SCB CIO คาดผลตอบแทนลงทุน 12%ปี65ฝ่าโควิด

21 ธ.ค. 2564 | 14:52 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ธ.ค. 2564 | 22:06 น.

SCB CIO คาดผลตอบแทนปี65 พอร์ตลงทุนรับเสี่ยงปานกลาง12%แนะลงทุนหุ้น 65%เน้นสหรัฐ อียู เวียดนาม-จีน ธุรกิจที่มี ESG เฮลธ์แคร์ การลงทุนนวัตกรรมแห่งอนาคต พร้อมถือเงินสดรอจังหวะช้อปเพิ่ม

SCB CIO ชี้ประเทศกำลังพัฒนาเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้น  แนะลงทุนกลุ่มประเทศและธุรกิจที่มีภูมิคุ้มกันสูง เช่น หุ้นสหรัฐฯ และยุโรป โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่ม quality growth โดยมีตลาดหุ้นเวียดนามยังเป็น top pick ในตลาดหุ้น ASEAN บวก 2 ธีมหลัก “เติบโตระยะยาว-ธุรกิจแห่งอนาคต” ทั้ง พลังงานหมุนเวียน-เฮลธ์แคร์-ฟินเทค  และค้นคว้าวิจัยด้านอวกาศกลุ่ม Metaverse

 

นายศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่   ผู้บริหารฝ่าย SCB Chief Investment Office  ( SCB CIO )  ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่าปี 2565 กลยุทธ์การลงทุนธนาคารยังให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นมากกว่าตราสารหนี้ โดยเฉพาะหุ้นในประเทศพัฒนาแล้ว  ซึ่งมีภูมิคุ้มกันสูงเช่น สหรัฐ  ยุโรป สำหรับตลาดประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่(EM) มีเพียงตลาดหุ้นเวียดนามที่น่าสนใจ  เพราะ P/Eอยู่ที่ 14เท่า ต่ำกว่าหุ้นไทยอยู่ในระดับ 17เท่า  หรือหุ้นจีนที่มีค่าP/Eถูกกว่าหุ้นอินเดีย ขณะที่ในจีนนั้นเน้นลงทุนระยะยาวในอุตสาหกรรมกลุ่มเทคโนโลยี และGreen Investment 

 

 

หากพิจารณาจากเทรนด์ของโลกที่กำลังจะเข้าสู่การลดภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นโอกาสในแง่การลงทุนพลังงานสะอาดที่จะมีการลงทุนมากขึ้นรวมถึงecosystem และการลงทุนด้านรถยนต์ไฟฟ้า(EV Car) ซึ่งมีซัพพลายเชนในหลายอุตสาหกรรมและโรงงานกำลังขยะที่มากับแบตเตอรี่  หรือธีมดูแลสุขภาพ ซึ่งราคาหุ้นกลุ่มนี้ต่ำกว่าราคาตลาด และกลุ่มฟินเทคที่มีทั้งผู้เล่นบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มการเงินเท่านั้น

“การจัดพอร์ตเสี่ยงระดับกลาง หรือ Moderate Asset Allocation โดยแนะนำจัดพอร์ตลงทุนหุ้นต่างประเทศ กลุ่มGrowth 70%และกลุ่มValue 30%   และให้น้ำหนักหุ้นในสหรัฐ ยุโรป จีน และเวียดนาม โดยเฉพาะหุ้นระดับกลางและเล็กจะPerformดีและสามารถเลือกได้ ขณะที่พอร์ตลงทุนความเสี่ยงระดับกล่างให้น้ำหนักลงทุนในหุ้น 60-65%มากว่ากว่าตราสารหนี้เพราะเทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้นแนวโน้มราคาจะปรับลดลง และควรจะถือเงินสด 5-7%เพื่อรอตลาดปรับฐาน”

สำหรับคำแนะนำลงทุนใน 2 ธีมการลงทุนหลัก ได้แก่ 1. Super Investment Theme ซึ่งจับกระแสการลงทุนหุ้นโลกกลุ่ม Renewable Energy & Decarbonization และ Disruptive Technology ที่เติบโตดีต่อเนื่อง  2. Futuristic Investment Theme ซึ่งจับกระแสการลงทุนหุ้นโลกกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีศักยภาพการเติบโตสูง

สำหรับ Super Investment Theme   เป็นธีมการลงทุนอุตสาหกรรมระยะยาวที่เติบโตต่อเนื่อง มี 3 ธีมย่อยสำหรับการลงทุนที่มีความน่าสนใจ ได้แก่ 1) กลุ่ม Renewable Energy & Decarbonization เช่น ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน รถยนต์ไฟฟ้า และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดการพลังงานและการลดการปล่อยคาร์บอน และ 2) Healthcare and Healthtech โดยเฉพาะกลุ่ม Medical Technology เช่น อุปกรณ์เครื่องมือการแพทย์ จากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาลที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั่วโลก และ 3) Fintech เทคโนโลยีทางการเงินที่เกาะกระแสการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและเทคโนโลยีบล็อกเชนที่เปิดโอกาสการลงทุนในบริษัทที่มีความหลากหลายในการให้บริการทางการเงิน

 ส่วน Futuristic Investment Theme ธีมการลงทุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีศักยภาพเติบโตสูง มี  3 ธีมย่อยที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ได้แก่ 1) Aerospace & Space Exploration จากแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจด้านอวกาศและการบิน การท่องเที่ยวอวกาศ รวมถึงเทคโนโลยีจรวด โดรน ดาวเทียม การวัดและพยากรณ์สภาพภูมิอากาศ และระบบโทรคมนาคมขั้นสูง และ 2) Metaverse การลงทุนในวิวัฒนาการขั้นต่อไปของอินเทอร์เน็ตในเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง ซึ่งสามารถสร้างโอกาสการเติบโตที่หลากหลายไม่จำกัดเฉพาะธุรกิจโซเชียลมีเดีย แต่รวมถึงโอกาสในธุรกิจที่เกี่ยวกับวิดีโอเกมและสันทนาการ อีคอมเมิร์ซ อุตสาหกรรมการผลิต

 

 ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส SCB CIO เปิดเผยว่า  เบื้องต้นประเมินSETอยู่ในกรอบ 1,700-1,750จุด โอกาสอัพไซส์จากปัจจุบันไม่มาก เพราะขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการเปิดประเทศ  พร้อมประเมิน  4 ประเด็นหลักในปี65 ประกอบด้วย

1) COVID-19 จะยังอยู่กับเราไปอีกนาน โดยผลกระทบแม้จะมีแนวโน้มลดลงแต่ยังไม่หายไป ซึ่งจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจแต่ละประเทศเริ่มมีความแตกต่างน้อยลง  โดยเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วหลังจากฟื้นตัวในปี 2021 จะเริ่มชะลอลงในปี 2022 ในขณะที่เศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาเริ่มกลับมาฟื้นตัว แต่ทั้งนี้ การฟื้นตัวของภาคธุรกิจยังมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่ยังได้รับผลกระทบจากมาตรการข้อจำกัดต่างๆ  เช่น การเดินทางระหว่างประเทศ

2) นโยบายการเงินการคลังเริ่มตึงตัวขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ น่าจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้งในปี 2022 โดยทยอยขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี แต่จะมีการสื่อสารให้ตลาดรับทราบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะทำให้ความผันผวนในตลาดการเงินโลกแม้จะเกิดขึ้นในช่วงสั้นแต่น่าจะอยู่ในระดับที่จัดการได้ ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับ 0.5% ต่อไปอีก 1 ปี เพื่อประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ส่วนนโยบายการคลังในประเทศพัฒนาแล้วจะเริ่มเห็นการออกนโยบายเพิ่มรายได้ภาครัฐมากขึ้น  เช่น การขึ้นภาษี  แต่อาจจะไม่มากพอที่จะชดเชยการขาดดุลขนาดใหญ่ในช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้หนี้สาธารณะยังอยู่ในระดับสูง

3) ต้นทุนทางการเงินเริ่มสูงขึ้นและค่าเงินบาทแม้ว่าจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในครึ่งหลังของปีแต่มาพร้อมความผันผวน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรโดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแต่น่าจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ตามการขยับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในขณะที่ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2022 ตามการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศและดุลบัญชีเดินสะพัด โดย  SCB CIO คาดว่าค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐจะอยู่ในช่วง 32-33 ในปลายปี 2022 แต่จากการปรับนโยบายการเงินในประเทศต่างๆ และความไม่แน่นอนของการกลายพันธุ์ COVID-19 ค่าเงินบาทจะมีความผันผวนสูงของ ดังนั้นการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน (FX hedging strategy) จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ   

4) SCB CIO ยังคงแนะนำเน้นการลงทุนในหุ้นมากกว่าพันธบัตร โดยเน้นไปที่กลุ่มประเทศและธุรกิจที่มีภูมิคุ้มกันสูงและเติบโตได้ดีในสภาวะที่ผลกระทบของ COVID-19 ยังไม่หายไป และการขยับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น หุ้นสหรัฐฯ และยุโรป โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่ม quality growth ตลาดหุ้นเวียดนามยังเป็น top pickในตลาดหุ้น ASEAN แม้ valuation เริ่มมีการขยับขึ้นก็ตาม  แต่ในระยะข้างหน้าเราเชื่อว่าเศรษฐกิจและกำไรบริษัทจดจะเบียนจะมีการฟื้นตัวได้ต่อเนื่องจากภาคส่งออก SCB CIO คงมุมมองตลาดหุ้นไทยเป็น neutral จาก valuation ที่ตึงตัวกว่าตลาดหุ้นเวียดนาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่น่าจะเกิดขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี 2022    เพื่อป้องกันความเสี่ยงของเงินเฟ้อสูงยืดเยื้อกว่าคาด SCB CIO ยังแนะนำว่าในพอร์ตการลงทุนควรพิจารณา น้ำมัน หุ้นกลุ่ม financial และ consumer ส่วนทองคำน่าจะได้รับผลกระทบจากการปรับนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ