ITEL โชว์กำไรปี 63 พุ่ง 184 ล้าน

25 ก.พ. 2564 | 12:20 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.พ. 2564 | 12:25 น.

ITEL โชว์ผลงานปี 63 ฟันรายได้ 2,058.89 ล้าน กำไร 183.73 ล้าน เติบโต 1.51% หลังเพิ่มสัดส่วนรายได้งานให้บริการรายเดือนแตะ 60% ของรายได้รวม มั่นใจปี 64 ทำรายได้แตะ 2,800 ล้าน จากการขยายฐานลูกค้าเก่าและใหม่ทั่วประเทศ เตรียมนำเสนอโซลูชันใหม่ภายใต้แนวคิด Internet of Things และ Big Data เพื่อใช้สนับสนุนการดำเนินธุรกิจ

นายณัฐนัย อนันตรัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ITEL เปิดเผยว่าผลการดำเนินงานของบริษัทฯในปี 2563 บริษัทฯ มีรายได้รวม 2,058.89 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิจากการดำเนินงานอยู่ที่ 183.73 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.51% จากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 181.00 ล้านบาท โดยได้รับปัจจัยหนุนจากงาน Data Service และงานติดตั้งโครงข่ายพื้นฐานโทรคมนาคม หรือ Installation  เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดการทำงานในรูปแบบ Work From Home  ส่งผลให้มีความต้องการใช้โครงข่ายเพิ่มสูงขึ้น ผู้ประกอบการหรือองค์กรต่างๆ มีความต้องการใช้โครงข่ายกันมากขึ้น 

 

อีกทั้งบริษัทฯ ยังสามารถรักษาฐานลูกค้าในปีก่อนไว้ได้เนื่องมาจากประสิทธิภาพของโครงข่ายและเสถียรภาพของการให้บริการที่เหนือกว่าคู่แข่งขันรายอื่นในตลาด ส่งผลให้รายได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

สำหรับรายได้จากการให้บริการโครงข่ายในปี 2563 อยู่ที่ 1,111.14 ล้านบาท เติบโตสูงขึ้นจากปีก่อนหน้า 30.90% จากปี 2562 มีรายได้ 848.86 ล้านบาท โดยในปีที่ผ่านมามีการเริ่มให้บริการงานโครงการอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกล(USO Phase 2) ขณะที่รายได้จากการให้บริการติดตั้งโครงข่ายในปี 2563 อยู่ที่ 823.97 ล้านบาท และเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้เข้าลงนามในสัญญางานจัดซื้อชุดวิทยุไมโครเวฟ แบบ IP และอุปกรณ์ประกอบระบบพร้อมติดตั้ง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มูลค่าโครงการรวม 78,831,425.00 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จากกรมการสื่อสารทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ซึ่งคาดว่าจะเริ่มทยอยรับรู้รายได้จากการให้บริการต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 2/2564 เป็นต้นไป 

 

อีกทั้งบริษัทฯ ยังสามารถทยอยส่งมอบงานโครงการต่างๆ ให้แก่ลูกค้าทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนได้ตามกำหนด ถือเป็นการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันบริษัทฯ มีมูลค่างานในมือ (Backlog) อยู่ที่ 3,688 ล้านบาท ส่วนหนึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ในปีนี้ ขณะที่รายได้จากการให้บริการดาต้า เซ็นเตอร์อยู่ที่ 85.42 ล้านบาท

 

ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติให้บริษัทดำเนินการแต่งตั้งบริษัทจัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาและผู้จัดการกองทรัสต์ในการดูแลและดำเนินการในธุรกรรมการขายศูนย์อินเตอร์ลิ้งค์ ดาต้า เซ็นเตอร์เข้ากองทรัสต์ เพื่อเป็นการใช้ประโยชน์จากเครื่องมือทางการเงิน ที่เจ้าของทรัพย์สินสามารถนำมาใช้จัดโครงสร้างระดมทุนให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยเป็นการเพิ่มมูลค่าของทรัพย์สินที่บริษัทได้สร้างขึ้นและมีลูกค้าเข้าใช้บริการแล้ว 100% ซึ่งที่ปรึกษาอยู่ระหว่างการจัดโครงสร้างการลงทุนที่เหมาะสม บริษัทคาดการณ์ว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3-4  ปี 2564 

พร้อมกันนี้ ยังมีมติอนุมัติการออกใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญใหม่ (ITEL-W3) โดยไม่คิดมูลค่า (Free Warrant) ให้แก่ผู้ถือหุ้นทุกรายจำนวนไม่เกิน 312.50 ล้านใบสำคัญแสดงสิทธิ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยทั้งหมดเป็นกลยุทธ์ที่จะรักษาประโยชน์ของผู้ถือหุ้น ขณะที่เตรียมความมั่นคงทางการเงินเพิ่มให้กับบริษัท ด้วยการถนอมเงินกองทุนส่วนผู้ถือหุ้นและหาหนทางที่จะปรับฐานการเงินของบริษัทให้แข็งแกร่ง เพื่อรองรับงานประมูลโครงการขนาดใหญ่ที่กำลังจะมีในปี 2564 นี้ โดย ITEL-W3 นี้จะมีราคาแปลงสิทธิที่ 3.30 บาทกำหนดใช้สิทธิในระยะเวลา 18 เดือน 

อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 บริษัทฯ ยังคงเสนองดจ่ายเงินปันผล เพื่อสำรองเงินสดไว้ใช้สำหรับการดำเนินธุรกิจ โดยจะนำเข้าพิจารณาในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 20 เมษายน 2564 และจากการจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัท ครั้งที่ 1/2564 ในรูปแบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-EGM) ผู้ถือหุ้นได้มีมติอนุมัติมีการแก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของบริษัท และการแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิ ข้อ 3. ของบริษัท จากเดิม 40 ข้อ เป็น 64 ข้อ เพื่อรองรับธุรกิจในอนาคตของบริษัท 

 

ITELได้ดำเนินการขับเคลื่อนองค์กรเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งในธุรกิจ อีกทั้งมุ่งขยายตลาดด้วยการเข้าร่วมเสนองานใหม่ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาครัฐที่ต้องเร่งเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมตามงบประมาณปี 2564 พร้อม ๆ กับการพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ ด้วยการนำเทคโนโลยีโครงข่าย มาเสริมให้การทำงานของโซลูชั่น “Smart Security Solution” ให้มีเสถียรภาพและมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งให้สอดคล้องกับเทรนด์ตลาดในยุคดิจิทัล ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาและวิสัยทัศน์ที่จะขับเคลื่อนการดำเนินงานด้วยความเข้าใจของลูกค้าเป็นหลัก (Customization)