โดยหลังวันที่ 24 กันยายน 2569 ตามพระราชบัญญัติกองทุนนํ้ามันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ในบทเฉพาะกาลมาตรา 55 ห้ามรัฐอุ้มราคาไบโอดีเซล B5 หรือ B7 คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ 1 ใน 3 ของปาล์มทั้งประเทศจะต้องนำไปทำอย่างอื่น เนื่องจากในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาราคาปาล์มกระโดดขึ้นไปจนเกินเนื้อนํ้ามันดีเซลไปแล้ว
“ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ประธานคณะกรรมการเพื่อยกร่างกฎหมายส่งเสริมปาล์มนํ้ามัน กระทรวงพลังงาน และประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ถึงผลสำเร็จการร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน และความเป็นไปได้ในการตั้ง “กรมอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน” โดยใช้อุตสาหกรรมนำการเกษตร เลียนโมเดลอ้อย เพื่อแก้ปัญหาปาล์มน้ำมันแบบเบ็ดเสร็จ จบในกระทรวงเดียว
ถอดโมเดลอ้อย ตั้งกรมใหม่บริหาร
นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า ได้ศึกษาในหลายร่างพระราชบัญญัติปาล์มนํ้ามัน พ.ศ. .... ไม่ตํ่ากว่า 5 ร่างฯ รวมถึงงานวิจัยของปาล์มนํ้ามัน ซึ่งจากการพิจารณาทำให้เห็นเลยว่า ทำไมตอนเริ่มต้น ตั้งใจเป็นอีกอย่าง แต่ตอนจบกลายเป็นอีกอย่าง จึงทำให้พระราชบัญญัติไม่สามารถออกมาเป็นกฎหมายได้ ซึ่งทาง 2 รัฐมนตรีทั้งกระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรม ก็มีความเป็นกังวลว่าถ้ารัฐบาลไม่อุดหนุนเกษตรกรที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจะทำอย่างไร
“ผมอยู่ทั้งสองขา ก็คือ ทั้งขาอุตสาหกรรมและพลังงาน ได้เสนอแนวความคิดที่จัดการบริหารแบบโมเดลอ้อย ซึ่งเป็นพืชชนิดเดียวที่เป็น “อุตสาหกรรมนำการเกษตร” ได้มีการตั้งสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและนํ้าตาลทราย อยู่ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม จะมีระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ชาวไร่ 70 และโรงงาน 30 รวมถึงมีมาตรฐานคุณภาพนํ้าตาล และโรงงานต่าง ๆ จะถูกจัดระเบียบอัตราส่วนว่าใครจะรับอ้อยได้เท่าไร และต้องใช้มาตรฐานที่ตกลงร่วมกัน เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าตัวนํ้าตาลทุกบาทที่ปรับราคาขึ้น เกษตรกรจะได้รับประโยชน์โดยตรง
สำหรับจุดอ่อนที่เห็นได้ชัดในตัวกฎหมายร่างฯ ของ พ.ร.บ.ปาล์มนํ้ามันและนํ้ามันปาล์ม จะเป็นการตั้งคณะกรรมการระดับชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการ แต่วิธีการแบบนี้ประชุมกันนาน ๆ ครั้ง และไม่มีใครเกาะติดจนจบ ซึ่งการเปลี่ยนมาใช้โมเดลอ้อยก็คือ จะให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นั่งเป็นประธาน และคณะกรรมการก็เป็นกรมที่เกี่ยวข้องในกระทรวง เช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม จะดูโดยตรง เนื่องจากปัจจุบันมาตรฐานของปาล์มก็ออกโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น ซึ่งการทำงานจะจบในกระทรวงแบบเบ็ดเสร็จ แล้วเพิ่มกรมใหม่อีก 1 กรม ก็คือ “กรมอุตสาหกรรมปาล์มนํ้ามัน” ให้มีลักษณะคล้ายสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและนํ้าตาลทราย (สอน.) ดูแลเกษตรกรและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One-Stop Service) ให้ครบทั้งห่วงโซ่
เริ่มตั้งแต่ เกษตรกรที่เป็นต้นนํ้า คือการปลูกได้ผลผลิตผลทะลายปาล์ม กลางนํ้าคือการสกัดได้ผลผลิตคือนํ้ามันปาล์มดิบ และเมล็ดในปาล์ม โดยเมล็ดในปาล์มจะถูกนำไปสกัดให้ได้นํ้ามันเมล็ดในปาล์มดิบสำหรับปลายนํ้าก็คือการนำนํ้ามันปาล์มดิบไปกลั่นได้ผลผลิตเป็นนํ้ามันบริสุทธิ์ได้แก่ นํ้ามันปาล์มบริสุทธิ์ และนํ้ามันปาล์มบริสุทธ์จะได้กรดนํ้ามันปาล์ม และนํ้ามันเมล็ดในปาล์มบริสุทธิ์และกรดนํ้ามันเมล็ดในปาล์มตามลำดับ เมื่อกลั่นในระดับต่อไปจะได้โอเลอิน,สเตียริน,โอเลอินนํ้ามันเมล็ดในปาล์มและสเตียรินนํ้ามันเมล็ดในปาล์ม เพื่อเป็นสารตั้งต้นสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร, อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ และอุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอล
เล็งตั้งนิคมปาล์มภาคใต้
ต่อคำถามที่ว่า ภาคใต้ปลูกปาล์มจำนวนมาก แต่ทำไมต้องขนปาล์มไปที่นิคมอุตสาหกรรมมาตาบพุด จังหวัดระยอง ก็เพราะไม่มีอุตสาหกรรมโอเลอิน จึงเกิดตั้งคำถามว่าทำไมไม่สามารถตั้งโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในภาคใต้ได้ เพื่อทำให้ธุรกิจต่อเนื่องสามารถจบในซัพพลายเชนได้เลย วิธีการนี้จะคิดได้ก็ต้องมีเจ้าภาพ เพราะฉะนั้นกรมอุตสาหกรรมปาล์มนํ้ามัน ที่จะตั้งขึ้นต้องทำหน้าที่นี้ ไม่เช่นนั้นหลังวันที่ 24 กันยายน 2569 จะลำบาก ต้องเตรียมการล่วงหน้าอย่างน้อยเป็นปี แล้วถ้าถึงวันนั้นทำสำเร็จจะสอดรับกับเวลาพอดี
สำหรับร่างกฎหมายนี้ได้เขียนผ่านไปหลายมาตราแล้ว คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 4 เดือน โดยทุกฝ่ายเห็นด้วยที่จะให้มีกรมน้องใหม่แจ้งเกิด เพื่อให้มีการขับเคลื่อนปาล์มให้ครบวงจรสำหรับกฎหมายปาล์มจะดีกว่ากฎหมายอ้อย เพราะบางส่วนในกฎหมายอ้อยใช้อำนาจภายใต้กฎหมายกรมโรงงานอุตสาหกรรมมาปน แต่กฎหมายนี้จะแยกสัดส่วนให้เด็ดขาดออกจากกัน โดยจะใช้ประสบการณ์จากการที่เคยร่างกฎหมายที่ได้รับผิดชอบมาแล้ว อาทิ พ.ร.บ.สุรารวมไทย, พ.ร.บ.โซลาร์ฯ, พรบ.เครดิตบูโร และ พ.ร.บ.จัดกากอุตสาหกรรมฯ เพื่อจะนำมาถอดบทเรียน ใน พ.ร.บ.ส่งเสริมอุตสาหกรรมปาล์มนํ้ามัน และจะเป็นพืชตัวที่สองในอุตสาหกรรมนำการเกษตร แล้วจะเดินไปสู่เกษตรชีวภาพ แล้วถ้าสำเร็จภาคใต้จะมีนิคมใหม่ของปาล์มรองรับด้วย
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศราฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,070 วันที่ 13 - 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568