ฟิลิปปินส์ แอร์ไลน์ ล้มละลายเซ่นโควิด ยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์พร้อมแผนฟื้นฟู   

05 ก.ย. 2564 | 04:36 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ย. 2564 | 13:55 น.

"ฟิลิปปินส์ แอร์ไลน์" ยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์กับศาลสหรัฐ พร้อมแผนปรับโครงสร้างทางการเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากบรรดาเจ้าหนี้ หลังโควิด-19 พ่นพิษทำการเดินทาง-การท่องเที่ยวดำดิ่งทั่วโลก

ฟิลิปปินส์ แอร์ไลน์ สายการบินแห่งชาติของฟิลิปปินส์ ซึ่งก่อตั้งในปี ค.ศ. 1941 (พ.ศ. 2484) ได้ ยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 11 ของ กฎหมายล้มละลายในสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะทำให้ฟิลิปปินส์ แอร์ไลน์สามารถปรับโครงสร้างทางการเงินที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

 

ฟิลิปปินส์ แอร์ไลน์เปิดเผยเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (3 ก.ย.) ว่า แผนปรับโครงสร้างซึ่งยื่นต่อศาลแขวงนิวยอร์กใต้และจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากศาลนั้น จะอนุญาตให้ฟิลิปปินส์ แอร์ไลน์ลดฝูงบินลง 25% และตั้งเป้าลดหนี้ลง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

แผนปรับโครงสร้างหนี้ยังรวมถึงตราสารหนี้ระยะยาว และการจัดหาเงินกู้ระยะยาวจำนวน 505 ล้านดอลลาร์จากผู้ถือหุ้นใหญ่ของสายการบิน รวมถึงการจัดหาเงินกู้เพิ่มเติมอีก 150 ล้านดอลลาร์จากนักลงทุนรายใหม่ ๆ ทั้งนี้ แผนปรับโครงสร้างทางการเงินเพื่อฟื้นฟูกิจการนี้ ได้รับความสนับสนุนจากบรรดาเจ้าหนี้ของสายการบินถึง 90%

 

รายงานข่าวระบุว่า บริษัท PAL Holdings ซึ่งเป็นบริษัทแม่ และสายการบิน PAL Express ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของฟิลิปปินส์ แอร์ไลน์ ไม่ได้ถูกรวมอยู่ในการยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 11 ดังกล่าว

นายลูซิโอ ตัน มหาเศรษฐี ซีอีโอ ฟิลิปปินส์ แอร์ไลน์

สำนักข่าวบลูมเบิร์กยังระบุด้วยว่า ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการครั้งนี้ หากได้รับอนุมัติจากศาล ทางสายการบินก็จะสามารถลดฝูงบินลง 25% และสามารถส่งคืนเครื่องบินอย่างน้อย 20 ลำ  ช่วงต้นปีนี้ บริษัทยังลดจำนวนพนักงานในองค์กรลงไปแล้ว 35%

 

ภายใต้ความคุ้มครองของกฎหมายล้มละลายมาตรา 11 ทางบริษัทจะยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ขณะทำการปรับโครงสร้างเพื่อฟื้นฟูกิจการ ก่อนหน้าจะยื่นขอความคุ้มครองต่อศาลเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (3 ก.ย.) ฟิลิปปินส์ แอร์ไลน์ ได้ทำการเจรจากับบรรดาผู้ถือหุ้นมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว นายลูซิโอ ตัน มหาเศรษฐีหุ้นใหญ่สายการบินซึ่งมีตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารระบุว่า การยื่นขอความคุ้มครองเพื่อขอปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งนี้ ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญสำหรับสายการบินฟิลิปปินส์ แอร์ไลน์ ขณะที่ยื่นต่อศาลในสหรัฐครั้งนี้ ทางสายการบินจะยื่นขอความคุ้มครองจากกฎหมายล้มละลายและฟื้นฟูกิจการในประเทศฟิลิปปินส์ควบคู่ไปด้วย   

 

เอกสารที่ยื่นต่อของศาลระบุว่า โรลส์-รอยซ์และลุฟต์ฮันซา เทคนิก เป็นเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันรายใหญ่ที่สุดของฟิลิปปินส์ แอร์ไลน์ ส่วนเจ้าหนี้การค้าและซัพพลายเออร์นั้นคาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากแผนการปรับโครงสร้างหนี้ดังกล่าว

ฟิลิปปินส์ แอร์ไลน์ ล้มละลายเซ่นโควิด ยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์พร้อมแผนฟื้นฟู   

“แผนฟื้นฟูกิจการจะทำให้ทางสายการบินสามารถก้าวข้ามผลกระทบที่เกิดจากการระบาดครั้งใหญ่ทั่วโลกของโควิด-19 ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นผลกระทบที่สร้างอุปสรรคใหญ่หลวงให้กับธุรกิจในทุก ๆ ภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจการบิน แต่แผนฟื้นฟูครั้งนี้จะทำให้เราสามารถกลับมาแข็งแกร่งยิ่งขึ้นในระยะยาว” ซีอีโอของฟิลิปปินส์ แอร์ไลน์ กล่าวในแถลงการณ์

 

แม้ว่าการยุติมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศแถบเหนือเส้นศูนย์สูตรโดยเฉพาะในแถบยุโรป จะช่วยลดแรงกดดันที่มีต่ออุตสาหกรรมด้านการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงฤดูร้อนนี้ แต่การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสสายพันธุ์ใหม่อย่างสายพันธุ์ “เดลต้า” ก็กลับสร้างผลกระทบให้กับบรรดาสายการบินอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐและจีน

 

รายงานข่าวของบลูมเบิร์กระบุว่า ฟิลิปปินส์ แอร์ไลน์ เป็นสายการบินระหว่างประเทศรายล่าสุดที่ยื่นขอความคุ้มครองจากกฎหมายล้มละลายต่อศาลในสหรัฐ ซึ่งการจะเดินหน้าแผนปรับโครงสร้างได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของผู้พิพากษาสหรัฐ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายล้มละลายให้ความเห็นว่า สหรัฐเป็นที่พึ่งยอดนิยมของบรรดาบริษัทที่ประสบปัญหาทางการเงินเพราะกฎหมายในสหรัฐอเมริกาเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจ นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งยังเป็นเพราะสัญญากู้ยืมที่สายการบินทำกับบรรดาเจ้าหนี้มักอ้างอิงกฎหมายแห่งรัฐนิวยอร์กหรือเดลาแวร์

 

เมื่อปีที่แล้ว สายการบินลาตัม แอร์ไลน์ส ในชิลี สายการบินแอโรเม็กซิโก จากเม็กซิโก และเอเวียงกา โฮลดิงส์ จากโคลอมเบีย ก็ยื่นขอความคุ้มครองจากกฎหมายล้มละลายในสหรัฐที่ศาลแขวงนิวยอร์กเช่นกัน และเดือนมิ.ย.ปีนี้ สายการบินการูดา ของอินโดนีเซีย ก็เปิดเผยว่ากำลังพิจารณาเรื่องการขอปรับโครงสร้างหนี้และกำลังเจรจาอยู่กับเจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าเครื่องบิน

 

ข่าวระบุว่า บริษัท PAL Holdings ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของสายการบินฟิลิปปินส์ แอร์ไลน์ เริ่มประสบปัญหาทางการเงินมาตั้งแต่ต้นปี 2560 โดยในช่วงไตรมาสแรกของปีดังกล่าว บริษัทเริ่มประสบภาวะขาดทุน จากนั้นมาในปี 2563 ก็ทำสถิติขาดทุนมากเป็นประวัติการณ์ที่ 71,800 ล้านเปโซ หรือประมาณ 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้ง ๆ ที่ในปีก่อนหน้า (2562) ยอดขาดทุนของบริษัทยังอยู่เพียงที่ระดับ 10,300 ล้านเปโซเท่านั้น ส่วนราคาหุ้นของบริษัท ปรับลดลงมาแล้ว 7.6% ในปีนี้ หลังจากที่ลดลง 17% ในปี 2563

 

ข้อมูลอ้างอิง