ออมสิน - ธ.ก.ส.เตือนข่าวปลอม เปิดเฟซบุ๊ก-ไลน์ ปล่อยกู้-สินเชื่อ

08 มิ.ย. 2564 | 02:00 น.
อัปเดตล่าสุด :08 มิ.ย. 2564 | 11:23 น.

อย่าหาทำ!ธนาคารออมสิน -ธ.ก.ส. เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวปลอม แจงธนาคารไม่มีนโยบายเปิดเฟซบุ๊กส่วนบุคคล -ไลน์ ปล่อยเงินกู้นอกระบบ รวมไปถึงการปล่อยสินเชื่อ

ตามที่ได้มีข้อความปรากฎในสื่อออนไลน์ต่างๆ ในประเด็นเรื่อง ธนาคารออมสิน เปิดเฟซบุ๊กส่วนบุคคล และไลน์ ปล่อยเงินกู้นอกระบบ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย ธนาคารออมสิน กระทรวงการคลัง พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

 

กรณีดังกล่าว เกิดจากผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อ 'สีจันทร์ สีจันทร์' เผยแพร่ภาพและข้อความให้บุคคลอื่นเข้าใจว่าเป็นธนาคารออมสิน โดยเปิดไลน์ชักชวนให้ใช้บริการเงินกู้นอกระบบ และส่งข้อมูลเชิญชวนเข้าไปในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ นั้น

 

ทางธนาคารออมสิน กระทรวงการคลัง ได้ตรวจสอบและชี้แจงว่า เฟซบุ๊ก และไลน์ 'สีจันทร์ สีจันทร์' ที่ปล่อยเงินกู้นอกระบบไม่ใช่เพจเฟซบุ๊ก ไลน์ ของธนาคารออมสิน และธนาคารไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าวใดๆ ทั้งสิ้น

 

โดยธนาคารขอย้ำว่าธนาคารให้บริการทางการเงินผ่านสาขาธนาคารออมสิน และให้บริการรูปแบบดิจิทัลทางแอปพลิเคชัน MyMoเท่านั้น 

 

และขอแจ้งเตือนประชาชนโปรดระมัดระวังอย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพที่แอบอ้างนำชื่อธนาคาร หรือโลโก้ หรือผลิตภัณฑ์ของธนาคารออมสิน มาติดต่อเชิญชวนประชาชนด้วยช่องทางอื่น เช่น LINE หรือแอปพลิเคชันอื่นๆ ที่ไม่ใช่ MyMo โปรดใช้ความระมัดระวังพิจารณาตรวจสอบจากธนาคารออมสินก่อนทุกครั้ง

 

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากธนาคารออมสิน สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ ธนาคารออมสิน  เฟซบุ๊ก GSB society หรือโทร 1115

 

ออมสิน เตือนอย่าหลงเชื่อข่าวปลอม เปิดเฟซบุ๊ก -ไลน์ปล่อยกู้นอกระบบ

เช่นเดียวกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ก็ออกมาเตือนประชาชนว่าอย่าแชร์ข่าวปลอม ที่แจ้งว่าธ.ก.ส. เปิดให้ลงทะเบียนสินเชื่อฉุกเฉินผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวพนักงาน

 

ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นเรื่อง ธนาคาร ธ.ก.ส. เปิดให้ลงทะเบียนสินเชื่อฉุกเฉินผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวพนักงาน ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กระทรวงการคลัง พบว่าข้อมูลดังกล่าว เป็นข้อมูลเท็จ

 

กรณีเฟซบุ๊ก ชื่อ sara.sourour ใช้โลโก้ธนาคาร และกล่าวถึงขั้นตอนการลงทะเบียนสินเชื่อฉุกเฉินผ่านทาง line fb sara.sourour ซึ่งเสนอเงินกู้ให้กับผู้ที่เดือดร้อนนั้น 

 

ทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ชี้แจงเรื่องดังกล่าวว่า ธ.ก.ส. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเฟซบุ๊กดังกล่าว ซึ่งเฟซบุ๊กของธนาคารมี “ธกส BAAC Thailand” และ “ธกสบริการด้วยใจ” เพื่อเป็นช่องทางในการสอบถามข้อมูล และรับข้อร้องเรียนของจากลูกค้า 

 

ส่วนการขอใช้บริการสินเชื่อกู้ภัยโควิด-19 สำหรับเกษตรกร ลูกจ้างภาคเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และเพื่อป้องกันการเป็นหนี้นอกระบบ วงเงินรวม 10,000 ล้าน อัตราดอกเบี้ย 0.35 ต่อเดือนปลอดชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก วงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 10,000 บาท ไม่ต้องใช้หลักประกัน ระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 3 ปี โดยแจ้งความประสงค์ทาง LINE Official BAAC Family จนถึง 31 ธันวาคม 2564

 

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กระทรวงการคลัง สามารถติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ของทางธนาคาร หรือโทร. 0-2555-0555

 

ธ.ก.ส. เตือนอย่าหลงเชื่อข่าวปลอม เปิดเฟซบุ๊กลงทะเบียนสินเชื่อฉุกเฉิน