“อาคม” เผยช่วยแล้ว “ไทยสมายล์” สั่ง เอ็กซิมแบงก์ เร่งช่วยสายการบินอื่น

03 ก.ย. 2564 | 10:28 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.ย. 2564 | 17:38 น.

“อาคม”เผย คืบหน้าช่วยอุตสาหกรรมการบิน ล่าสุดช่วยแล้ว “ไทยสมายล์” พร้อมสั่ง “เอ็กซิมแบงก์” เร่งช่วยสายการบินอื่น ด้าน “เอ็กซิมแบงก์” รับลูกเปิด 3 แนวทาง เน้นต่ออายุจ้างงาน พร้อมกลับมาบินเมื่อสถานการณ์ปกติ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(ธสน.) หรือ เอ็กซิมแบงก์ ได้รายงานให้ทราบความคืบหน้าการช่วยเหลืออุตสาหกรรมการบิน โดยขณะนี้ได้ช่วยเหลือไปแล้ว 1 สายการบิน คือ ไทยสมายส์ ส่วนสายการบินอื่นๆ เอ็กซิมแบงก์อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางการให้ความช่วยเหลือ พร้อมย้ำอุตสาหกรรมการบิน เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจท่องเที่ยว ที่สร้างรายได้หลักให้กับประเทศ กระทรวงการคลัง เร่งดำเนินการอยู่

 

“กระทรวงคลังได้มอบหมายให้เอ็กซิมแบงก์ดำเนินการ ซึ่งการช่วยเหลือต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบรัดกุม และเมื่อรัฐบาลคลายล็อกให้บินข้ามจังหวัดได้ เชื่อว่าสายการบิน จะมีรายได้ มาหล่อเลี้ยงต่อลมหายใจได้ แม้จะยังไม่เต็มที่ แต่ก็จะทยอยดีขึ้นเรื่อยๆ” นายอาคม กล่าว

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ เอ็กซิมแบงก์ กล่าวว่า เอ็กซิมแบงก์ ได้พิจารณาช่วยเหลือสายการบินอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสภาพคล่อง เพื่อให้สายการบินคงการจ้างงาน เพราะเป็นกลุุ่มบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและจะต้องได้รับอนุญาตในการประกอบอาชีพในอนาคต เมื่อการเดินทางสามรถทำได้ปกติ จะได้มีบุคลากรรองรับการทำงานโดยทันที

 

สำหรับแนวทางในการดำเนินการ มี   3 แนวทาง คือ 1. สินเชื่อฟื้นฟูของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วงเงิน  20 ล้านบาท และจะเพิ่มเป็น 50 ล้านบาทในวันที่ 6 ก.ย.นี้เป็นต้นไป  โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ย 2% เป็นเวลา 2 ปี 

2. สินเชื่อสำนักงานประกันสังคม(สปส.) วงเงิน 15- 30 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2.75 % ระยะเวลา 3 ปี  ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขคำนิยาม เพื่อให้บสย.ค้ำประกันได้ทุกขนาดธุรกิจ

3. การให้สินเชื่อจากเงินกู้ของเอ็กซิมแบงก์เอง ซึ่งจำเป็นต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ และต้องกำหนดให้มีหลักประกันเพื่อการบริหารความเสี่ยงที่ดี

รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ เอ็กซิมแบงก์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ 7 สายการบิน ที่ขอให้รัฐบาลช่วยเหลือ ได้แก่ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ ,ไทยแอร์เอเชีย ,ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ,ไทยสมายล์ ,นกแอร์ ,ไทยไลอ้อนแอร์ ,ไทยเวียดเจต เป็นต้น ซึ่งแนวทางการพิจารณาความช่วยเหลือ กระทรวงการคลังให้ยึดแนวทางการช่วยเหลือตามสถานะของสายการบิน เนื่องจากแต่ละสายการบิน มีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน จึงต้องพิจารณาตามความจำเป็นของแต่ละสายการบินตามลำดับ อย่างไรก็ตามนอกจากเรื่องแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ สายการบินต่างๆยังขอให้รัฐบาลช่วยเหลือยกเว้นการจัดเก็บค่าบริการขึ้น-ลงอากาศยาน รวมถึงค่าจอด-ค่าปรับออกไปก่อน