SPIทุ่ม6พันล.ลุยธุรกิจใหม่ขยายเจพาร์ค

20 ก.พ. 2561 | 10:20 น.
945
“สหพัฒนาอินเตอร์ โฮลดิ้ง”เปิดแผน 3 ปี ทุ่ม 6,000 ล้านบาท ลงทุนธุรกิจใหม่-ขยายเจพาร์ค เฟส 2 พร้อมเข้าพัฒนาพื้นที่อีอีซี สู่ “EEC BUSINESSHUB” สร้างผลกำไรระยะยาว

นายวิชัย กุลสมภพ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (SPI) เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์การดำเนินงานในการขับเคลื่อนให้เครือสหพัฒน์ฯ มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องช่วง 3 ปีนับจากนี้ (2561-2563) ด้วยการใช้เงินลงทุนมากกว่า 6,000 ล้านบาท แบ่งเป็นกว่า 3,000 ล้านบาทในการสร้างธุรกิจใหม่ที่ยังไม่เคยมีมาก่อน 2-3 ธุรกิจ ซึ่งอาจจะเป็นธุรกิจใหม่ที่ดำเนินการขึ้นเอง การเข้าซื้อกิจการ หรือการร่วมทุน และตั้งเป้าให้มูลค่าทรัพย์สินของแต่ละธุรกิจมีมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท ต่อธุรกิจ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนโดยเน้นทำกำไรน้อยๆ แต่ต่อเนื่อง ภายใต้การดำเนินงานของเจเนอเรชัน 3 และ 4 ที่จะขับเคลื่อนธุรกิจให้เดินหน้าต่อไป

[caption id="attachment_260596" align="aligncenter" width="336"] วิชัย กุลสมภพ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (SPI) วิชัย กุลสมภพ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (SPI)[/caption]

“เราเป็นองค์กรที่มีฐานแข็งแกร่งมาก แต่ยังขาดอะไรที่ทันสมัยในการขับเคลื่อน ดังนั้นในฐานะคนรุ่นใหม่จะต้องนำอะไรที่ทันสมัยเข้ามาร่วมในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้เกิดผลประโยชน์จากฐานเดิมที่แข็งแกร่ง แต่ยังคงความระมัดระวังไม่ให้เอาเปรียบสังคมในการทำงาน”

ขณะที่งบประมาณอีก 2,000 ล้านบาท เป็นการลงทุนในส่วนของการขยายโครงการเจพาร์ค (JPARK) เฟส 2 โดยจะเริ่มดำเนินการก่อสร้าง 15-20 ไร่ จากพื้นที่โครงการเจพาร์ค ทั้งหมด 600 ไร่ (เฟสแรกใช้พื้นที่ไป 20 ไร่) ซึ่งจะเน้นขยายร้านอาหารมากขึ้น พร้อมกับลงทุนเจพาร์คในการขยายเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ร่วมกับโตคิว โรงพยาบาล และโรงเรียน โดยวางเป้าหมายให้เป็นคอมมิวนิตีที่มีครบทุกอย่างในแห่งเดียว ส่วนอีก 1,000 ล้านบาท เป็นงบประมาณการลงทุนประจำปีของบริษัท

นอกจากนี้พร้อมเข้าไปลงทุนพัฒนาเขตพื้นที่อุตสาหกรรมอีอีซี ให้เป็น “เขตส่งเสริมอุตสาหกรรม” ที่ประกอบไปด้วย โรงพยาบาล บริษัทประกัน ธุรกิจสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุน ตึกออฟฟิศเป็นต้น โดยพร้อมที่จะร่วมมือกับผู้ประกอบการเจ้าอื่นเข้าไปร่วมลงทุน เบื้องต้นอยู่ระหว่างการยื่นขออนุญาตจากสำนักงานอีอีซี โดยวางเป้าหมายให้เป็น EEC BUSINESS HUB

ทั้งนี้ภายหลังปรับโครงสร้างการถือหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารเมื่อช่วงปีที่ผ่านมา โดยการควบรวมโอนกิจการเพื่อเข้าซื้อหุ้นทั้ง 3 บริษัทในเครือ ได้แก่ บมจ.ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ (TF) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” เบอร์ 1 ของไทย, บมจ.เพรซิเดนท์ไรซ์โปรดักส์ (PR) ซึ่งผลิตข้าวต้มกึ่งสำเร็จรูปมาม่า และเส้นหมี่ขาว เส้นก๋วยเตี๋ยวมาม่าฯ ฯลฯ และบมจ.เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ (PB) ผู้ผลิต “ฟาร์มเฮ้าส์” เบเกอรี่เบอร์ 1 ของไทย ที่มีมูลค่าราว 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 9.2 หมื่นล้านบาท พบว่ากำไรของบริษัทเพิ่มขึ้น 50%

AW_Online-03 ขณะที่การลดต้นทุนนั้นคงต้องรอช่วงเดือนหน้าหลังจากที่มีการแถลงผลงานประจำปี “เดิมการถือหุ้นของสหพัฒน์ต้องมีที่มาที่ไป ไม่ค่อยเปลี่ยนมือการถือหุ้นมากนักโดยเน้นที่ความเหมาะสมเป็นหลัก แต่ในปัจจุบันสหพัฒน์เน้นการสนับสนุนแต่ละบริษัทในเครือ เพื่อทำให้แข็งแกร่งขึ้น เพื่อสร้างความชัดเจนของการถือหุ้นทั้งต่อผู้ถือหุ้นรายย่อย และผู้เล่นในตลาดให้สบายใจ”

นอกจากนี้บริษัทยังเดินหน้าปรับโครงสร้างธุรกิจในกลุ่มสิ่งทอและเครื่องสำอาง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารและสร้างมูลค่าเพิ่ม ต่อจากการปรับโครงสร้างธุรกิจอาหารในเครือสหพัฒน์ปีที่ผ่านมา

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,341 วันที่ 18 - 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว