thansettakij
รัฐ ดันกฎหมายเข้าสภาฯ เนรมิต "ท่าเรือคลองเตย" แข่งมารีน่าเบย์

รัฐ ดันกฎหมายเข้าสภาฯ เนรมิต "ท่าเรือคลองเตย" แข่งมารีน่าเบย์

27 มี.ค. 2568 | 21:30 น.

ครม.อนุมัติ ร่าง พ.ร.บ. ‘เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์’ จุลพันธ์ ชี้ดึงเงินลงทุนขั้นต่ำ 1 แสนล้านบาทต่อจุด ดึงดูดนักท่องเที่ยวเพิ่มเงินสะพัดต่อหัว 40%

KEY

POINTS

  • ครม.อนุมัติ ร่าง พ.ร.บ. ‘เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์’
  • จุลพันธ์ ชี้ดึงเงินลงทุนขั้นต่ำ 1 แสนล้านบาทต่อจุด ดึงดูดนักท่องเที่ยวเพิ่มเงินสะพัดต่อหัว 40% อัพเกรดท่องเที่ยวไทยเทียบ ดูไบ-ญี่ปุ่น
  • รับกำลังแก้เกณฑ์เงินฝาก 50 ล้านต่อราย
  • ด้าน ‘ท่าเรือคลองเตย’ เร่งผุด ‘คอมเพล็กซ์’ บนพื้นที่ 2.3 พันไร่ แข่งมารีน่าเบย์แซนด์สิงคโปร์

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของการจัดตั้งการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือ เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ (Entertainment Complex) ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2568 ที่ผ่านมาได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ของประเทศ โดยรัฐบาลตั้งเป้าเร่งเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรภายในเดือนเมษายนนี้

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมครม. เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2568 ว่า รัฐบาลจะเร่งเสนอร่างกฎหมายที่ผ่านการเห็นชอบจากครม. ไปยังสภาผู้แทนราษฎร เพื่อบรรจุเป็นเรื่องเร่งด่วนในวาระที่ 1 โดยรัฐบาลมองว่ามีเวลาเหลือเพียง 2 สัปดาห์ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 2-3 เมษายน และ 9-10 เมษายนนี้ จึงได้ประสานงานกับนางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม ในฐานะวิปของครม. เพื่อเจรจากับทางสภาให้เลื่อนระเบียบวาระให้เร็วขึ้น

“สิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่ามหาศาลจากการมีสถานบันเทิงครบวงจร ที่สำคัญคือไม่ใช่แค่เรื่องการทำกาสิโน แต่จะเป็นการสร้างสถานบันเทิงครบวงจร ที่เป็น Man-made Tourist Destination เป็นโมเดลทางธุรกิจขนาดใหญ่ เหมือน ดูไบ ญี่ปุ่น ซึ่งเรามองภาพประเทศไทยในอนาคตว่าจะมีสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นระดับโลกมากขึ้น” นายจุลพันธ์ กล่าว

ลงทุนขั้นต่ำ 1 แสนล้านต่อจุด-เพิ่มค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยว 40%

รมช.คลัง ยังเปิดเผยถึงผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการผลักดันสถานบันเทิงครบวงจรว่า รัฐบาลประเมินว่าโครงการนี้จะมีเงินลงทุนอย่างน้อย 1 แสนล้านบาทต่อจุด โดยเทียบเคียงกับสิงคโปร์ที่เมื่อ 20 ปีก่อน มีเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานกว่า 7,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2 แสนล้านบาท และในปีที่แล้ว สิงคโปร์ได้อนุมัติให้ต่ออายุสัญญา พร้อมกำหนดให้ลงทุนเพิ่มอีก 8,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2.8 แสนล้านบาท

“เงินลงทุน 1 แสนล้านบาทในประเทศไทยเกิดขึ้นได้ รวมไปถึงเงินจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ อีก ทั้งการจ้างงาน ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และการท่องเที่ยว”รมช.คลัง กล่าว

พร้อมระบุว่า เมื่อคำนวณตัวเลขจากโมเดลทางด้านเศรษฐกิจ พบว่า การมีสถานบันเทิงครบวงจรจะเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อีก 40% หรือจากเดิมที่มีการใช้จ่ายเฉลี่ย 40,000 บาทต่อคนต่อทริป เพิ่มเป็น 60,000 บาทต่อคนต่อทริป

จ่อปรับเกณฑ์เงินฝาก 50 ล้าน ใน กมธ.

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตจากการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายในประเด็นการกำหนดให้บุคคลสัญชาติไทยซึ่งจะเล่นพนันในกาสิโนต้องมีเงินฝากในบัญชีเงินฝากประจำไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท ต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่า 6 เดือน

ซึ่งที่ผ่านมามีการระบุว่า เงื่อนไขนี้ขัดกับวัตถุประสงค์ของการแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมาย เพราะจะมีคนไทยที่มีบัญชีเงินฝากเกิน 50 ล้านบาท เพียงแค่ 1 หมื่นบัญชีเท่านั้น และที่เหลืออาจมีความเสี่ยงหันไปเล่นการพนันที่ผิดกฎหมาย ซึ่งประเด็นนี้จะมีการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการต่อไป

นายจุลพันธ์ยังกล่าวถึงประเด็นที่มีผู้กังวลว่า กฎหมายจะทำให้คนไทยติดการพนันเพิ่มขึ้นว่า รัฐบาลเป็นรัฐบาลที่อยู่กับความเป็นจริง และมองข้อเท็จจริงว่าคนไทยจำนวนมากก็เล่นการพนันที่ประเทศเพื่อนบ้าน หรือเล่นพนันที่ผิดกฎหมาย

ดังนั้นกลไกนี้จึงเป็นการดึงคนเหล่านี้เข้ามาในระบบ และสามารถติดตาม กำกับ ช่วยเหลือดูแลคนกลุ่มนี้ต่อไป เปิดร่างกฎหมายกาสิโนไม่เกิน 10% ของพื้นที่

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ประกอบด้วย 7 หมวด 104 มาตรา โดยกำหนดกาสิโนจะต้องมีสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 10 ของที่ดินหรือพื้นที่ใช้สอยของอาคารอันเป็นที่ตั้งของสถานบันเทิงครบวงจร

ทั้งนี้ได้อนุญาตให้มีการพนันได้เฉพาะประเภทที่คณะกรรมการนโยบายฯ กำหนด รวมทั้งต้องจัดให้มีเขตบริเวณของสถานประกอบการกาสิโนที่แยกห่างจากสถานประกอบธุรกิจสถานบันเทิงอื่นอย่างชัดเจน และห้ามบุคคลที่อายุน้อยกว่า 20 ปี เข้ากาสิโน

นอกจากนี้ สถานบันเทิงครบวงจรจะต้องประกอบด้วยพื้นที่สำหรับส่งเสริมสินค้า บริการ และศิลปวัฒนธรรมไทย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของพื้นที่ทั้งหมดอีกด้วย

กทท.เร่งศึกษาแผนพัฒนาท่าเรือคลองเตย 2.3 พันไร่

ความเคลื่อนไหวอีกด้านหนึ่ง หลังมีกระแสเชื่อมโยงว่าพื้นที่ “ท่าเรือกรุงเทพฯ” หรือ “ท่าเรือคลองเตย” อาจเป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายสำหรับการพัฒนาโครงการเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ โดยปัจจุบันการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) อยู่ระหว่างศึกษาทบทวนแผนพัฒนาท่าเรือคลองเตยบนพื้นที่ 2,353 ไร่

แหล่งข่าวจาก กทท. เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า กทท. มีแผนงานพัฒนาโครงการต่างๆ ในพื้นที่ท่าเรือคลองเตย เนื้อที่ 943 ไร่ และแผนพัฒนาพื้นที่ภายนอกเขตรั้วศุลกากรท่าเรือกรุงเทพเนื้อที่ 1,410 ไร่ แบ่งเป็น 3 โซน ดังนี้

โซน 1 พัฒนาพื้นที่ด้านการค้า (commercial zone) จะมีอาคารศูนย์ธุรกิจพาณิชยนาวี พื้นที่ 17 ไร่ ด้านข้างอาคารที่ทำการปัจจุบัน ภายในอาคารประกอบด้วย สำนักงาน ศูนย์ฝึกอบรม ศูนย์แสดงสินค้า นิทรรศการ ศูนย์การประชุม พื้นที่ค้าปลีกและธนาคาร

ด้านศูนย์โลจิสติกส์และกระจายสินค้า พื้นที่ 54 ไร่ ประกอบด้วย อาคารคลังสินค้าแนวสูงและแนวราบ สถานีพักรถบรรทุกสินค้า รวมถึงมีอาคารสำนักงาน 126 ไร่ (ไม่รวมตลาดคลองเตย) อยู่ในทำเลศักยภาพพัฒนากิจกรรมที่มีความหลากหลาย และสนับสนุนกิจการของท่าเรือและชุมชนโดยรอบ ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์กลางการค้าและพาณิชยกรรมนำเข้า-ส่งออก อาคารพาณิชย์ สำนักงาน สถาบันการเงิน ฯลฯ

ขณะเดียวกันยังมีศูนย์การประชุมและศูนย์การค้าธุรกิจทันสมัยครบวงจร พื้นที่ 15 ไร่ เช่น ศูนย์แสดงสินค้ากิจการท่าเรือ โดยนำที่ดินบริเวณโรงฟอกหนังกระทรวงกลาโหม 123 ไร่ พัฒนาสมาร์ทคอมมิวนิตี้ ก่อสร้างที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่รองรับชุมชนและหน่วยงานราชการต่าง ๆ

นอกจากนี้โซน 2 พัฒนาธุรกิจหลัก การให้บริการท่าเรือกรุงเทพ (core business zone) โดยปรับพื้นที่จากปัจจุบัน พื้นที่ 943 ไร่ เหลือ 534 ไร่ พัฒนาสถานีบรรจุสินค้าเพื่อส่งออกและบูรณาการพื้นที่หลังท่าเป็นคลังสินค้าขาเข้าเขตปลอดภาษี พื้นที่ปฏิบัติการสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าต่างๆ เช่น คลังสินค้าห้องเย็น ฮาลาล ลานบริหารจัดการรถบรรทุก และจุดบริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ

ส่วนท่าเทียบเรือตู้สินค้าบริเวณเขื่อนตะวันตกติดคลองพระโขนง จะพัฒนาเป็นท่าเทียบเรือแห่งใหม่ลานกองเก็บตู้สินค้าและอาคารสำนักงาน ปรับปรุงท่าเทียบเรือตู้สินค้าฝั่งตะวันออกให้ทันสมัยรองรับเรือลำเลียงชายฝั่ง

รวมถึงยังมีโครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือและทางด่วนสายบางนา-อาจณรงค์ เป็นการระบายรถบรรทุกขาออกที่มุ่งหน้าไปยังบางนา-ตราดและขาเข้ามายังท่าเรือกรุงเทพ

ด้านโซน 3 พื้นที่พัฒนาเมืองท่าเรือกรุงเทพ (Bangkok modern city) อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา เน้นการพัฒนาเมืองธุรกิจขนาดใหญ่ที่เป็นแลนด์มาร์กของประเทศ ศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวใหม่เชื่อมโยงการท่องเที่ยวทางน้ำตลอดจนเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์สาธารณะ รวมถึงพัฒนาอาคารมิกซ์ยูสครบวงจร ช้อปปิ้งมอลล์ ที่จอดรถและโรงแรม

ปลุกชุมชนใหม่ 1.35 หมื่นครัวเรือน

นอกจากนี้กทท.ยังมีแผนพัฒนาโครงการพื้นที่พักอาศัยเพื่อชุมชนในแนวสูงของชุมชนคลองเตย (Smart Community) อยู่ในบริเวณองค์การฟอกหนังเดิมถนนริมทางรถไฟสายเก่ามีพื้นที่ 58 ไร่ เป็นอาคารสูง 25 ชั้น 4 อาคารๆ ละ 1,536 ยูนิต รวม 6,144 ยูนิต ขนาด 33 ตรม/ห้อง มีอาคารจอดรถส่วนกลาง และพื้นที่สีเขียว 40%

รัฐ ดันกฎหมายเข้าสภาฯ เนรมิต \"ท่าเรือคลองเตย\" แข่งมารีน่าเบย์ อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจาก กทท. เปิดเผยว่า พื้นที่ท่าเรือคลองเตยมีศักยภาพเหมาะแก่การพัฒนาเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ได้ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวทางกายภาพถือเป็นจุดไข่แดงถูกล้อมรอบด้วยตัวเมืองอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีแหล่งท่องเที่ยวบริเวณใกล้เคียงมาก ซึ่งขึ้นอยู่กับผลการศึกษาว่าสามารถรองรับเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวได้หรือไม่

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่าหากรัฐบาลสามารถผลักดันการจัดตั้งเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ได้สำเร็จ จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวระดับฟรีเมียมเข้ามาในประเทศไทย รวมทั้งจะเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับนักท่องเที่ยวทั้งทางธุรกิจและการพักผ่อน เหมือนกับสิงคโปร์ที่มีการลงทุนก่อสร้างมารีน่าเบย์แซนด์สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วภูมิภาค และได้รับประโยชน์จากข้อได้เปรียบเชิงกลยุทธ์นี้อย่างมาก ซึ่งการพัฒนาท่าเรือคลองเตยของไทยก็มีเป้าหมายเช่นเดียวกับกรณีสิงคโปร์ที่ก่อสร้างมารีน่าเบย์แซนด์