บลจ.เอไอเอ คงมุมมองบวกลงทุนหุ้นมากกว่าบอนด์

11 ก.ย. 2564 | 12:24 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ก.ย. 2564 | 19:42 น.

บลจ. เอไอเอ เผยมาร์เก็ตแชร์กองทุนส่วนบุคคลที่ 39.71% ครองอันดับ 1 ด้านกองทุนรวมมีทรัพย์สิน 31,485 ล้านบาท ส่วน AUM แตะ 853,000 ล้านบาท มองครึ่งปีหลังประเทศพัฒนาเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง ยังคงมุมมองเป็นบวกในการลงทุนหุ้นมากกว่าตราสารหนี้

บลจ.เอไอเอ คงมุมมองบวกลงทุนหุ้นมากกว่าบอนด์

นายสุขวัฒน์ ประเสริฐยิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอไอเอ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทครองส่วนแบ่งในตลาดกองทุนส่วนบุคคล ที่ 39.71% ซึ่งเป็นอันดับ 1 ของอุตสาหกรรม ส่วนกองทุนรวมหลังจากจัดตั้งบลจ.มาครบ 1 ปี ปัจจุบันมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 31,485 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการเติบโตที่ดีมากแม้ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหาร (AUM) รวมประมาณ 853,000 ล้านบาท

 

สำหรับมุมมองการลงทุนในครึ่งปีหลังของปี 2564 มองว่าเศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้ว มีการฟื้นตัวต่อเนื่องและปรับตัวเข้าสู่การเติบโตเต็มศักยภาพ ส่วนเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่ ส่วนใหญ่ยังเผชิญกับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ความแตกต่างนี้จะนำไปสู่การดำเนินนโยบายการเงินที่แตกต่างกัน โดยประเทศที่พัฒนาแล้วอาจมีการพิจารณาปรับลดมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ อาทิ การปรับลดปริมาณการซื้อพันธบัตร (คิวอี) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ซึ่งนักลงทุนในตลาดคาดว่าจะเริ่มปรับขึ้นในไตรมาสแรกของปี 2566 ด้านประเทศตลาดเกิดใหม่ยังคงพึ่งพานโยบายของภาครัฐในการช่วยพยุงเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำจากแรงกดดันด้านปริมาณการออกจำหน่ายพันธบัตรใหม่ที่ลดลง ส่วนสภาพคล่องในตลาดเงินยังคงอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ เมื่อเฟดเริ่มปรับลดปริมาณคิวอี และการปรับเพิ่มเงินคงคลัง จะนำไปสู่การปรับขึ้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร สะท้อนภาวะเศรษฐกิจสหรัฐที่ฟื้นตัว ซึ่งความอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจและทำให้การลงทุนในหุ้นมีแต้มต่อ เมื่อพิจารณาถึงส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนในหุ้นเมื่อเทียบกับอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ยังคงปรับตัวสูงขึ้น

 

ทั้งนี้ ยังคงมีมุมมองเป็นบวกต่อการลงทุนในหุ้นมากกว่าตราสารหนี้โดยเฉพาะหุ้นในตลาดที่พัฒนาแล้ว นำโดยหุ้นจดทะเบียนในสหรัฐและยุโรป เนื่องจากสภาพคล่องส่วนเกินที่สูงจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้หุ้นมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าตราสารหนี้ต่อไป

 

อย่างไรก็ดี ยังคงต้องจับตามองความเสี่ยงด้านการควบคุมการระบาดของไวรัส การกลายพันธ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่อาจเกิดขึ้นได้ การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ตลอดจนความไม่แน่นอนเรื่องจังหวะเวลาที่เฟดจะเริ่มถอนมาตรการคิวอี โดยเชื่อว่าความคล่องตัวในการปรับสัดส่วนการลงทุนและการลงทุนในหุ้นวัฐจักร จะสร้างความสมดุลให้พอร์ตการลงทุนในช่วงภาวะที่มีความผันผวนสูงได้

 

ขณะที่ มุมมองการลงทุนในตลาดหุ้นไทยนั้น หลังจากที่เริ่มมีการผ่อนคลายการล็อกดาวน์ จำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันลดลง รวมถึงผู้ได้รับวัคซีนมีจำนวนเพิ่มขึ้นในแต่ละวัน ทำให้ความคาดหวังในการกลับมาเดินหน้าเศรษฐกิจของประเทศ มีมุมมองเชิงบวกมากขึ้น อีกทั้งจากที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวสนับสนุนให้กลุ่มอุตสาหกรรมหลักๆ ของไทย

 

โดยเฉพาะภาคการผลิตเริ่มกลับมาดีขึ้น อาทิ พลังงาน สินค้าพื้นฐาน และการเงินของไทย ส่วนภาคการบริการที่รวมถึงการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายในประเทศยังเป็นที่น่ากังวล แต่โดยรวมตลาดการลงทุนในประเทศไทยเริ่มมีความน่าสนใจมากขึ้น ในส่วนของตราสารหนี้นั้น มองว่าตราสารหนี้ในเอเชียยังน่าลงทุนเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ในตลาดสหรัฐ เนื่องจากส่วนชดเชยความเสี่ยงการผิดนัดชำระที่สูงกว่า