แบงก์โอด โควิดยืดเยื้อ ฉุดอสังหา ฟื้นตัวช้า

23 ธ.ค. 2564 | 12:37 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ธ.ค. 2564 | 19:37 น.
503

2แบงก์ชี้ โควิด-19 รุนแรงยืดเยื้อ ฉุดการฟื้นตัวธุรกิจที่อยู่อาศัย ต้องใช้เวลานานขึ้นกว่าจะกลับสู่ระดับก่อนวิกฤติโควิด SCB จับมือแสนสิริ เจาะกลุ่มกำลังซื้อสูงบ้านราคามากกว่า 10 ล้านบาท KBANK เผยหนี้เสียยังต่ำ มองปี 65 มาตรการ LTV หนุนยอดโอนกรรมสิทธ์เพิ่มขึ้นฆฉฺ

การระบาดของโควิด-19 ยังคงเป็นวิกฤติใหญ่ ที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน และแม้ยอดผู้ติดเชื้อในประเทศเริ่มปรับตัวลดลง แต่ก็พบสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” ที่ยังสร้างความกังวลให้กับทั้งภาคธุรกิจและประชาชน ประกอบกับความเปราะบางของเศรษฐกิจไทย ที่ยังเป็นเรื่องท้าทายต่อนโยบายของภาครัฐ ในการใช้นโยบายการเงินคลังและการเงินในการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ 

 

นางสาวอรรัตน์ ชุติมิต รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Retail and Business Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มสินเชื่อที่อยู่อาศัยปี 2564 แม้จะมีปัจจัยบวกต่อตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย เช่น การขยายมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลออกไปจนถึงสิ้นปี 2564 และมาตรการผ่อนปรณอัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) รวมทั้งการออกสินเชื่อหรือแคมเปญของสถาบันการเงิน แต่ยังมีปัจจัยลบที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ เช่น ความไม่แน่นอนของการระบาดโควิด-19 ที่อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความพร้อมของผู้ที่กำลังมองหาที่อยู่อาศัย

นางสาวอรรัตน์ ชุติมิต รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Retail and Business Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ การผ่อนคลายเกณฑ์ LTV ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ประกาศใช้เมื่อเดือนตุลาคม 2564 ทางธนาคารฯมองว่า ลูกค้าที่จะซื้อบ้านหลังที่ 2 หรือบ้านที่มีราคามากกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป เป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และเป็นกลุ่มเป้าหมายของธนาคาร โดยเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพในการผ่อนชำระ และธนาคารยังให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ โดยร่วมทำแคมเปญพิเศษต่างๆ เพื่อกระตุ้นยอดโอนสำหรับโครงการพันธมิตร เช่น แคมเปญอยู่ฟรี 2 ปีกับบมจ.แสนสิริ

อัตราการขยายตัวของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์

สำหรับการผ่อนชำระของลูกหนี้ปัจจุบันยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ เนื่องจากลูกหนี้ยังคงอยู่ในมาตรการช่วยเหลือตามประกาศธปท.และ ธนาคารยังดำเนินการเชิงรุกในการปรับโครงสร้างหนี้แบบเบ็ดเสร็จ เพื่อให้ลูกค้าได้รับการแก้ปัญหาในระยะยาว

ทั้งนี้ การที่รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเติมของธปท.ผ่านมาตรการ LTV ถือเป็นข่าวดี ทั้งผู้ซื้อและผู้ประกอบการ ขณะที่
ผู้ประกอบการปรับตัวให้เข้ากับภาวะกำลังซื้อ โดยนำเสนอส่วนลด แลก แจก แถม และลดค่าใช้ใช้จ่ายต่างๆให้กับลูกค้า 

 

ส่งผลให้ยอดการโอนกรรมสิทธิ์ช่วงไตรมาส 3 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยและมีสัญญาณดีขึ้นในช่วงปลายปี 2564 แต่การซื้อที่อยู่อาศัยยังต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นประกอบ เช่น ความไม่แน่นอนของการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และความพร้อมของผู้ซื้อ  โดยธนาคารยังให้ความสำคัญกับเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อ ศักยภาพของลูกค้าแต่ละกลุ่มธุรกิจเป็นปัจจัยสำคัญ

 

นายชัยยศ ตันพิสุทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด(มหาชน) หรือ KBANK กล่าวว่า ภาพรวมตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยไตรมาส 3 เติบโต 4.2% จากสิ้นปี 2563 ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมียอดสินเชื่อคงค้าง 4.35 ล้านล้านบาท ขณะที่ธนาคารพาณิชย์เติบโต 3.7% มียอดสินเชื่อคงค้าง 2.6 ล้านล้านบาท

แบงก์โอด โควิดยืดเยื้อ ฉุดอสังหา ฟื้นตัวช้า

สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มชะลอตัว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ยังมีปัจจัยท้าทายและเปราะบางสูง แม้สถานการณ์โควิดเริ่มมีสัญญาณนิ่งขึ้นจากยอดผู้ติดเชื้อที่เริ่มลดลง ขณะที่ตลาดยังมีปัจจัยหนุนอย่างมาตรการลดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยในราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ที่จะสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2564 แต่ผลของโควิดระลอกนี้ที่รุนแรงและยืดเยื้อ กระทบกิจกรรมเศรษฐกิจเป็นวงกว้างมากขึ้น ทำให้การฟื้นตัวของภาคธุรกิจอสังหาฯ ต้องใช้เวลาที่นานขึ้นกว่าจะกลับสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤติการระบาดของโควิด

 

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การผ่อนปรนมาตรการ LTV จะช่วยให้สินเชื่อที่อยู่อาศัย
ปี 2565 มีโอกาสเติบโตเพิ่มเติมได้ประมาณ 0.3-0.7% ไปอยู่ที่ประมาณ 4.8-5.2% ขณะที่ในส่วนของกสิกรไทย ธนาคารตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ 88,000 ล้านบาท โดยคาดว่าสิ้นปี 2564 จะมียอดสินเชื่อคงค้างที่ 419,000 ล้านบาท เติบโต 7-8% 

 

“ธนาคารคาดว่าสิ้นปี 2564 น่าจะมีการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้ใกล้เคียงกับเป้าหมาย โดยอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลจากทางผู้ประกอบการ เพื่อนำมาวิเคราะห์และวางแผนการตลาดของปี 2565 ให้กับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นพันธมิตรกับธนาคาร”นายชัยยศกล่าว

 

นายชัยยศ กล่าวถึงคุณภาพสินเชื่อว่า คุณภาพลูกค้ายังอยู่ในเกณฑ์ดี หนี้เสียยังคงอยู่ระดับต่ำใกล้เคียงกับปี 2563 ส่วนแนวโน้มของการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศทั้งปี 2564 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 2.4 แสนหน่วย หดตัว 33.1% จากปี 2563 แต่การผ่อนปรนเกณฑ์มาตรการ LTV เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2564 คาดว่า จะช่วยหนุนให้ตลาดที่อยู่อาศัยทยอยปรับตัวดีขึ้นในช่วงปี 2565 โดยประเมินว่ายอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศตลอดช่วงเวลาของมาตรการจะเพิ่มขึ้นจากที่เคยคาดไว้คิดเป็นมูลค่าราว 18,000-30,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีมาตรการ

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,742 วันที่ 23 - 25 ธันวาคม พ.ศ. 2564