อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ทรงตัว ที่ระดับ 32.03 บาทต่อดอลลาร์

01 ก.ค. 2564 | 07:18 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.ค. 2564 | 14:37 น.
548

ธนาคารกรุงไทย มองอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท ความผันผวนมากขึ้น จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 อาจอ่อนค่าต่อถึงระดับ 32.25-32.50 บาทต่อดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.03 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว”จากระดับปิดวันก่อนหน้า มองกรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.95-32.10 บาท/ดอลลาร์

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า แม้ว่า ตลาดการเงินในฝั่งสหรัฐฯ จะปิดตลาดครึ่งแรกของปีเป็นบวก โดยดัชนี S&P500 สามารถปิดตลาด +0.21% หนุนโดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาดีเกินคาด อาทิ ยอดการจ้างงานภาคเอกชน ที่สำรวจโดย ADP ในเดือนมิถุนายน ก็เพิ่มขึ้นกว่า 6.9 แสนตำแหน่ง และ ยอดน้ำมันดิบคงคลัง (Crude Inventories) ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องกว่า -6.7 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ สะท้อนถึงความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

 

ทว่า ตลาดการเงินในภูมิภาคอื่นๆ กลับเผชิญแรงกดดันจากความกังวลปัญหาการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Delta  กดดันให้ ตลาดหุ้นในฝั่งยุโรปล้วนปรับตัวลดลง ส่งผลให้ ดัชนี STOXX50 ของยุโรป พลิกกลับมาย่อตัวลงกว่า -1.05% นำโดยหุ้นสินค้าแบรนด์เนม รวมถึง กลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ กลุ่มยานยนต์ ที่เผชิญแรงเทขายหนัก Kering -2.31%, Louis Vuitton -1.88%, BMW -2.08%, Volkswagen -2.07%

 

ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนของปัญหาการระบาด COVID-19 ทั่วโลก ยังคงกดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังทรงตัวใกล้ระดับ 1.47% ซึ่งเราคงมองว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ จะแกว่งตัวในกรอบ Sideways จนกว่าเฟดจะส่งสัญญาณชัดเจนถึงการทยอยปรับลดคิวอีลง ซึ่งอาจเป็นช่วงปลายเดือนสิงหาคม ที่เฟดจะมีงานประชุมสัมมนาวิชาการที่ Jackson Hole หรือ สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 มีทิศทางชัดเจนมากขึ้น ว่าจะเลวร้ายลง (กดดันยีลด์ปรับตัวลง) หรือ ดีขึ้นต่อเนื่อง (อาจหนุนยีลด์ปรับตัวขึ้นได้)

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ได้หนุนให้ เงินดอลลาร์ เคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดก็เริ่มสะสมสินทรัพย์ปลอดภัย โดยเฉพาะ เงินดอลลาร์ เพื่อป้องกันความผันผวนในตลาดที่อาจปรับตัวสูงขึ้นได้ โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 92.44 จุด ซึ่งเป็นจุดสูงสุดในรอบเกือบ 3 เดือน กดดันให้ เงินเยน (JPY) อ่อนค่าลงกว่า แตะระดับ 111 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นการอ่อนค่าสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติ COVID-19 ส่วน เงินยูโร (EUR) ก็อ่อนค่าลง สู่ระดับ 1.186 ดอลลาร์ต่อยูโร นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์ ได้กดดันให้ ราคาทองคำยังคงทรงตัวที่ ระดับ 1,768 ดอลลาร์ต่อออนซ์

 

สำหรับวันนี้ ตลาดจะจับตาแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมการผลิตของสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม โดย ISM (Manufacturing PMI) ที่ระดับ 61 จุด (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึงการขยายตัว) ขณะเดียวกันตลาดแรงงานก็ฟื้นตัวดีขึ้น โดยยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) จะลดลง สู่ระดับ 3.8 แสนราย ภาวะการจ้างงานที่ดีขึ้นอาจสะท้อนว่า ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เดือนมิถุนายน ที่จะรายงานในวันศุกร์นี้ อาจจะเพิ่มขึ้นกว่า 7 แสนตำแหน่ง และทำให้ อัตราว่างงานในสหรัฐฯ ลดลงเหลือ 5.7%

 

ทางด้านฝั่งยุโรป ตลาดมองว่า ยอดค้าปลีกของเยอรมนี (Retail Sales) เดือนพฤษภาคม ก็จะขยายตัวกว่า 4.6% จากเดือนก่อนหน้า หลังกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาคึกคักมากขึ้นจากการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown

 

ส่วนในฝั่งเอเชีย เศรษฐกิจในฝั่งเอเชียโดยรวมยังเดินหน้าฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในฝั่งญี่ปุ่น ที่เศรษฐกิจได้รับแรงหนุนจากภาคการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี (ยอดการส่งออกเดือนพฤษภาคมโตเกือบ 50%y/y) ซึ่งการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีนั้นจะช่วยหนุนการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการผลิตอุตสาหกรรม สะท้อนผ่าน ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ Tankan โดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ของฝั่งผู้ผลิตขนาดใหญ่ก็มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 16 จุด จาก 5 จุด (ดัชนี > 0 หมายถึง แนวโน้มดีขึ้น)

 

ด้านแนวโน้มค่าเงินบาท  ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลกและในไทย ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญต่อทิศทางค่าเงินบาท โดยสถานการณ์การระบาดทั่วโลกที่เลวร้ายลง จะกดดันภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอื่นๆ ยกเว้นสหรัฐฯ ทำให้ ตลาดถือครองเงินดอลลาร์มากขึ้น หนุนให้ เงินดอลลาร์ยังมีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อได้

 

นอกจากนี้ สถานการณ์การระบาดในไทยยังวิกฤติอยู่ จากยอดผู้ติดเชื้อรายวันที่อยู่ในระดับสูงและยังไม่มีทีท่าจะลดลง (ซึ่งตัวเลขที่แท้จริงอาจสูงกว่ายอดรายงาน จากข้อจำกัดด้านการตรวจหาผู้ติดเชื้อ) ขณะเดียวกัน การแจกจ่ายวัคซีนก็ดูจะล่าช้าและแผนการแจกจ่ายวัคซีนอาจไม่สามารถรับมือกับการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าได้ ซึ่งภาพดังกล่าวอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติยังสามารถทยอยขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทย และกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้

 

และนอกเหนือจากปัจจัยการระบาดของ COVID-19 โฟลว์ธุรกรรมจากบริษัท MNC ต่างชาติ โดยเฉพาะ MNC ญี่ปุ่น อาจทยอยกลับเข้ามาแลกสกุลเงินต่างชาติ หรือ เงินเยน อีกครั้ง หลัง เงินเยนอ่อนค่าลงหนัก เมื่อเทียบกับเงินบาท หนุนให้เงินบาทโดยรวมยังทรงตัวในระดับสูงอยู่

 

ทั้งนี้ ค่าเงินบาทก็อาจอ่อนค่าต่อถึงระดับ 32.25-32.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้ หลังเงินบาทอ่อนค่าทะลุแนวต้านสำคัญแถว 32 บาทต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ เรามองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย อาจใช้จังหวะเงินบาทอ่อนค่าลง ในการทยอยลดการถือเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (FX Reserves) ลงบ้าง เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้สหรัฐฯมองว่า ไทยมีการแทรกแซงค่าเงินในทิศทางเดียว นอกจากนี้ แรงทยอยขาย FX Reserves อาจพอช่วยไม่ให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าเร็วเกินไปจนผู้นำเข้าปรับกลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงไม่ทัน

 

ดังนั้นจากทิศทางค่าเงินบาทที่มีความผันผวนมากขึ้น จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะ การใช้ Options เพราะหากค่าเงินบาทเคลื่อนไหวสวนทางกับสิ่งที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ผู้ประกอบการเองก็ยังสามารถเลือกได้ว่าจะใช้สิทธิ์ของ Options หรือไม่ ทำให้ผู้ประกอบการมีความยืดหยุ่นในการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนมากกว่าการจอง Forward เพียงอย่างเดียว

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.95-32.10 บาท/ดอลลาร์