“ฐานเศรษฐกิจ” ยังติดตาม โครงสร้างราคาปาล์มนํ้ามันและนํ้ามันปาล์ม ของประเทศ ที่ยังเป็นประเด็นร้อนต่อเนื่อง โดยเฉพาะ “เมล็ดในปาล์ม” ที่เป็นแก่นอยู่ในสุดของผลปาล์ม มีลักษณะเป็นเมล็ดสีขาวขุ่น ค่อนข้างแข็ง ซึ่งเป็นส่วนที่พบได้เมื่อผ่านกระบวนการหีบแยกของแข็งออกจากของเหลวที่ได้คือนํ้ามันปาล์ม ที่ต้องผ่านกระบวน การกรองแยกต่อไป ทั้งนี้ของแข็งที่ได้จากการผ่านกระบวนการหีบจะได้ออกมาเป็นเมล็ดปาล์ม (Palm Nut) เมื่อนำไปผ่านกระบวนการขัดและกะเทาะเปลือกเมล็ดปาล์มด้านนอกออก จะพบเมล็ดในปาล์ม (PK) ที่ยังสามารถนำไปสกัดเป็นนํ้ามันเมล็ดในปาล์มต่อไปได้
โดยบริษัทผู้ค้าได้จำหน่ายเมล็ดในปาล์มให้กับลูกค้ากลุ่มโรงสกัดนํ้ามันเมล็ดในปาล์ม และโรงสกัดนํ้ามันปาล์มที่มีการสกัดเมล็ดในปาล์ม และกลุ่มเทรดเดอร์เพื่อนำไปเข้าสู่กระบวนการสกัดนํ้ามันเมล็ดในปาล์มอีกครั้งและพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง อุตสาหกรรมเบเกอรี่ เป็นต้น ปัจจุบันราคาเฉลี่ยเมล็ดในปาล์ม ณ วันที่ 3 ธันวาคม 2567 อยู่ที่ 58 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) ทั้งนี้ผลผลิตไม่เพียงพอต่อภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ต้องนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน
นายอธิราษฎร์ ดำดี นายกสมาคมชาวสวนปาล์มนํ้ามันกระบี่ และอดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายปาล์มนํ้ามันแห่งชาติ (กนป.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากไทยยังมีปัญหาเรื่องโครงสร้างราคาปาล์มนํ้ามันที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งผลการศึกษารอบล่าสุดในครั้งที่ 3 จะดำเนินการในรูปแบบใด ยังไม่มีใครได้เห็นตัวจริง แต่ล่าสุดได้มีการล็อบบี้ให้กลุ่มเกษตรกรยอมรับส่วนแบ่งรายได้เมล็ดในปาล์มที่ 10% โดยแจ้งว่าให้เกษตรกรรับไปก่อน จากนั้นค่อยปรับแก้ไข ซึ่งเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้
“ปัจจุบันส่วนต่างๆ ของผลปาล์ม นอกจากนํ้ามันปาล์ม ที่สามารถทำรายได้ให้กับผู้ประกอบการ แล้วยังมีไขปาล์ม เมล็ดในปาล์ม นํ้ามันในเมล็ดปาล์ม กะลา เป็นต้น โดยเฉพาะเมล็ดในปาล์ม มีมูลค่าตลาดประมาณหมื่นล้านบาท เป็นสินค้าที่เกี่ยวเนื่องและเป็นผลพลอยได้จากการผลิต ดังนั้นจึงควรนำมาปรับเพิ่มเป็นรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนปาล์มด้วย ถึงจะเป็นธรรม ซึ่งควรจะแบ่งผลประโยชน์ให้เกษตรกรกับโรงงาน สัดส่วน 50 : 50 ถึงจะถูกต้อง ไม่ใช่ให้เกษตรกรแค่ 10%”
นายพันศักดิ์ จิตรรัตน์ กรรมการในคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสมดุลนํ้ามันปาล์ม ใน กนป. กล่าวว่าเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กรมการค้าภายใน ได้จัดประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสมดุลนํ้ามันปาล์ม ตนได้ให้ความเห็นในที่ประชุมในเรื่อง “โครงสร้างราคาปาล์มนํ้ามัน” ที่จะให้รับเงื่อนไขจากฝ่ายหนึ่ง มาเสนอตีกรอบอีกฝ่ายหนึ่ง(เกษตรกร) มองว่าเป็นการเข้าข่ายการล็อบบี้มิใช่วิจัย ซึ่งควรจะพิจารณาจากข้อมูลความเป็นจริง เพราะเกษตรกรไม่ใช่หนูทดลอง
“ปัจจุบันรัฐบาลอนุญาตให้นำเข้าเมล็ดปาล์ม และเนื้อในเมล็ดปาล์มจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย เพื่อใช้เป็นส่วนผสมในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น เคมีภัณฑ์ โอเลโอเคมิคอล เพราะนํ้ามันชนิดนี้เป็นนํ้ามันปาล์มที่มีความบริสุทธิ์มากไม่ต้องกลั่น ดังนั้นราคานํ้ามันชนิดนี้จึงมีราคาสูงกว่านํ้ามันปาล์มดิบ ในอดีตเฉลี่ยแตกต่างกันกิโลกรัมละกว่า 10 บาท แต่ปัจจุบันราคาห่างกันมาก เฉลี่ย 15-16 บาท เช่น ราคานํ้ามันเมล็ดในปาล์มดิบกิโลกรัมละ 57.75-58.25 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคานํ้ามันปาล์มดิบกิโลกรัมละ 41.5-42 บาท เป็นต้น”
แหล่งข่าวจากวงการค้านํ้ามันปาล์ม กล่าวว่า จากผลปาล์มนํ้ามัน เปอร์เซ็นต์นํ้ามัน 18% ปัจจุบันอยู่ที่ 7.7-8 บาทต่อ กก.ราคานํ้ามันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) อยู่ที่ 41.5-42 บาท ต่อ กก. จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตนํ้ามันปาล์มขวดขนาด 1 ลิตรที่วางขายตามชั้นวางสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต หรือร้านสะดวกซื้อ ราคาต้องไม่ตํ่ากว่า 55 บาทขึ้นไป แต่ปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์สั่งให้ตรึงราคาขายไม่เกินขวดละ 50 บาท ซึ่งเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด โดยรับปากว่าจะหาทางออกให้
“วันนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุปออกมาจากภาครัฐว่าจะทำอย่างไร ดังนั้นเมื่อผลิตในต้นทุนและราคาขายดังกล่าวไม่ได้ ทุกคนก็เอาตัวรอด เพราะยิ่งผลิตก็ยิ่งขาดทุน ปัจจุบันสต๊อกนํ้ามันปาล์มดิบของประเทศอยู่ที่ 2.3 -2.4 แสนตัน ถือว่ามีความสมดุลของผลผลิตกับความต้องการ ขณะที่ราคานํ้ามันปาล์มดิบในตลาดโลก เฉลี่ยใกล้เคียงกับราคาในประเทศที่ 41 บาทต่อกิโลกรัม ถือเป็นจังหวะดีที่ราคาสูงทั่วโลก ซึ่งราคาแบบนี้ สามารถส่งออกได้ หากอาศัยจังหวะค่าเงินบาทอ่อนค่าช่วย แต่รัฐจะไปบิดเบือนกลไกตลาด ห้ามขึ้นราคานํ้ามันปาล์มขวด ห้ามส่งออก นํ้ามันปาล์มดิบ ตรงนี้เป็นปัญหาที่จะต้องรีบแก้ไข เพราะเวลานี้ในร้านสะดวกซื้อ และในซูเปอร์มาร์เก็ต นํ้ามันปาล์มขวดหลายยี่ห้อไม่มีวางจำหน่ายมาร่วมเดือนแล้ว เพราะยิ่งผลิตก็ยิ่งขาดทุน”
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศราฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,051 วันที่ 8 - 11 ธันวาคม พ.ศ. 2567