คลังดึง ดอกเบี้ย ‘ฟิโกไฟแนนซ์’ เหลือ 33%

10 ก.ย. 2564 | 13:43 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.ย. 2564 | 20:43 น.
626

ถึงคิว “พิโกไฟแนนซ์” คลังเตรียมประกาศ ลดดอกเบี้ยเหลือ 33% ต่อปี จาก 36% แต่ยังคงอัตรา 28% สำหรับพิโกพลัส นายกสมาคมแจง หนี้เสียเพิ่ม ส่วนใหญ่ลูกค้าวางโฉนดที่ดินเป็นประกัน ด้านซีไอเอ็มบีไทย เจาะตลาดจำนำทะเบียน ส่งสินเชื่อส่วนบุคคล เสนอดอกเบี้ย 14%

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ขอความร่วมมือผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ให้กับลูกหนี้ ทั้งลดค่างวด ขยายเวลาชำระหนี้ เปลี่ยนประเภทหนี้จากระยะสั้นเป็นระยะยาว พักชำระค่างวด พักชำระเงินต้นและจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน และการพักชำระเงินต้นและลดอัตราดอกเบี้ย พบว่า มีผู้ประกอบธุรกิจเข้าร่วมมาตรการ 288 ราย คิดเป็นจำนวนบัญชีลูกหนี้ทั้งสิ้น 9,807 บัญชี

 

 นายสมเกียรติ จตุราบัณฑิต นายกสมาคมพิโกไฟแนนซ์ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า กระทรวงการคลังได้ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ในช่วงการระบาดของโควิด-19 คาดว่า น่าจะมีการประกาศของกระทรวงการคลังออกมาภายในช่วงเดือนกันยายนนี้และจะให้มีผลในทางปฎิบัติ 30 วัน หลังออกประกาศ เพื่อให้ผู้ประกอบเตรียมตัว สำหรับปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้ารายใหม่ โดยการลดดอกเบี้ยจาก 36% เหลือ 33% จะไม่มีผลย้อนหลัง

นายสมเกียรติ จตุราบัณฑิต นายกสมาคมพิโกไฟแนนซ์

 

สำหรับสินเชื่อพิโกที่มีหลักประกัน เช่น จดจำนองเป็นที่ดิน หรือบุคคลค้ำประกัน และจดหลักประกันทางธุรกิจ เช่น บัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินเดือน (Payroll) เดิม 36% ลดเหลือ 33% ในส่วนของสินเชื่อพิโกที่ไม่มีหลักประกัน กู้ร่วม, จำนำหัวทะเบียน, มอบโฉนดที่ดินเป็นประกันยังคงดอกเบี้ยในอัตราเดิมคือ 36%

ขณะเดียวกันสินเชื่อพิโกพลัส วงเงินไม่เกิน 50,000 บาท สำหรับรายใหม่ที่มีหลักประกันก็ให้ลดดอกเบี้ยเป็น 33% (รวมอัตราดอกเบี้ย ค่าปรับ อื่นๆแล้ว) กรณีไม่มีหลักประกัน ยังคิดอัตราเดิม 36% ต่อปี และวงเงินเกิน 50,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาทมีหลักประกันยังคิดอัตราเดิมที่ 28%

 

ทั้งนี้ ภายใต้สัญญากู้ที่คิดอัตราดอกเบี้ยสำหรับหนี้ที่มีหลักประกันนั้น จะคิดอัตราดอกเบี้ยค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่นไม่เกิน 33% ต่อปี โดยหลังพ้นโควิดและสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติแล้ว ผู้ประกอบการพิโกยังคงใช้สัญญาดอกเบี้ย 33% ต่อไป โดยไม่สามารถปรับเพิ่มกลับไปในอัตราเดิมเหมือนกรณีของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ภาพรวมการประกอบธุรกิจพิโกไฟแนนซ์

 

นายสมเกียรติกล่าวว่า เจตนาของกระทรวงการคลังคือ พยายามจะดึงคนที่มีรายได้น้อยเข้าสู่ระบบ แต่ในแง่ผู้ประกอบการต้องคัดผู้กู้เพราะช่วงนี้หนี้เสียเพิ่มขึ้นมาก แนวทางการอนุมัติสินเชื่อ จึงพิจารณาทั้งเงินโอที หรือหากบริษัทไม่ปรับลดเงินเดือน อย่างบริษัทรถยนต์จะดูแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานไฟฟ้า

 

“พอร์ตสินเชื่อพิโก้ แค่หมื่นกว่าล้านบาท แต่สามารถให้บริการคนมีรายได้น้อยในฐานที่กว้าง ช่วงนี้ขนาดโรงงานหรือบริษัทไม่จ่ายโอที หรือลดเงินเดือน และเราหยุดปล่อยสินเชื่อ แต่ภาพรวมต่อเดือน มีสินเชื่อใหม่เฉลี่ย 400 ล้านบาท” นายสมเกียรตกล่าว

 

นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทยกล่าวว่า สินเชื่อบุคคลปัจจุบัน ธนาคารเน้นกลุ่มเป้าหมายที่มีรายได้ 50,000 บาทต่อเดือน ซึ่งมีสัดส่วนราว 75% และเกือบ 90% เป็นกลุ่มที่มีรายได้เกิน 30,000บาท ซึ่งเป็นกลุ่มระดับกลางแต่ในช่วงโควิด-19 กลุ่มนี้ก็ยังเหนื่อย

นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี

 ส่วนช่วงที่เหลือปีนี้ ซีไอเอ็มบีไทยได้ออกแคมเปญสินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อเป็นสินเชื่อเสริมสภาพคล่องสำหรับคนมีรถ แต่ไม่ต้องใช้รถมาค้ำประกัน โดยมีรายได้ 3 หมื่นบาทขึ้นไป คิดดอกเบี้ย 14% ผ่อน 24 งวด คาดว่าสิ้นปีนี้ จะมียอดอนุมัติได้ตามเป้า 500 ล้านบาท

 

แหล่งข่าวกล่าวว่า ภาพรวมสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบุคคลดิจิทัลนั้น ช่วงนี้ กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน เป็นกลุ่มเปราะบาง ด้วยสภาพเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้ดิจิทัลเลนดิ้ง ยังไม่เติบโตเท่าที่ควร เห็นนอนแบงก์ 2 รายที่ทำตลาดช่วงนี้ เพราะโดยรวมแล้ว สถาบันการเงินระมัดระวังเพราะความเสี่ยงสูง

 

 “ธปท.พยายามผ่อนเกณฑ์ เพื่อดึงผู้กู้ให้มาอยู่ในระบบ เพราะดอกเบี้ยจะถูกกว่าหนี้นอกระบบ แต่กลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงตลาดระมัดระวัง ขณะที่แนวโนมเอ็นพีแอลทั้งสินเชื่อบุคคล และสินเชื่อบ้านปรับเพิ่มขึ้น โดยช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ดี คนร้อนเงินเยอะแต่ความสามารถในการชำระคืนน้อย เพราะรายได้ยังไม่กลับมา จึงทำให้ธนาคารระมัดระวังและพิจารณาความเสี่ยงเป็นหลักโดยเฉพาะเน้นรักษาฐานลูกค้าเดิม”

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,712 วันที่ 9 - 11 กันยายน พ.ศ. 2564