ครม.เห็นชอบปฏิทินจัดทำงบประมาณปี 2566 

19 ต.ค. 2564 | 17:18 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ต.ค. 2564 | 00:23 น.
563

มติที่ประชุมครม.ล่าสุด เห็นชอบแนวทางการจัดทำและปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 เน้น ชะลอ-ยกเลิกโครงการที่ไม่จำเป็น

วันที่ 19 ตุลาคม 2564 น.ส.ไตรศุลี  ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 และปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566  โดยแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ดังนี้ 

 

วันที่ 19 ตุลาคม 2564

  • ครม.ให้ความเห็นชอบแนวทางการจัดทำงบประมาณ 2566

 

วันที่ 22-24 ธันวาคม 2564

  • กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ร่วมกันพิจารณาประมาณการรายได้ กำหนดนโยบาย วงเงินงบประมาณรายจ่าย และโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ2566 และนำเสนอครม.

 

วันที่ 4 มกราคม 2565

  • ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบนโยบาย วงเงินงบประมาณรายจ่ายและโครงสร้าง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 

 

วันที่ 1-2 มิถุนายน 2565  

  • สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 วาระที่ 1 เป็นต้น

นางสาวไตรศุลี กล่าวอีกว่า แนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 จะดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ(ฉบับปรับปรุง) แผนปฏิบัติราชการของกระทรวง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน นโยบายสำคัญของรัฐบาล

รวมทั้งน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการจัดสรรงบประมาณ โดยคำนึงถึงความจำเป็นและภารกิจของหน่วยรับงบประมาณ ความต้องการในพื้นที่และแผนพัฒนาพื้นที่ตามความต้องการของประชาชนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณและผลสัมฤทธิ์ในการบริหารจัดการภาครัฐ

ขณะเดียวกันการจัดทำงบประมาณรายจ่ายจะดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด-19) โดยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหา บรรเทา หรือแก้ไขผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  และให้ความสำคัญกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) เพิ่มศักยภาพการถ่ายโอนภารกิจการจัดบริการสาธารณะ ลดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งพัฒนาประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ และประสิทธิผลการใช้จ่ายของ อปท.

รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการจัดทำงบประมาณให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน โดยให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณานำเงินนอกงบประมาณหรือเงินสะสมคงเหลือมาใช้ดำเนินภารกิจของหน่วยงานเป็นลำดับแรก ควบคู่ไปกับการพิจารณาทบทวนเพื่อชะลอ ปรับลด หรือยกเลิก การดำเนินโครงการที่มีความสำคัญในระดับต่ำหรือหมดความจำเป็น พิจารณาถึงความพร้อม หรือขีดความสามารถในการใช้จ่ายงบประมาณ และนำความสำเร็จในการปฏิบัติงานและผลการใช้จ่ายงบประมาณในปี 2564 และ2565 มาประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับศักยภาพการดำเนินงานของหน่วยรับงบประมาณ