รื้อแผน “ท่าเรือคลองเตย” แก้พ.ร.บ.ใหม่ รุก “เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์”

12 ก.พ. 2568 | 08:47 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.พ. 2568 | 08:57 น.
2.5 k

จับตา “กทท.” รื้อแผนพัฒนา“ท่าเรือคลองเตย” กว่า 2.3 พันไร่ มูลค่า 1 แสนล้านบาท คาดศึกษาจบภายใน 6 เดือน รับเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เบรกกระแสแก้พ.ร.บ.การท่าเรือฯฉบับใหม่ เอื้อสถานบันเทิงครบวงจร

KEY

POINTS

  • จับตา “กทท.” รื้อแผนพัฒนา“ท่าเรือคลองเตย” กว่า 2.3 พันไร่ มูลค่า 1 แสนล้านบาท คาดศึกษาจบภายใน 6 เดือน รับเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์
  • เบรกกระแสแก้พ.ร.บ.การท่าเรือฯฉบับใหม่ เอื้อสถานบันเทิงครบวงจร  

การท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.) ปัจจุบันมีแผนทบทวนพัฒนาท่าเรือคลองเตย รวมพื้นที่ 2,353 ไร่ ที่มีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท เพื่อยกระดับการพัฒนาท่าเรือสีเขียวและกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ทำให้เป็นที่จับตาว่าการพัฒนาท่าเรือคลองเตยในครั้งนี้เป็นการผลักดันเพื่อรองรับนโยบายรัฐบาลในเรื่อง “เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์”

สำหรับแผนพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ (ท่าเรือคลองเตย) แหล่งข่าวจากกทท. เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เบื้องต้นกทท. มีแผนงานพัฒนาโครงการต่างๆ ในพื้นที่ดังกล่าว เนื้อที่ 943 ไร่ และแผนพัฒนาพื้นที่ภายนอกเขตรั้วศุลกากรท่าเรือกรุงเทพเนื้อที่ 1,410 ไร่

ในปัจจุบันอยู่ระหว่างคณะอนุกรรมการทั้ง 4 ชุด ที่เกี่ยวข้อง รวบรวมความคิดเห็นก่อนศึกษาแผนพัฒนาท่าเรือคลองเตย คาดว่าจะเริ่มศึกษาแผนฯได้ภายใน 1-2 เดือนนี้ ใช้ระยะเวลาในการศึกษาประมาณ 6 เดือน

ก่อนเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์พื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป

สำหรับแผนพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ (ท่าเรือคลองเตย) ในปี 2562 นั้นยังไม่ครอบคลุมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เช่น พื้นที่ศูนย์การแพทย์ พื้นที่การท่องเที่ยว ฯลฯ ทำให้กทท.มีแผนทบทวนผลการศึกษานี้ให้สอดคล้องต่อการพัฒนาพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมการศึกษารูปแบบด้านการลงทุนทั้งการเช่าพื้นที่หรือการให้เอกชนร่วมลงุทนกับภาครัฐ (PPP)

“พื้นที่ท่าเรือคลองเตยมีศักยภาพเหมาะแก่การพัฒนาเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ได้ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวทางกายภาพถือเป็นจุดไข่แดงถูกล้อมรอบด้วยตัวเมืองอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีแหล่งท่องเที่ยวบริเวณใกล้เคียงมาก ซึ่งขึ้นอยู่กับผลการศึกษาว่าสามารถรองรับเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวได้หรือไม่” รายงานข่าวจากกทท. กล่าว

ส่วนกรณีที่กทท.มีการแก้ไขร่างพ.ร.บ.การท่าเรือฯ ฉบับใหม่ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบสอดรับกับเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์หรือไม่นั้น การแก้ไขร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นคนละประเด็นกับเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เพียงแต่เป็นช่วงเวลาที่มีกระแสเดียวกันจึงเป็นประเด็น

ที่ผ่านมากทท.มีการปรับปรุงพ.ร.บ.การท่าเรือฯ กว่า 4 ปีแล้ว โดยมีแผนจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีการสอบถามว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องคืออะไร โดยกทท.ให้เหตุผลว่าเป็นธุรกิจท่าเรือที่มีความเกี่ยวข้องกัน แต่คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่าเรื่องดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกัน ทำให้เป็นเหตุผลที่ทำให้กทท.มีการปรับแก้พ.ร.บ.การท่าเรือฯฉบับใหม่

แหล่งข่าวจากบริษัทเอเวอร์กรีน คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า กรณีที่รัฐบาลมีนโยบายดันสถานบันเทิงครบวงจร (เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์) นั้น ปัจจุบันบริษัทมุ่งเน้นการขนส่งตู้สินค้าในเขตท่าเรือแหลมฉบัง มองว่านโยบายนี้ต้องพิจารณาว่าจะได้รับความสนใจจากภาคเอกชนมากน้อยแค่ไหน

“ศักยภาพของท่าเรือคลองเตยที่สามารถผลักดันเป็นนโยบายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ได้หรือนั้น มองว่าหากจะพัฒนาพื้นที่สามารถทำได้ด้วยศักยภาพของพื้นที่และกายภาพต่างๆของท่าเรือคลองเตยเป็นพื้นที่ที่เหมาะสม ปัจจุบันท่าเรือคลองเตยมีความสามารถในการรองรับตู้สินค้าเพียงพออยู่แล้ว หากมีการขยายพื้นที่อาจส่งผลให้การจราจรติดขัดได้ เชื่อว่าหลายภาคส่วนยังมีความกังวลถึงนโยบายนี้ที่อาจจะสอดรับกับแหล่งอบายมุข” แหล่งข่าวจากบริษัทเอเวอร์กรีนฯ กล่าว

นอกจากนี้กทท.ยังมีแผนพัฒนาโครงการพื้นที่พักอาศัยเพื่อชุมชนในแนวสูงของชุมชนคลองเตย (Smart Community) โดยกทท. ได้ให้ความสำคัญในการการพัฒนาท่าเรือในเขตเมืองควบคู่กับชุมชนที่อยู่ในเขตพื้นที่ของ กทท.

เบื้องต้นพบว่า ในปัจจุบันมีชุมชนโดยรอบท่าเรือ รวม 26 ชุมชนและใต้ทางด่วนอีก 5 ชุมชน ประมาณ 13,000 ครัวเรือน และหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษาในพื้นที่ไปพร้อมกับการพัฒนาโครงการต่างๆ ของ กทท. บนพื้นที่ 520 ไร่เศษ

 อย่างไรก็ตามในปัจจุบันผลการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่อยู่อาศัยแนวสูงและศูนย์ฝึกอาชีพของชุมชนคลองเตย (Smart Community) ผ่านการออกแบบ Detail Design เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้ กทท. ได้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เสนอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ที่อยู่ระหว่างการพิจารณา  
 
สำหรับแผนพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย (Smart Community) นั้นอยู่ในบริเวณองค์การฟอกหนังเดิมถนนริมทางรถไฟสายเก่ามีพื้นที่ 58 ไร่ เป็นอาคารสูง 25 ชั้น 4 อาคารๆ ละ 1,536 ยูนิต รวม 6,144 ยูนิต ขนาด 33 ตรม/ห้อง มีอาคารจอดรถส่วนกลาง และพื้นที่สีเขียว 40%
 
ทั้งนี้เงื่อนไขผู้อาศัยเบื้องตัน ผู้ที่มีสิทธิ์ใน 3 ทางเลือกต้องอยู่ใน 26 ชุมชนประมาณ 13,000 ครัวเรือน และใต้ทางด่วน 5 ชุมชนประมาณ 500 ครัวเรือน

รื้อแผน “ท่าเรือคลองเตย” แก้พ.ร.บ.ใหม่ รุก “เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์”

จากการสำรวจสำมะโนประชากร ข้อมูลเบื้องต้น กทท. กำหนดสิทธิประโยชน์ใน 3 ทางเลือก คือ 1.ที่พักอาศัยอาคารสูง: Smart Community 2.ที่ดินเปล่าขนาด 19.5 ตารางวา ต่อครัวเรือน ย่านหนองจอก มีนบุรี จำกัดจำนวน 2,140 แปลงซึ่งสามารถปลูกบ้านเป็นของตัวเองได้ 3. กลับภูมิลำเนาโดยให้เงินทุนเพื่อนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิต

เมกะโปรเจ็กต์ หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,070 วันที่ 13 - 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568