แค่ช่วยสนับสนุนอยู่ข้างหลัง เป็นตัวเชื่อมและสร้างความร่วมมือหรือดูแลภาพรวม เช่น การวางเทคโนโลยี ระบบคลาวด์ทั้งหมด การจะคัดเลือกเป็นพันธมิตรกับใคร จะใช้กลยุทธ์ใดต่อรอง เพื่อให้ได้ราคาที่เป็นขององค์กร ทุกหลายสิบบริษัทสามารถใช้ราคาจากกลุ่มได้ ทำให้สามารถจัดเรื่องต้นทุน นวัตกรรมได้ อย่างเช่น AI ที่กลุ่มพัฒนาขึ้นก็จะนำไปช่วยในหลายบริษัท

 

แม้กระทั่งเรื่องข้อมูล เรากำลังจัดตั้งบริษัท Data X เพื่อจัดการข้อมูลของทุกบริษัททั้งกลุ่ม รวมถึง AI ที่สร้างขึ้นก็จะเข้าไปเสิร์ฟแต่ละบริษัท มีความเข้มข้นของการใช้วิทยาศาสตร์ข้อมูล ซึ่งหัวหน้าของ Data X เป็นคนอิสราเอล มาจากอโกดาและกำลังระดมพลนักวิทยาศาสตร์ด้านข้อมูลเข้ามา เพื่อเป็นศูนย์กลางในการบริหารข้อมูลให้กับกลุ่ม ทำให้แต่ละบริษัทใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ การเปิดบัญชีสั้นลง และอนาคตจะเป็นวอลเล็ตหมด โดยเฉพาะการเข้าสู่ยุคสกุลเงินดิจิทัล การเชื่อมต่อด้านการชำระเงินก็จะน้อยลง

SCBx สู่ Nasdaq ‘อาทิตย์ นันทวิทยา’ Best CEO แห่งปี 64

  • วาง 2 เสาหลักลุยลงทุน

เสาหลักที่เราจะใช้ต่อไปจะมี 2 แกนสำคัญคือ นอกจากเรื่องข้อมูลที่บริหารโดย Data X แล้วยังจะมีบริษัท SCB Texh X จะทำเรื่องการพัฒนาแพลตฟอร์มให้กับบริษัทต่างๆ ในกลุ่ม อย่างที่พัฒนาแพลตฟอร์มให้กับโรบินฮู้ดในขณะนี้ และจะพัฒนาแพลตฟอร์มให้กับ AISCB ด้วย ดังนั้น 2 บริษัทนี้จะเข้าไปทำงานเวลาที่เราจะออกแบบการลงทุนต่างๆ

 

ดังนั้นปี 2565 จะทำอยู่ 2 เรื่องคือ จัดโครงสร้างการบริหารจัดการของตัวเองกว่าจะจบก็ไตรมาส 2 ขณะที่ยานลูกทั้ง 15-16 แห่ง ก็จัดการตัวเองไป ระหว่างทาง SCBx จะลงทุนต่างๆ ที่มุ่งเน้นเทคโนโลยีการเงิน  แพลตฟอร์มในภูมิภาค ซึ่งบริษัทลูกขณะนี้อาจมีแค่ 2-3 บริษัทที่มีผลกำไรมาก แต่วันข้างหน้าต้องมากกว่านี้ อาจจะ 5 บริษัท 8 บริษัท เพื่อปันผลให้ผู้ถือหุ้น ซึ่งก็คือ SCBx แล้ว SCBx จะได้มีเงินเหลือและนำไปลงทุนเรื่อยๆ ในที่สุดก็จะเป็นการเดินทางที่ไม่มีวันจบ เหมือน เทมาเสก แต่การลงทุนจะไม่กระจายเหมือนเทมาเสก เป็นการลงทุนภายใต้กำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คล้ายผิงอัน ที่สร้างรายได้จากธุรกิจประกันเป็นหลัก

 

  • เผย 3 รูปแบบลงทุน

SCBx จะมีธุรกิจใหม่ โดยเกิดจาก 1.บริษัทใหม่ที่เกิดจากการลงทุนของบริษัทลูก 2. SCBx จัดตั้งขึ้นมาเอง และ 3. SCBx จัดตั้งร่วมกับพันธมิตร ซึ่งทั้ง 3 รูปแบบไม่จำเป็นต้องอยู่ในไทยหรือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น เพราะอาจตั้งฐานอยู่ในสิงคโปร์ อิสราเอล หรือ ซิลิคอลวัลเล่ย์ก็ได้ เพราะเป็นธุรกิจแพลตฟอร์ม หรืออาจจะลงทุนในญี่ปุ่นก็ได้

 

“หลายบริษัทที่ได้ลงทุนไปแล้วช่วง 3 ปีที่ผ่านมาหรือ สตาร์ทอัพที่กำลังเข้าใกล้ไอพีโอแล้ว เงินที่เราลงทุนไปขึ้นกับว่า เราจะขายทิ้ง เพื่อเอากำไรหรือถือหุ้นต่อ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นผลตอบแทนที่จะเกิดขึ้นในปีต่อๆ ไป หรืออย่างที่เราเข้าถือหุ้นใน Bitkub ถ้าสำเร็จได้รับการอนุญาต ก็พร้อมจะไอพีโอปีหน้าและปีถัดไป เพียงแต่ยังไม่รู้จะไอพีโอเมืองไทยหรือเปล่าหรือจะไปจดทะเบียนใน Nasdaq ก็ได้”

 

ทั้งนี้เพราะ การเป็นบริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาค อาจไม่ใช่แค่ระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ได้ เพราะลูกค้าไม่ได้อยู่แค่คนไทยหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น เพราะโลกของเทคโนโลยียุคนี้ เกมแต่ละเกม เด็กเล่นกันทั้งโลก

 

ก้าวแรกที่เราอยากจะไปสนามใกล้บ้าน ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซียหรือ เวียดนาม เพราะเป็นความคุ้นเคย เดินทางไม่ไกลและยังเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ แต่ขั้นตอนที่แท้จริงไม่ได้อยู่ตรงนั้น บางบริษัทของกลุ่มไทยพาณิชย์อาจจดทะเบียนใน Nasdaq ก็ได้ การตั้ง VC กับสตาร์ทอัพระดับโลกที่เขาทำในโซนอเมริกา แต่เราทำในโซนเอเชีย ซึ่งปี 2565 ตั้งเป้าจะตั้ง VC ไว้ 3 อัน

 

ส่วนงบลงทุนในปี 2565 หลังจากรับเงินปันผลจากธนาคารเข้ามา จะมีการนำเงินไปลงทุนในบริษัทที่ประกาศไปแล้วไม่ต่ำกว่า 5-6 หมื่นล้านบาท ซึ่งจริงๆ อาจจะมากกว่านั้น เพราะหลังจากจบกระบวนการแลกหุ้นแล้วSCBx จะมีสินทรัพย์ 4 แสนล้าน บวกผลกำไรอีกปีละกว่า 3 หมื่นล้านบาท ดังนั้น SCBx จะมีอันดับความน่าเชื่อถือและความสามารถที่จะกู้เงิน เพื่อจะลงทุนได้ด้วย ส่วนจะกู้เท่าไรนั้นอีกเรื่องหนึ่ง

 

  • แผน 5 ปีปักหลักสหรัฐฯ

ส่วนการทำธุรกิจระยะยาวภายใต้แผน 5 ปีนั้น ตามแผนคือ จะมีแซนด์บล็อกซ์ที่มีฐานอยู่ที่สหรัฐอเมริกา หรือมีฐานอยู่นอกเหนือประเทศเอซียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งจะเป็นแซนด์บ็อกซ์เพื่อทดลองสิ่งที่อาจจะทำไม่ได้กับลูกค้าไทย เป็นแซนด์บ๊อกซ์ที่อาจจะเกี่ยวกับ GameFi  DiFi หรือเกี่ยวข้องกับ NFT เกี่ยวข้องกับ MetaBank เพื่อให้ไปอยู่ในประเทศที่มีความเข้มข้นเรื่องนี้ มีความสามารถพิเศษในเรื่องเหล่านี้ และมี Regulatory Sandbox ให้เราได้ทดลองสิ่งเหล่านี้

 

ในแง่ของการวัดผลแต่ละยูนิต นอกจากเป้าสร้างกำไรแก่ยานแม่ “SCBx” เนื่องจากแต่ละบริษัทเพิ่งเริ่ม แม้บางบริษัทอาจจะมาจากการโอนย้ายธุรกิจมาจากธนาคารไทยพาณิชย์ แต่แนวทางบริหารธุรกิจภายใน 3-5 ปีต้องสร้างมูลค่าเพิ่ม ดังนั้นซีอีโอแต่ละบริษัทพร้อมทั้งคณะกรรมการต้องร่วมกันบริหารจัดการ รวมถึงวางแผนระดมทุนเหมือนซีรี่ส์ A, B แต่ถ้าเพิ่มมูลค่าในซี่รีส์ B ไม่ได้ บริษัทนั้นก็จบ ไปต่อไม่ได้

 

  • อยู่ในภาวะหนีตาย

ดังนั้น ถ้าดูจากวิสัยทัศน์ก็ต้องย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของการรับตำแหน่งซีอีโอไทยพาณิชย์ต้องบอกว่า ภาวะหนีตาย วันที่ออกไปพบเทคโนโลยีหลายราย ขีดความสามารถและสิ่งที่เราทำ ทำให้กังวลว่า เราไม่น่าจะตอบสนองลูกค้า หรือ ขีดความสามารถที่ก้าวกระโดดได้ เพราะสิ่งที่เราทำล้าสมัย ไม่ตอบโจทย์ลูกค้า ทั้งในมิติต้นทุน ความรวดเร็ว ความสะดวก ง่าย มีประสิทธิภาพและเกินความคาดหวังของลูกค้า

 

เมื่อเห็นว่า มีคนตัวเล็กจำนวนมากที่ทำสิ่งเหล่านี้ได้ ขณะที่คนตัวใหญ่อุ้ยอ้าย อยู่มานาน เหมือนจะมีความได้เปรียบ แต่ถ้ามองไปข้างหน้า Disruption คือ สิ่งที่ทุกคนพูดถึง ความสามารถในการแข่งขันของคนตัวใหญ่จะค่อยๆ น้อยลง ซึ่งทุกวันนี้ก็เห็นภาพชัดโดยไม่ต้องอธิบาย เพราะทุกอุตสาหกรรมโดนกับตัวเองในหลากหลายมิติ ทุกคนต้องปรับตัว แต่การปรับตัวนั้นขึ้นกับวิสัยทัศน์ของผู้นำองค์กรว่า จะปรับตัวได้เร็วหรือแรงแค่ไหนและยังปัจจัยภายนอก อย่างตอนนี้คือ โควิด-19

 

“2-3 ปีก่อนผมเป็น 1 ในแขกซีอีโอกว่า 200 คนที่ได้ร่วมฟังวิสัยทัศน์ของซีอีโอไมโครซอฟท์พูดถึงโลกของการทำงาน แค่จำลองการประชุมโดยใช้ AR VR และ AI ระหว่างประชุม แต่ไม่ได้พูดถึง Metaverse แต่เวลาแค่ไม่ถึง 3 ปีจากวันนั้น ก็มี Metaverse ซึ่งจะมีบริการที่จับต้องได้เข้าสู่ตลาดและไปถึงมือองค์กรหรือผู้ใช้บริการรายย่อยได้” นายอาทิตย์กล่าว

 

สะท้อนว่า ระยะเวลาในการหมุนรอบจะสั้นลงๆ สามารถพัฒนาจากห้องแล็บไปสู่ตลาดจะเร็วขึ้น ทุกสังคมพูดถึงแพลตฟอร์ม พยายามปรับใช้ AI ให้ความสำคัญเรื่องนี้หมด สิ่งที่ทุกคนทำคล้ายกันคือ เก็บของที่ทำได้ดีไว้ พยายามดันให้เดินต่อไปและเอาผลกำไรจากสิ่งที่ทำได้นั้นมาเป็นตัวขับเคลื่อน หรือเป็นทรัพยากรให้ไปทำของใหม่

 

“คำว่าบริษัทเทคโนโลยีการเงิน ไม่ได้ไปเปลี่ยนธนาคาร แต่เกิดจากการที่เรามีบริษัทหรือรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ที่มีขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี โดยที่ธนาคารยังคงทำธุรกิจในรูปแบบเดิม แต่เป็นธนาคารที่มีความเพรียว มองความเสี่ยงและผลตอบแทน ถ้าผลตอบแทนไม่คุ้มก็ไม่ทำ”นายอาทิตย์กล่าวในที่สุด

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,744 วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2564- 2 มกราคม พ.ศ.2565