7 สายการบินวืดซอฟต์โลน5พันล้านบาท พนักงาน2หมื่นคนระส่ำ

23 ก.ค. 2564 | 13:55 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2564 | 23:15 น.
9.3 k

ดับฝันสายการบินหมดสิทธิ์ “ซอฟต์โลน” 5 พันล้านเหตุ มีนโยบายให้แบงก์พิจารณาช่วยเหลือลูกค้าเอง พนักงาน 2 หมื่นคนระส่ำ เอ็กซิมแบงก์ ยันพร้อมดูแลสายการบินที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 เปิดพักชำระหนี้ เติมสภาพคล่อง ด้านวิทยุการบินฯลั่นไม่ลดค่าบริการเหตุขาดสภาพคล่องหนัก

ข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการสายการบินภายในประเทศ 7สายการบิน ได้แก่ บางกอกแอร์เวย์, ไทยแอร์เอเชีย, ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์,ไทยสมายล์, ไทยไลอ้อนแอร์, ไทยเวียตเจ็ท และนกแอร์ ในนามสมาคมสายการบินประเทศไทย เพื่อขอสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่า (ซอฟต์โลน) วงเงิน 5พันล้านบาท พยุงการจ้างงานกว่า 2 หมื่นคน กลายเป็นหมัน เมื่อกระทรวงการคลังมอบให้เจ้าหนี้เป็นผู้ดูแล

 

โดยข้อเสนอของ 7 สายการบินได้ปรับลดวงเงินจากที่ขอครั้งแรกที่ 2.4 หมื่นล้านบาทในเดือนมิ.ย.63 และ 1.44 หมื่นล้านบาทเมื่อต้นปี 64 พร้อมขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภาครัฐพักและชำระค่าธรรมเนียมต่างๆ เพื่อต่อลมหายใจเฮือกสุดท้ายนั้น

7 สายการบินวืดซอฟต์โลน5พันล้านบาท พนักงาน2หมื่นคนระส่ำ

แบงก์ช่วยเหลือลูกค้าเอง

ล่าสุดมีรายงานข่าวจากสถาบันการเงิน ว่าการจัดหาซอฟต์โลนต์ให้กับสายการบินนั้น ได้มีการมอบนโยบายให้ธนาคารของรัฐแต่ละแหล่งพิจารณาความช่วยเหลือกับให้กับลูกค้าที่มีการใช้วงเงินกู้กับธนาคารนั้นตามมาตรการความช่วยเหลือของแต่ละแห่ง ไม่ได้จัดเป็นวงเงินกู้ซอฟต์โลนพิเศษออกมา

 

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ที่ผ่านมาเอ็กซิมแบงก์ได้เข้าไปดูแลลูกค้าทุกรายทุกธุรกิจทันทีที่พบว่า ได้รับผลกระทบ จากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งรวมถึงธุรกิจสายการบินที่เป็นลูกค้า ผ่านมาตรการ “หยุดเลือด” หรือ การพักหนี้ เช่น การพักชำระเงินต้น พักชำระดอกเบี้ย หรือ พักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ขึ้นกับความพร้อมของลูกค้า

 

มาตรการต่อมา คือ “การเติมอ็อกซิเจน” หรือ การเติมสภาพคล่อง เพื่อประคองให้ธุรกิจสามารถดำเนินอยู่ได้ ขณะเดียวกันยังให้คำปรึกษาเพื่อหาทางออกกรณีที่เป็นธุรกิจสายการบินต่างชาติ เช่น การให้บริษัทแม่ ซึ่งเป็นบริษัทต่างชาติเข้ามาคํ้าประกันสินเชื่อผ่านการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินในไทย

 

“อัตราดอกเบี้ยของเอ็กซิมแบงก์ จะเป็นอัตราที่ถูกกว่าปกติ และเป็นอัตราที่ผ่อนปรนอยู่แล้ว รวมทั้งยังมีมาตรการดูแลลูกค้าที่ประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเอ็กซิมแบงก์ถือเป็นแพทย์เฉพาะทาง การดูแลคนไข้แต่ละรายจะไม่เหมือนกัน ซึ่งเอ็กซิมแบงก์พร้อมดูแลลูกค้าทุกราย และพร้อมให้คำแนะนำลูกค้าใหม่เพื่อหาทางออกร่วมกัน” นายรักษ์ กล่าว

 

ไร้ซอฟต์โลนต้องดาวน์ไซส์

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ในฐานะนายกสมาคมสายการบินประเทศไทย กล่าวว่าถ้าไม่ได้ซอฟต์โลนก้อนนี้จริงๆ จะส่งผลกระทบให้สายการบินที่แบกภาระหนักอยู่แล้ว อาจไม่มีทางเลือกอื่นที่จะไปดำเนินการปรับโครงสร้างภายในองค์กรเพิ่มขึ้นอีก

7 สายการบินวืดซอฟต์โลน5พันล้านบาท พนักงาน2หมื่นคนระส่ำ

โดยแต่ละสายก็คงมีแนวทางแตกต่างกันไป เพราะขนาดธุรกิจที่ไม่เท่ากัน บางสายการบินก็เลี่ยงไม่ได้กับการดาวน์ไซส์องค์กร ลดการจ้างงานลง สำหรับสายการบินที่ยังพอมีสายป่านอยู่ หรือการต้องไปหาแหล่งเงินกู้เข้ามาเองของแต่ละสาย แต่ถ้าสายไหนไปไม่ไหว ก็คงต้องเป็นอีกสายการบินที่ต้องปิดกิจการไป

 

“เราก็ไม่อยากเห็นภาพนี้เกิดขึ้นในไทย เราเห็นความจำเป็น สายการบินเป็นเสมือนเครื่องมือพัฒนาและดำเนินการ ให้มีการขนส่งสินค้าบุคคล หนุนการท่องเที่ยว โรงแรม จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ถ้าเรายังอยู่เดินไปได้ ยังลำบาก แต่ยังอยู่ได้ อยากขอร้องให้รัฐช่วยพิจารณา ถ้าไปถึงสุดทาง แต่ละสายการบินก็คงมีมาตรการต่างกันไป” นายพุฒิพงศ์ กล่าว

 

บวท.ปัดลดค่าบริการช่วยไม่ไหว

ขณะที่นายทินกร ชูวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทยจำกัด (บวท.) กล่าวว่า บวท.ไม่มีความสามารถในการให้ความช่วยเหลือ 7 สายการบินที่ขอให้ยกเว้นการจัดเก็บค่าบริการการเดินอากาศต่อไปได้ เนื่องจากในปี 64 บวท.รายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายกว่า 6,600 ล้านบาท จากการให้บริการจราจรทางอากาศเที่ยวบินพาณิชย์ ที่ทำการบินเข้า-ออก ผ่านน่านฟ้าไทยที่ลดลง

 

จากผลกระทบของโควิด-19 โดยคาดว่าปริมาณเที่ยวบินในปีงบประมาณ 64 (ต.ค.63-ก.ย.64) จะมีปริมาณเที่ยวบินลดลงจากปี 63 ถึง 56% และจากการแพร่ระบาดที่ยังคงรุนแรงต่อเนื่องบวท.คาดการณ์ว่าจะส่งผลกระทบไปถึงปี 65

ทินกร ชูวงศ์

ประกอบกับสายการบินมีการชำระหนี้เฉลี่ยเพียง 52% ของหนี้ที่ครบกำหนดชำระ จึงทำให้ปัจจุบัน บวท. ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องเช่นกัน และบวท. จำเป็นต้องจัดหาแหล่งเงินกู้ระยะสั้นเพิ่มเติม เพื่อเสริมสภาพคล่องในปี 64-65 ซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด ตามกรอบแผนบริหารหนี้ที่ได้รับอนุมัติ

 

อีกทั้งที่ผ่านมาบวท.ได้ช่วยเหลือสายการบินมาต่อเนื่องตั้งแต่มี.ค.ปี 63-มิ.ย.64 อาทิ การปรับลดค่าบริการการเดินอากาศลง 50% สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศ และ 20% สำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ การขยายเวลาชำระหนี้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของ บวท. ด้วยเช่นกัน

 

ทอท.-ทย.ขยายการช่วยเหลือ

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)หรือทอท. เผยว่าทอท. ได้ช่วยสายการบิน โดยลด/ยกเว้น ค่าบริการขึ้นลงของอากาศยาน (แลนด์ดิ้ง) และค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (ปาร์กกิ้ง) ค่าเช่าสำนักงาน และค่าบริการต่างๆ ซึ่งได้ขยายระยะเวลาของมาตรการช่วยเหลือฯ จากเดิมที่สิ้นสุดเดือนธ.ค. 64 ไปจนถึงสิ้นสุดเดือนมี.ค.65

 

อีกทั้งยังได้ผ่อนผันการวางหลักประกันเงินสดสำหรับสายการบินที่มีหนี้สินค้างชำระกับทอท. ที่ประสงค์จะทำการบิน ใน 6 สนามบิน และอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือสายการบินเพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นการเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้แก่สายการบินในช่วงวิกฤติโควิด ที่รุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน

 

นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน หรือทย. กล่าวว่า กรมท่าอากาศยานได้ออกมาตรการช่วยเหลือสายการบิน ตามมติครม.โดยได้ลดค่าแลนด์ดิ้งให้ 50% และยกเว้นการเก็บค่าปาร์กกิ้ง ให้จนถึงธ.ค.64 และในส่วนของค่าปรับที่เกิดจากการชำระล่าช้า ทย.จะรับไปพิจารณาตามฐานอำนาจทางกฎหมาย ในการขยายเวลาการชำระ เพื่อไม่ให้เกิดค่าปรับดังกล่าวในอนาคต

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3699 วันที่25-28 กรกฏาคมพ.ศ.2564