วันนี้ ( 29 พฤศจิกายน 2567 ) นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสมดุลน้ำมันปาล์ม ภายใต้คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะอนุฯ ได้ติดตามสถานการณ์ด้านการผลิตและความต้องการใช้น้ำมันปาล์มทุกสัปดาห์ โดยล่าสุดได้มอบหมาย นางสาวญาณี ศรีมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน ประชุมร่วมกับผู้แทนเกษตรกร ภาคเอกชน ภาครัฐ ทั้งหน่วยงานกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพลังงาน และกรมศุลกากร
ทั้งนี้ เพื่อประเมินความต้องการใช้น้ำมันปาล์ม ภายหลังกระทรวงพลังงานมีการปรับสัดส่วนการผสมน้ำมันดีเซลจาก B7 เป็น B5 เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พบว่า ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบ (CPO) จากกลุ่มไบโอดีเซลลดลง นอกจากนี้การใช้น้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภคมีแนวโน้มลดลง จะส่งผลให้สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศมีเพิ่มมากขึ้น
ขณะที่ การส่งออกยังชะลอตัวจากราคาน้ำมันปาล์มดิบที่ปรับสูงขึ้นและการบริโภคในประเทศที่มีแนวโน้มปรับลดลง ส่งผลให้คาดว่า ปริมาณน้ำมันมันปาล์มดิบคงเหลือ ณ เดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ 0.237 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากประมาณการเมื่อสัปดาห์ก่อน โดยขณะนี้ ราคาน้ำมันปาล์มดิบ อยู่ที่ 41.75 บาท/กก.
โดยมีปัจจัยสำคัญจากปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลก โดยเฉพาะมาเลเซียที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องในสัปดาห์นี้ และประเทศผู้นำเข้าอย่างจีนเริ่มชะลอการนำเข้าน้ำมันปาล์ม ส่งผลให้ราคาปาล์มน้ำมันในประเทศ มีแนวโน้มลดลงตามสถานการณ์ต่างประเทศ อยู่ที่ 7.55 บาท/กก. จากเดิม 7.70 บาท/กก.
ด้านการผลิต สศก. ได้คาดการณ์ว่าในเดือนธันวาคม 2567 ผลผลิตปาล์มน้ำมัน 1.007 ล้านตัน ใกล้เคียงกับเดือนพฤศจิกายน อยู่ในระดับต่ำที่สุดของปี แต่คาดว่าในปี 2568 ผลผลิตจะทยอยออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมกราคม อยู่ที่ 1.235 ล้านตัน กุมภาพันธ์ อยู่ที่ 1.395 ล้านตัน และมีนาคม อยู่ที่ 1.816 ล้านตัน จะส่งผลให้สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน ด้วยเหตุนี้คณะอนุกรรมการฯ เห็นพ้องกันว่า การดูดซับปริมาณน้ำมันดิบในภาคพลังงานและการส่งออก ยังคงเป็นเหตุสำคัญในการบริหารสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ
อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการฯ จะได้ติดตามสถานการณ์ปาล์มน้ำมันในประเทศและต่างประเทศอย่างใกล้ชิดทุกสัปดาห์เพื่อพิจารณาแนวทาง ละข้อเสนอการบริหารจัดการที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคอย่างเหมาะสมต่อไป
นายวิทยากรฯ ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สายตรวจเฉพาะกิจ กรมการค้าภายใน ร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัด และ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ กำกับดูแลการรับซื้อผลปาล์มของเกษตรกรให้ได้รับความเป็นธรรม เหมาะสมสอดคล้องตามคุณภาพของทะลายปาล์มน้ำมัน โดยโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มต้องคัดแยกทะลายปาล์มดิบหรือไม่ได้คุณภาพอย่างเคร่งครัด รวมทั้งพี่น้องเกษตรกรต้องตัดปาล์มสุก เพื่อให้ได้เปอร์เซ็นต์น้ำมันที่ดี ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและเป็นผลดีต่อราคาที่เกษตรกรได้รับด้วย