ก.ล.ต. เชือดอดีตผู้บริหาร GGC กับพวก 11 ราย ทุจริตวัตถุดิบคงคลัง กว่า2พันล้าน

23 มี.ค. 2564 | 17:18 น.
695

ก.ล.ต. กล่าวโทษอดีตกรรมการและผู้บริหาร GGC กับพวก รวม 11 ราย ต่อ บก.ปอศ. กรณีกระทำทุจริตวัตถุดิบคงคลัง แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้ GGC ได้รับความเสียหาย มูลค่ารวม 2,157 ล้านบาท

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่าก.ล.ต. ได้กล่าวโทษอดีตกรรมการและผู้บริหาร บริษัท โกลบอลกรีน เคมีคอล จำกัด (มหาชน) (GGC) 2 ราย ได้แก่ นายจิรวัฒน์ นุริตานนท์ ขณะเกิดเหตุ ระหว่างปี 2557 - 2561 เป็นกรรมการผู้จัดการ และนายวัลลภ เทียนทอง ขณะเกิดเหตุเป็นผู้จัดการฝ่ายหน่วยงานการตลาด การขาย และจัดซื้อวัตถุดิบ กรณีเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทย่อยของบริษัทจดทะเบียนและในบริษัทจดทะเบียนไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต อันเป็นการทุจริตจนเป็นเหตุให้ GGC ได้รับความเสียหาย 

โดยได้กระทำผิดพร้อมพวก อีก 9 ราย ซึ่งเป็นผู้ขายวัตถุดิบ ได้แก่ บริษัท อนัตตา กรีน จำกัด, นายพลลภัตม์ ศรีวิศาลวงษ์, บริษัท อีสานพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์ม จำกัด, บริษัทยูนิตี้ ปาล์ม ออยล์ จำกัด, นายบรม เอ่งฉ้วน, บริษัท จีไอ กรีน ปาล์ม ออยล์ จำกัด, นางธนิภา พวงจำปา, บริษัท โอพีจีเทค จำกัด และนายเศรษฐ์ฐ พัฒนมาศ กรณีร่วมกันดำเนินการให้บริษัทซื้อวัตถุดิบและจ่ายชำระเงินค่าซื้อเต็มจำนวนให้แก่ผู้ขายโดยไม่ได้รับวัตถุดิบทั้งหมดหรือได้รับเพียงบางส่วน แต่กลับลงบันทึกในระบบบัญชีของบริษัทว่าได้รับวัตถุดิบครบถ้วนแล้ว รวมทั้งกรณีส่งมอบวัตถุดิบไปกลั่นโดยไม่ได้มีการกลั่นจริง อันทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย คิดเป็นมูลค่ารวม 2,157 ล้านบาท

การกระทำของอดีตกรรมการและผู้บริหาร GGC และพวกรวม 11 รายข้างต้น เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 281/2 วรรคสองประกอบ 89/24 มาตรา 89/7 มาตรา 307 มาตรา 311 มาตรา 312 มาตรา 313 มาตรา 315 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ประกอบมาตรา 83 มาตรา 86 และมาตรา 91 แห่งประมวลกฎหมายอาญา แล้วแต่กรณี  ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 11 ราย ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ยังได้แจ้งการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ข้างต้นต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้นภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรมตามลำดับ