“อาคม” หารือช่วยสายการบิน ดับฝันอาจไม่ได้ตามที่ขอ

07 ก.ย. 2564 | 15:51 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ย. 2564 | 23:04 น.

“อาคม” นั่งหัวโต๊ะหารือสมาคมสายการบิน ชี้ที่ผ่านมาเปิดช่องดึงเอ็กซิมแบงก์ให้ความช่วยเหลือแล้ว ย้ำอาจช่วยได้ไม่เต็มที่ตามที่ขอ เชื่อหลังคลายล็อกดาวน์ ธุรกิจการบินเริ่มกลับมาบินได้แม้ยังจำกัดจำนวนผู้โดยสาร แต่ก็ยังถือว่ามีรายรับเข้ามาบ้าง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยก่อนเข้าประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และสมาคมสายการบิน โดยระบุว่า ยังต้องรอรับฟังข้อเรียกร้องของสายการบิน แต่อย่างไรก็ตามที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้มอบหมายให้เอ็กซิมแบงก์เข้าไปดูแลช่วยเหลือสภาพคล่อง รวมถึงการพักชำระหนี้ให้กับสายการบินที่เป็นลูกค้าเดิม ทั้งสายการบินบางกอกแอร์เวย์ และสายการบินไทยแอร์เอเชีย ขณะที่ล่าสุดสายการบินไทยสมายล์ ได้ช่วยเหลือเรื่องการจ้างงานไปแล้ว ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสายการบินได้มีการหารือร่วมกับเอ็กซิมแบงก์และธนาคารพาณิชย์อื่นๆอย่างต่อเนื่อง แต่การช่วยเหลือก็จะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละสถาบันการเงิน ส่วนวงเงินช่วยเหลือของเอ็กซิมแบงก์ อาจใช้วงเงินของแบงก์เอง หรือ ใช้ซอฟต์โลน (เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ) ของ ธปท. ก็ได้

“ในฐานะแบงก์รัฐ ก็ยื่นมือเข้าไปช่วย แต่อาจไม่เต็มที่ คงไม่สามารถให้ได้ตามที่ต้องการทั้งหมด เพราะแบงก์ก็ต้องพิจารณาตามกฎเกณฑ์ที่มี เชื่อว่าเมื่อมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดค่อยๆผ่อนคลายลง ประกอบกับการมีวัคซีน และจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง กิจกรรมก็จะเพิ่มขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลดีต่อสายการบิน แต่จำนวนที่นั่งผู้โดยสารอาจยังต้องจำกัดที่ 70% - 80% และยังต้องดูแผนว่าจะบินได้กี่เที่ยวบิน แต่อย่างน้อยก็ยังมีรายรับเข้ามาบ้าง” รมว.คลัง กล่าว

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ผ่านมาเอ็กซิมแบงก์ได้ช่วยเหลือลูกค้าเดิมที่เป็นธุรกิจสายการบินไปแล้ว คือ การพักชำระหนี้ เพื่อไม่ต้องกังวลภาระค่าใช้จ่ายในช่วงที่ยังทำการบินไม่ได้ ส่วนการเติมสภาพคล่องให้ภาคธุรกิจ จะต้องมีเครื่องมือของภาครัฐเข้ามาช่วย เช่น พ.ร.ก.ฟื้นฟูของแบงก์ชาติ แต่ในส่วนของธุรกิจสายการบินไม่เข้าเงื่อนไข เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ขนาดใหญ่ มูลค่าหลักพันล้าน ดังนั้นกระทรวงการคลังจึงได้กำหนดแนวทางการช่วยเหลือไปที่การจ้างงานในระดับผู้ปฏิบัติงานไปจนถึงสิ้นปี 2564  โดยในการประชุมร่วมกับสายการบินวันนี้ ก็จะมีการหารือในเรื่องดังกล่าวด้วย

 

สำหรับการช่วยเหลือจ้างงานมีอยู่ 2 แนวทาง ได้แก่ การใช้เงินจ้างงานจากเอ็กซิมแบงก์ และการใช้เงินจากประกันสังคม เพื่อไม่ให้มีปัญหากรณีช่วยธุรกิจต่างประเทศ เนื่องจากสายการบินส่วนใหญ่ที่มาประกอบธุรกิจในประเทศไทย เป็นบริษัทของชาวต่างชาติทั้งนั้น อย่างไรก็ดี แนวทางช่วยเหลือการจ้างงานจากประกันสังคม มีวงเงินรวมประมาณ 1 หมื่นล้านบบาท แต่ต้องพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้งว่าช่วยเหลือได้เท่าไหร่ เนื่องจากการช่วยเหลือต่อคนสามารถทำได้ 15 ล้านบาท ซึ่งจำนวนดังกล่าวช่วยจ่ายค่าพนักงานได้แค่ครึ่งเดือนเท่านั้น

 

แต่หากจะใช้เงินจ้างงานจากเอ็กซิมแบงก์ สายการบินก็ต้องมีหลักประกัน หรือใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นหลักประกัน แต่หากธุรกิจมีขนาดใหญ่กว่าที่ บสย.จะค้ำประกันได้ ก็ต้องให้ บสย.แก้นิยามกฎหมาย หรือสายการบินต้องใช้บริษัทแม่ช่วยค้ำ หรือ หาสินทรัพย์ หรือหลักประกันอื่นมาช่วยค้ำประกัน ลักษณะเหมือนสินเชื่อมีที่มีเงินของธนาคารออมสิน ซึ่งการหารือกับสายการบินวันนี้ สายการบินอาจจะมาเสนอแนวทางในการช่วยเหลือ ซึ่งจะต้องรอข้อสรุปอีกครั้ง