7สายการบินนัด“อาคม”7ก.ย.นี้ทวงซอฟต์โลน5พันล้านพยุงจ้างพนักงาน2หมื่นคน

02 ก.ย. 2564 | 12:17 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.ย. 2564 | 21:18 น.
872

สมาคมสายการบินประเทศไทย จับมือ 7 สายการบิน นัดหารือ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หารือขอสนับสนุนซอฟต์โลน 5,000 ล้านบาท พยุงการจ้างพนักงาน 2 หมื่นคน

แหล่งข่าวจากสมาคมสายการบินประเทศไทย เปิดเผยว่า สมาคมสายการบินประเทศไทย ที่ประกอบไปด้วย 7 สายการบิน ได้แก่ บางกอกแอร์เวย์ส, ไทยแอร์เอเชีย, ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์, ไทยสมายล์, นกแอร์, ไทยไลอ้อนแอร์ และไทยเวียตเจ็ท มีนัดประชุมร่วมกับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในวันที่ 7 ก.ย.นี้ เวลา 15.30-16.30 น. เพื่อขอหารือเพิ่มเติมถึงความเป็นไปได้ในการขอซอฟต์โลนเพื่อรักษาสภาพการจ้างงาน วงเงิน 5,000 ล้านบาท สำหรับนำมาใช้จ่ายด้านการจ้างงานในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2564

                                                                                                                     

ทั้งนี้ที่ผ่านมาสายการบินต่างๆได้รับผลกระทบอย่างมาก จากการถูกสั่งห้ามบินในประเทศเข้าออกพื้นที่สีแดงเข้มตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 กรกฏาคมที่ผ่านมา และแม้ว่าขณะนี้ภาครัฐจะผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ โดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)อนุญาตสายการบินเปิดให้ทำการบินเส้นทางบินภายในประเทศเข้าออกพื้นที่สีแดงเข้มได้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564  แต่แนวโน้มในช่วงแรกของการคลายล็อก จะยังมีผู้โดยสารไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นผู้โดยสารที่ความจำเป็นในการเดินทางนั้น ทำให้การดำเนินธุรกิจของสายการบินก็ยังคงเต็มไปด้วยความยากลำบากมาก

7สายการบินนัด“อาคม”7ก.ย.นี้ทวงซอฟต์โลน5พันล้านพยุงจ้างพนักงาน2หมื่นคน

ดังนั้นสายการบินจึงยังคงต้องการซอฟต์โลนเพื่อพยุงการจ้างของพนักงาน 2 หมื่นคน ซึ่งจากที่เคยร้องขอให้กระทรวงการคลังสนับสนุนซอฟต์โลนตั้งแต่มี.ค.63 จาก 2.4 หมื่นล้านบาท ตอนนี้ขอสนับสนุนแค่ 5 พันล้านบาทสำหรับการจ่ายเงินเดือนพนักงานเท่านั้น โดยจากการหารือจากExim Bank ล่าสุด ทางเอ็กซิมแบงก์ต้องการให้สายการบินมีหลักประกันมาประกอบการขอกู้เงิน

 

ทั้งยังมีเงื่อนไขประกอบการพิจารณา เช่นความสามารถในการชำระหนี้ แบงค์มองจุดนี้เป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากสายการบินได้รับผลกระทบจากโควิด และนโยบายการหารายได้จากค่าตั๋วโดยสารที่มีราคาต่ำ และมีเครื่องบินที่ไม่ได้ใช้งานแต่ยังมีภาระค่าเช่าเครื่องบินที่ต้องชำระ รวมถึงพิจารณาดอกเบี้ยและ ระยะเวลาการชำระหนี้

ดังนั้นจึงต้องการหารือกับทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังขอให้มีการผ่อนปรนเงื่อนไขในเรื่องเหล่านี้ เพราะสายการบินส่วนใหญ่ไม่มีสินทรัพย์ เนื่องจากเครื่องบินเป็นเครื่องบินเช่า โดยขอให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อในโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้าง ระยะที่ 2 (ปี63-64) ซึ่งมีดอกเบี้ยต่ำเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อพยุงการจ้างงานแต่ติดเงื่อนไขว่าสินเชื่อดังกล่าวซึ่งมีวงเงินอยู่ไม่เกิน 3 หมื่นล้านบาท จะปล่อยให้เฉพาะสถานประกอบการรายเล็กได้สูงสุดรายละไม่เกิน 15 ล้านบาทต่อสถานประกอบการเท่านั้น

 

จึงต้องการขอให้รัฐขยายการปล่อยสินเชื่อดังกล่าว ผ่านสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการนี้กับสำนักงานประกันสังคม  ซึ่งมีเอสเอ็มอีแบงก์ ร่วมอยู่ในโครงการนี้ด้วย เพื่อครอบคลุมธุรกิจรายใหญ่ให้ปล่อยกู้เกิน 1 พันล้านบาทได้ด้วย เพื่อให้สายการบินมีโอกาสที่จะไปยื่นขอใช้สินเชื่อดังกล่าว ซึ่งจะต้องมีการนำเรื่องเข้าครม.เพื่อขอแก้ไขเงื่อนไขดังกล่าว